วสท. สร้างต้นแบบ “ตู้ความดันลบ” ให้ รพ. ลดความเสี่ยงแพทย์พยาบาล…รวมพลังฝ่าวิกฤติ COVID-19

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ระดมพลังฝ่าวิกฤติไวรัส COVID-19  พัฒนานวัตกรรมต้นแบบ ตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet) สนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรการแพทย์และโรงพยาบาลและรองรับผู้ป่วยติดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวันใน 59 จังหวัด

ทั้งนี้ วสท.ได้ส่งมอบตู้ความดันลบต้นแบบแก่โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า และโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ แล้ว และจะส่งมอบให้โรงพยาบาลในสังกัดกองทัพพบกและโรงพยาบาลอื่นๆในลำดับต่อๆไป ประหยัดและประกอบติดตั้งได้เร็วภายใน 15 นาที มุ่งลดความเสี่ยงของบุคลากรการแพทย์ ผู้ป่วย และประชาชน ช่วยให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 โดยเร็ว และคนไทยสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขต่อไป

ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)  กล่าวว่า ที่มาของโครงการต้นแบบ ตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet) EIT-01-1/24032020 วสท.ในฐานะสมาคมวิชาชีพทางด้านวิศวกรรมที่มีบทบาทในการช่วยเหลือสังคมมาโดยตลอด ได้รับการติดต่อจาก พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ในการพัฒนาจัดทำห้องแยกการติดเชื้อทางอากาศความดันลบ  ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยกำลังขาดแคลน และสร้างไม่ทันต่อจำนวนผู้ป่วยที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น เพื่อนำร่องใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 มุ่งใช้เป็นห้องอเนกประสงค์บรรเทาความแออัดในสถานพยาบาล และป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กลุ่มเสี่ยง การกักตัว และใช้ในบ้านสำหรับประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ วสท.ได้ทำต้นแบบตู้ความดันลบ และคู่มือผู้ใช้ ซึ่งภายในเล่มจะประกอบด้วย ข้อควรระวัง แบบมาตรฐาน วิธีการประกอบ วิธีการใช้งาน วิธีการดูแลบำรุงรักษา และอื่นๆ โดยแบบมาตรฐานนี้หน่วยงานรัฐ เอกชนและประชาชนสามารถนำไปผลิตใช้เองได้

แนวคิดและประโยชน์การใช้งานตู้ความดันลบ

1.เพื่อใช้เป็นห้องแยกความดันลบทั่วไปที่สามารถให้คนนั่งได้ 3 ถึง 4 คน หรือหนึ่งเตียงในสถานพยาบาล  เคหะสถาน และอื่น ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางอากาศ

2.เพื่อใช้ครอบเตียงผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีโอกาสแพร่เชื้อ หรือติดเชื้อทางอากาศ 

3. เพื่อลดระยะห่างความปลอดภัยระหว่างเตียงผู้ป่วย และอำนวยความสะดวกแก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในการเข้าตรวจผู้ป่วยโดยไม่จำเป็นต้องใส่ชุดป้องกันบุคคล

4.เสริมความปลอดภัยแก่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยติดเชื้อ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และประชาชนที่มาใช้บริการในโรงพยาบาล

5.เพื่อใช้งานทั้งภายในอาคารและในที่ร่มภายนอกอาคาร 

6. เพื่อสนับสนุนการใช้วัสดุภายในประเทศ และวัสดุที่เลือกใช้ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยในการใช้งาน ดูแลบำรุงรักษา และทำความสะอาดห้องได้โดยง่าย 

7. เพื่อเป็นมาตรฐานกลางให้กับหน่วยงานราชการและเอกชนนำไปใช้ในการจัดซื้อต่อไป

คุณบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิศวกรรมสนับสนุนต้านภัย COVID-19 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet) ได้ออกแบบให้มีความปลอดภัยทางการแพทย์และวิศวกรรม ในการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั้งในและนอกสถานที่ โดยมีขนาด 1.30 x 2.60 x 2.20 เมตร เพียงพอที่จะใส่เตียงคนไข้ ความกว้าง ประมาณ 0.60 เมตร ยาว 1.90 เมตร และเสาน้ำเกลือสูง 2.10 เมตร หรือสามารถให้คนไข้นั่งได้ ถึง คน ตามระยะห่างความปลอดภัยต่อการแพร่เชื้อ  ห้องมีน้ำหนักเบาและสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย ใช้เวลาในการติดตั้งเพียง 15 นาที ใช้ต้นทุนประมาณ 8,500 บาท หากต่อเป็น 2 ยูนิตโดยใช้เสากลางร่วมก็จะยิ่งลดต้นทุนให้ต่ำลงอีก

