สวรส.ระดมนักวิจัยด้านการแพทย์จีโนมิกส์ มุ่งป้องกันและรักษาโรคสำคัญ ด้วยรหัสพันธุกรรมคนไทย: อีกก้าวกระโดดของระบบสาธารณสุขไทย

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และเครือข่ายวิจัยภายใต้แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย จัดประชุมพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยและระดมความคิดเห็นจากนักวิจัยในเครือข่าย เพื่อร่วมพัฒนาข้อเสนองานวิจัยที่นำไปสู่การพัฒนาระบบบริการการแพทย์และสาธารณสุขระดับประเทศ ด้วยการใช้เทคโนโลยีถอดรหัสพันธุกรรม ร่วมกับ การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง เพื่อป้องกันและวินิจฉัยโรคให้มีความแม่นยำยิ่งขึ้น เพิ่มโอกาสในการรักษาให้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงในการแพ้ยา ใช้ยาให้สมเหตุผลด้วยข้อมูลพันธุกรรม ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ ซึ่งในการประชุมดังกล่าวมีนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัยด้านสาธารณสุข ทั่วประเทศ จำนวนกว่า 200 คน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและพัฒนาแผนวิจัยให้ครอบคลุม เน้นการบูรณาการเสริมความร่วมมือ สร้างเครือข่ายวิจัย (Consortium) เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยภายใต้แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทยให้เป็นรูปธรรม สร้างนวัตกรรมและระบบนิเวศน์การวิจัยด้านการแพทย์จีโนมิกส์อย่างรวดเร็ว เมื่อวันที่ 26-27 ก.พ.ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า การพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยภายใต้แผนงานจีโนมิกส์ ปีงบประมาณ 2564 ดำเนินการร่วมกันในลักษณะเครือข่ายการวิจัยและกลุ่มภาคีทางวิชาการ (consortium) ที่มีโจทย์วิจัย เป้าหมาย และผลลัพธ์ร่วมกัน โดยเชื่อมโยงกับเป้าหมายและผลสัมฤทธ์ (Objective and Key result : OKR) ของประเทศที่เน้นการพัฒนาและยกระดับความสามารถการแข่งขันภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เพราะฉะนั้นงานวิจัยต้องบอกได้ชัดเจนว่า
จะพัฒนานวัตกรรมใดให้กับระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งสวรส.ได้ขับเคลื่อนแผนฯ ภายใต้บทบาทของหน่วยบริหารจัดการงานวิจัย (Program Manage Unit : PMU) ของประเทศ โดยมีโครงการเรือธงคือ การถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม (Whole genome sequencing: WGS) ใน 5 กลุ่มโรค ได้แก่

1) กลุ่มโรคมะเร็ง

2) กลุ่มโรคหายาก

3) กลุ่มโรคไม่ติดต่อ

4) กลุ่มโรคติดเชื้อ

5) กลุ่มเภสัชพันธุศาสตร์ ตั้งเป้า 50,000 ราย ภายใน 5 ปี

ส่วนด้านการสกัดสารพันธุกรรมและการจัดเก็บตัวอย่าง ดำเนินการโดยศูนย์สกัดสารพันธุกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ส่งต่อไปยังศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา โดยข้อมูลพันธุกรรมของอาสาสมัครทุกราย จะถูกจัดเก็บด้วยมาตรฐานระดับนานาชาติ เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลกลางของประเทศ ตามแนวปฏิบัติการจัดการข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาขึ้น ซึ่งมีระบบสารสนเทศควบคุมเฉพาะ ทั้งนี้มีแนวทางการแบ่งปันการใช้ประโยชน์ข้อมูลแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่

ข้อมูลระดับต้น เป็นข้อมูลที่เปิดให้เข้าถึงแบบสาธารณะ

ข้อมูลระดับกลาง เป็นข้อมูลที่มีความเฉพาะมากขึ้น นักวิจัยสามารถเข้าถึงได้แต่มีกลไกควบคุมในการเข้าถึง เพื่อป้องกันการเอาข้อมูลไปใช้ในลักษณะที่อาจไม่เกิดผลดีกับนักวิจัยหรือกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเจ้าของข้อมูล

