เยาวชนไทยสร้างชื่อ นำธงไทยขึ้นโบกสะบัด บนเวทีแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก

เยาวชนไทยคนเก่งคว้ารางวัลแข่งหุ่นยนต์ในเวทีระดับนานาชาติ ในการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ International Robot Challenge 2019

ซึ่งครั้งนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 19 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 9 – 11 สิงหาคม 2562 มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันกว่า 3,000 คน จาก 32 ประเทศทั่วโลก

ล่าสุดนักเรียนไทยกวาดรางวัลจากการแข่งขัน Mini Sumo – Junior มาได้ทั้ง 3 อันดับ โดยแบ่งเป็น

  • รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ด.ช.โชติพิสุทธิ์ มงคลวิสุทธิ์ อายุ 12 ปี
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ทีมนักเรียนจาก รร.อำนวยศิลป์ ด.ญ.ลัลน์ญดา ชาญจิตรเลขา, ด.ช.ภูวิช บูลภัทรปกรณ์ และ ด.ช.โชติพัฒน์ สุวรรณาคม อายุ 8 ปี
  • และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ด.ช. นริอะกิระ จักเดชไชย และ ด.ช.นนทกร ทรัพย์หมื่นแสง อายุ 10 ปี

และในการแข่งขันวันสุดท้าย ทีมนักเรียนจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ ด.ญ.ลัลน์ญดา ชาญจิตรเลขา, ด.ช.ภูวิช บูลภัทรปกรณ์ และ ด.ช.โชติพัฒน์ สุวรรณาคม คว้ารางวัลมาเพิ่มอีกหนึ่งรางวัล โดยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ในการแข่งขัน Lego Sumo – Adult

ซึ่งการแข่งขันรายการนี้เด็กทั้ง 3 คน ถือว่าเป็นผู้เข้าแข่งขันที่อายุน้อยที่สุด แต่สามารถสู้กับผู้ใหญ่ได้ โดยไม่หวั่นเกรง สร้างความประทับใจให้แก่ผู้เข้าร่วมการแข่งขัน รวมถึงกรรมการเป็นอย่างมาก ทำให้บนเวทีมอบรางวัลมีเพียงธงไทยที่ได้โบกสสะบัดเพียงชาติเดียว ครองเวทีอย่างเต็มภาคภูมิ สร้างความปลาบปลื้มใจให้กับคนไทยทั้งประเทศกันเลยทีเดียว

โดยงานนี้มีคณะอาจารย์จากโรงเรียนอำนวยศิลป์นำโดย คุณเอื้อจิตต์ ชวนประยูร มารอรับด้วยความภาคภูมิใจและร่วมแสดงความยินดีกับเด็กๆ เยาวชนไทยที่ได้ไปสร้างชื่อเสียงในเวทีระดับโลก พร้อมด้วย คุณปัญญา สนธิธรรม และคุณนลิน บุญรอด ผู้คุมทีมหุ่นยนต์แห่งสถาบันบ้านหุ่นยนต์ ปัญญาโรบอท ณ สนามบินสุวรรณภูมิ

โดยด.ช.โชติพัฒน์ สุวรรณาคม (คูเปอร์) อายุ 8 ปี เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนอำนวยศิลป์ ตัวแทนเพื่อน ๆ ในทีมเปิดเผยความรู้สึกให้ฟังว่า “ดีใจมาก ๆ ครับที่ผมและเพื่อน ๆ สามารถคว้ารางวัลต่าง ๆ กลับมาได้ พวกเราตั้งใจฝึกซ้อม และทุ่มเทมาก ๆ การเรียนหุ่นยนต์เพิ่มทำให้พวกเรามีสมาธิจดจ่อกับการทำงานมากขึ้น ทำให้นิ่งขึ้น ส่งผลให้การเรียนดีขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณคุณครูทุกท่าน ขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ที่คอยสนับสนุน เห็นว่าเรามีความถนัดด้านไหน ก็คอยส่งเสริมให้ไปเรียนเพิ่มเติม และคอยให้กำลังใจพวกเรามาโดยตลอดนะครับ”