สำหรับระบบโครงสร้างตู้ความดันลบ เป็นวัสดุภายในประเทศ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อการใช้งาน ดูแลบำรุงรักษา และทำความสะอาดห้องได้ง่าย วัสดุส่วนประกอบ ได้แก่ ท่อพีวีซีข้องอ 90 องศาข้อต่อสามทาง, ข้อต่อท่อรูกันซึมเกลียวเร่ง (Turnbuckle),  Clamp รัดสลิงเกลียวปล่อย และลวดสลิง ผนังคลุมด้วยแผ่นพลาสติกใสมาตรฐาน GMP หนา 60 ไมครอน ตู้ความดันลบนี้ต้องผ่านสองเงื่อนไขหลักคือความสะอาด และความดันห้อง ในส่วนความสะอาดของห้องจะมีการนำอากาศจากภายนอกห้องไหลเข้ามาเจือจางอากาศที่ปนเปื้อนภายในห้อง โดยใช้พัดลมดูดอากาศที่ด้านหัวเตียงคนไข้ในอัตราไม่น้อยกว่า 12 ครั้งต่อชั่วโมง(ACH) เพื่อนำอากาศที่เจือจางนี้ทั้งหมด (100%) ไปปล่อยทิ้งนอกอาคารในระยะห่างจากอาคารไม่น้อยกว่า 8.00 เมตร หรือปล่อยทิ้งที่หลังคาให้สูงอย่างน้อย 3.00 เมตร โดยไม่นำอากาศที่เจือจางนี้กลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งจะต้องไมให้อากาศที่เจือจางนี้สามารถไหลกลับเข้ามาในอาคารได้ระบบท่อระบายอากาศทิ้งนี้หากไม่สามารถติดตั้งให้มีระยะห่างจากอาคาร 8.00 เมตร หรือทิ้งที่หลังคาสูง 3.00 เมตรได้ ก็สามารถดัดแปลงให้ใส่เครื่องกรองอากาศประสิทธิภาพสูง(HEPA) ทำการฆ่าเชื้อก่อนระบายทิ้งสู่บรรยากาศได้ สำหรับในส่วนความดันห้องจะรักษาระดับความดันลบภายในห้องให้น้อยกว่า 2.5 ปาสกาล(Pa) เทียบกับความดันอากาศบริเวณโดยรอบ  ส่วนระดับอุณหภูมิอากาศภายนอกและภายในห้องให้แตกต่างกันไม่เกินบวกลบ องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ ผลการทดสอบสมรรถนะผ่านเกณฑ์มาตรฐาน  มีดังนี้

1.ความแตกต่างของอุณหภูมิของอากาศภายในห้องและภายนอกห้อง ก่อนเปิดและปิดพัดลม บวกลบไม่เกิน องศาเซลเซียส ผลการตรวจวัด: ผ่านการทดสอบโดยวัดอุณหภูมิภายนอกและภายในห้องวัดได้  32.4 – 32.5 องศาเซลเซียสใกล้เคียงกัน

2.การตรวจวัดการรั่วของอากาศที่รอยต่อผนังห้อง ผ่านการทดสอบโดยค่าความเร็วลมอ่านได้ศูนย์ และควันธูปไม่ไหลเข้าห้อง 

3. การตรวจวัดอัตราการไหลของอากาศเพื่อระบายอากาศภายในห้องไม่น้อยกว่า 12 ACH ผลการตรวจวัด: ผ่านการทดสอบอ่านค่าได้ 147.02 ลูกบาศ์กเมตรต่อชั่วโมง เท่ากับ 19 ACH

4. การตรวจสอบความดันลบของห้องไม่น้อยกว่า 2.50 ปาสกาล (Pa) อ่านค่าความดันลบภายในห้องได้ ถึง 12 Pa

ผู้ประสงค์จะรับแบบรายละเอียด ตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet) สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ วสท.www.eit.or.th หรือติดต่อได้ที่ คุณอรัญญา  ขาวสุวรรณ โทรศัพท์ 0-2935-650908-1914-0301  Email : [email protected]

วสท.ขอส่งกำลังใจให้บุคคลากรการแพทย์และประชาชนทุกภาคส่วน หลอมรวมพลังความร่วมมือฝ่าวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ด้วยความรักสามัคคี องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์และความรับผิดชอบต่อสังคม

Written By
More from pp
สถาบันการทูต ม.รังสิต จัดกิจกรรม 1ST FRIENDSHIP DEBATE 2023
สถาบันการทูตและการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมด้วย วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สาขาวิขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ)) จัดกิจกรรม “IDIS RSU...
Read More
0 replies on “วสท. สร้างต้นแบบ “ตู้ความดันลบ” ให้ รพ. ลดความเสี่ยงแพทย์พยาบาล…รวมพลังฝ่าวิกฤติ COVID-19”