ข้อมูลระดับบุคคล เป็นข้อมูลเชิงการแพทย์ที่ผู้เป็นเจ้าของข้อมูลเท่านั้นจะเข้าถึงได้ ซึ่งการประชุมพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยดังกล่าว นับเป็นการทำงานครั้งสำคัญร่วมกันในลักษณะเครือข่ายวิจัยระดับประเทศที่มีผู้วิจัยจากหลากหลายสถาบันมาร่วมกันทำงานในครั้งนี้

“แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (Genomics Thailand) พ.ศ.2563-2567 เป็นแผนฯ ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มี.ค.2562 ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยการบริการการแพทย์ครบวงจรที่ส่งเสริมการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีการแพทย์ใหม่ๆ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การยกระดับระบบสาธารณสุขของประเทศและการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนไทย โดยการนำเทคโนโลยีและข้อมูลพันธุกรรมมาช่วยให้การวินิจฉัยและรักษาโรคมีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนวางแผนให้เกิด Genomics Thailand Clinical Research 20 แห่งทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ทั้งในสถานพยาบาลและสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อเป็นจุดลงทะเบียนผู้ป่วยกลุ่มตัวอย่าง โดยมีเจ้าหน้าที่ดำเนินการและส่งข้อมูลกลับไปยังโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์นำไปใช้ในการวินิจฉัยและรักษาโรคกับผู้ป่วยกลุ่มตัวอย่างดังกล่าว

ซึ่งท้ายที่สุดคาดหวังว่าการแพทย์แม่นยำจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบสาธารณสุข ตลอดจนเกิดการใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด และส่งผลให้เกิดการยกระดับการให้บริการทางการแพทย์อย่างมีคุณภาพในระดับสากล สร้างความมั่นคงให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศในระยะยาวต่อไป” นพ.นพพร กล่าว

ด้าน ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมว่า

ปัจจุบันระบบวิจัยของประเทศมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่มีความชัดเจนมากขึ้น โดยมีหน่วยงานใหม่คือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริม และขับเคลื่อนระบบวิจัยของประเทศในภาพรวม และมีหน่วยบริหารจัดการงานวิจัย (PMU) ซึ่ง สวรส.เป็น 1 ใน 7 PMU ของประเทศที่กำหนดนโยบายและเกณฑ์ในการจัดสรรทุนแก่หน่วยงานต่างๆ ให้สอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ โดยโครงสร้างของการจัดสรรงบประมาณปี 2564 แบ่งเป็น

1) ทุนสนับสนุนงานพื้นฐาน (Fundamental Fund) 40% สำหรับ basic function และ basic research

2) ทุนสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) 60% ซึ่งแผน Genomics Thailand อยู่ใน Strategic Fund ที่มีการวางแผนให้มีการสนับสนุนให้ครบ 5 ปี

นอกจากนี้ยังเป็นแผนฯ ที่มีความสมบูรณ์และมีโอกาสของความสำเร็จสูง เนื่องจากได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้อยู่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ และการวางรากฐานเศรษฐกิจของประเทศด้วย โดยมีหลักการทำงานสำคัญของยุทธศาสตร์คือการตั้งเป้าหมายสุดท้ายที่ต้องการว่าคืออะไร และอะไรคือ impact พร้อมวางเป้าหมายทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กัน ซึ่งในระยะ 5 ปีแรกที่แผน Genomics Thailand ต้องมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง สกสว.จะสนับสนุนให้มีการจัดสรรงบประมาณอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยพิจารณาเห็นชอบทั้งโครงการ แต่จัดสรรงบประมาณเป็นรายปี ซึ่งขณะนี้งบประมาณปี 2564 กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณ

Written By
More from pp
นีเวีย ซัน เกี่ยวก้อย วัตสัน ชวนมารักษ์สิ่งแวดล้อมโลก ในโครงการ “เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย”
คุณสเตฟานี แบร์โรล รองประธานกรรมการอาวุโส ภูมิภาคอาเซียน บริษัท ไบเออร์สด๊อรฟ พร้อมด้วย คุณนวลพรรณ ชัยนาม  ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ วัตสัน ประเทศไทย...
Read More
0 replies on “สวรส.ระดมนักวิจัยด้านการแพทย์จีโนมิกส์ มุ่งป้องกันและรักษาโรคสำคัญ ด้วยรหัสพันธุกรรมคนไทย: อีกก้าวกระโดดของระบบสาธารณสุขไทย”