และด.ญ.ลัลน์ญดา ชาญจิตรเลขา (ยิหวา) อายุ 8 ปี เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนอำนวยศิลป์ เผยว่า “ประสบการณ์ครั้งแรกในสนามแข่งระดับนานาชาติ มีทั้งความตื่นเต้น เครียด กลัวจนตัวสั่น แต่ก็อุ่นใจที่มีเพื่อนร่วมทีมที่คอยอยู่เคียงข้างกัน และเมื่อรู้ว่าทีมได้รับรางวัล รู้สึกดีใจมากๆ แบบบอกไม่ถูกเลยค่ะ น้ำตาจะไหลค่ะ รู้สึกภูมิใจในตัวเองและทีมมากๆ ที่เราสามารถทำได้ สิ่งแรกที่หนูอยากทำเมื่อรู้ว่าได้รับรางวัลคือเข้าไปกอดคุณพ่อคุณแม่ และขอบคุณคุณครูที่สอนมา เพราะทั้งคุณพ่อคุณแม่และคุณครูทำให้หนูมีวันนี้ได้ค่ะ นอกจากรางวัลแล้วสิ่งที่หนูได้จากการแข่งขันครั้งนี้ หนูได้เรียนรู้เห็นคนเก่งๆ มากมายในหลายๆ ประเทศ การก้าวข้ามผ่านความกลัวของตัวเอง เรียนรู้การแพ้การชนะ และน้ำใจนักกีฬาในสนามแข่ง อีกทั้งหนูยังได้รับรู้ความมีน้ำใจของพี่ๆ ที่คอยช่วยเหลือ ให้คำแนะนำหนูอยู่เสมอ โดยไม่สนใจว่าหนูจะเป็นคู่แข่งในสนามเลยค่ะ ขอบคุณพี่ๆทุกๆคนจากบ้านหุ่นยนต์จริงๆ ค่ะ”

ด.ช.ภูวิช บูลภัทรปกรณ์ (จิรัล) อายุ 8 ปี เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนอำนวยศิลป์ กล่าวว่า “ตอนที่ผมลงแข่งขัน ผมท่องไว้ในใจว่าผมจะตั้งใจทำให้ดีที่สุด ถ้าได้รางวัลก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าไม่ได้รางวัลก็ถือเป็นประสบการณ์ ซึ่งพอรู้ว่าเราได้รางวัล ดีใจมาก ๆ ครับ ทำให้เรามีพลัง รู้สึกว่าเราทำได้แล้วนะ เพราะพวกเราใช้ระยะเวลาการฝึกซ้อมการทำงานเป็นทีมอย่างยาวนาน กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ พวกเราผ่านการฝึกฝน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งผมอยากจะ ขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ที่คอยสนับสนุน ให้กำลังใจ อยู่เคียงข้าง และขอบคุณคุณครูทุกคนนะครับ”

ทางด้าน อาจารย์ปัญญา สนธิธรรม และอาจารย์นลิน บุญรอด สถาบันบ้านหุ่นยนต์ By ปัญญาโรบอท เผยด้วยความปลาบปลื้มว่า “สำหรับการเรียนโรบอท ประโยชน์คือทำให้เด็กๆ ได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ และการทำงานแบบเป็นขั้นตอน ครอบครัวไหนที่คุณพ่อคุณแม่เห็นความสนใจของน้องๆ ก็ส่งเสริมให้พวกเขาได้เรียนรู้การต่อ และเขียนโปรแกรมเบื้องต้นให้หุ่นยนต์ที่เค้าต่อสามารถเคลื่อนที่ได้ตามแบบต่างๆ เพราะนอกจากการได้เรียนรู้ต่อยอดในสิ่งที่เค้าชอบแล้ว ยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เมื่อเด็กเริ่มมีความสนใจ และตั้งใจจะแข่งขัน การฝึกซ้อมจะเปลี่ยนไปจากสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เปลี่ยนเป็นต้องฝึกซ้อมทุกวัน หลังเลิกเรียน และเพิ่มวันเสาร์วันอาทิตย์ ในช่วงใกล้แข่งขัน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งเด็กๆ และผู้ปกครองที่พร้อมจะให้การสนับสนุน คอยรับส่ง เพราะการซ้อมไม่สามารถทำคนเดียวได้ เด็กๆ ต้องมีวินัย และความรับผิดชอบมากขึ้น เพื่อไม่ให้การเรียนที่โรงเรียนเสียสำหรับการแข่งขันครั้งนี้เด็กๆ ต้องลงแข่งในสนามใหญ่ที่มีความกดดันทุกด้าน สมาธิ สติ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และน้ำใจในสนามเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องเรียนรู้ จัดการและควบคุมให้ได้ ถือว่าเด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ และเก็บเกี่ยวความรู้สึกเหล่านั้นกลับมาหล่อหลอมและพัฒนาตนเองให้เติมโตขึ้นอย่างสวยงาม ส่วนรางวัลที่ได้รับมาถือว่าเป็นโบนัสและกำลังใจของเด็กๆ”

0 replies on “เยาวชนไทยสร้างชื่อ นำธงไทยขึ้นโบกสะบัด บนเวทีแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก”