บอร์ด คปภ. ไฟเขียว เยียวยาธุรกิจประกันภัย ฝ่าวิกฤตโควิด-19 เห็นชอบให้หั่นค่าธรรมเนียมประกันภัยทุกประเภทลง 50% ประชาชน บริษัทประกันภัย ตัวแทน-นายหน้าประกันภัย กว่าหกแสนราย ได้อานิสงค์ทั่วหน้า

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 ที่มีนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานฯ ได้พิจารณากรณีที่ สภาธุรกิจประกันภัยไทย มีหนังสือขอให้ลดผลกระทบและแบ่งเบาภาระของภาคธุรกิจประกันภัยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยขอความอนุเคราะห์ในการพิจารณาผ่อนผันปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมหรือปรับลดอัตราเงินสมทบที่นำส่งสำนักงาน คปภ.

ในการพิจารณาประเด็นข้างต้นที่ประชุมฯ รับทราบ ผลการทดสอบภาวะวิกฤติ (Industry Stress test) จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งพบว่า แม้ธุรกิจประกันภัยไทยจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดดังกล่าว แต่ในภาพรวมยังคงแข็งแกร่งและมีความทนทานต่อสภาวะวิกฤติ ทั้งในสถานการณ์ V-shape และ L-shape ได้เป็นอย่างดี โดยที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาด้านการประกันภัยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ มาตรการบรรเทาผลกระทบสำหรับประชาชนและผู้ประกอบการ มาตรการบรรเทาผลกระทบสำหรับบริษัทประกันภัย มาตรการบรรเทาผลกระทบสำหรับคนกลางประกันภัย และมาตรการเกี่ยวกับการดำเนินงานของ สำนักงาน คปภ.

โดยล่าสุดได้ออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจประกันภัยในการขยายระยะเวลาการนำส่งเงินสมทบ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากผลการทดสอบภาวะวิกฤติในส่วนของ สำนักงาน คปภ. ประกอบกับมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. 2550 รวมทั้งมาตรา 44 มาตรา 46 และมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งจะต้องอยู่บนพื้นฐานประโยชน์ของรัฐ และประชาชน ความคุ้มค่า และความประหยัด รวมทั้งจะต้องกระทำด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ทั้งต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐ โดยต้องรักษาไว้ในระดับที่จําเป็น เพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอสําหรับการเบิกจ่ายเพื่อการดําเนินงานของสำนักงาน คปภ. โดยคํานึงถึงค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการบริหารสภาพคล่องด้วย

ดังนั้นการปรับลดอัตราเงินสมทบ จึงอาจไม่เป็นไปตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. 2550 และอาจขัดต่อมาตรา 44 มาตรา 46 และมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ได้

เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาวิธีการอื่นนั้น การปรับลดค่าธรรมเนียมสำหรับธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัย จะเป็นประโยชน์มากกว่าและไม่กระทบต่อสภาพคล่องของ สำนักงาน คปภ. เนื่องจากเป็นมาตรการช่วยเหลือที่จะเกิดประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง คือนอกจากจะเกิดประโยชน์ต่อบริษัทประกันภัยแล้ว ประชาชนที่ประสงค์จะเข้าสู่อาชีพประกันภัย ตัวแทนประกันชีวิต ตัวแทนประกันวินาศภัย นายหน้าประกันชีวิต นายหน้าประกันวินาศภัย และนักคณิตศาสตร์ประกันภัย จะได้ประโยชน์ด้วย

ซึ่งจากข้อมูลสถิติในปี 2562 พบว่า มีจำนวนประชาชนสมัครสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนนายหน้าประกันภัย/ผู้ขอรับใบอนุญาตฯ/ผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตฯ รวมทั้งสิ้น 680,227 ราย รวมทั้งยังสามารถลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการด้านการประกันภัย ได้แก่ นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจนายหน้าประกันชีวิต นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย ดังนั้นที่ประชุมฯ จึงมีมติ ดังนี้

1. เห็นชอบตามที่สำนักงาน คปภ. เสนอ ในการให้ปรับลดค่าธรรมเนียมสำหรับธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจประกันวินาศภัย ลงครึ่งหนึ่งทุกรายการ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ได้แก่ ค่าธรรมเนียมสมัครสอบความรู้เพื่อขอรับใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมในการขอรับใบอนุญาตของตัวแทนนายหน้าประกันภัย การขอต่ออายุใบอนุญาตของตัวแทนนายหน้าประกันภัย การขอรับใบอนุญาตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย การขอใบแทนใบอนุญาต การขอรับรองสำเนาเอกสาร เป็นต้น

2. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับธุรกิจประกันชีวิตในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. ….

3. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับธุรกิจประกันวินาศภัยในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. ….

ทั้งนี้ที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้ สำนักงาน คปภ. ติดตามผลกระทบของภาคธุรกิจประกันภัยอย่างใกล้ชิด โดยให้มีการจัดทำการทดสอบภาวะวิกฤติเพื่อประเมินสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ หากผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่า ภาคธุรกิจประกันภัยมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ก็ให้รีบเสนอให้พิจารณากำหนดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาที่จำเป็นเพิ่มเติมต่อไป

“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้มีประชาชน ภาครัฐ และเอกชนได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ตามมาตรการที่ที่ประชุม คปภ. มีมติในครั้งนี้เป็นมาตรการเยียวยาเพิ่มเติมจากหลายมาตรการที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้โดยขั้นตอนต่อไปจะต้องเสนอเรื่องไปที่กระทรวงการคลัง เนื่องจากตามกฎหมาย การกำหนดค่าธรรมเนียมเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องโดยใกล้ชิด และจะดำเนินการอย่างเต็มที่ในการดูแลประชาชน และเยียวยาภาคธุรกิจประกันภัยที่ได้รับผลกระทบ” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

Written By
More from pp
ศึกนี้ใหญ่หลวงนัก “ศุภชัย” ฟาด “อลงกรณ์” ปมกัญชา ซัด ปชป. เตะถ่วง หวังเล่นการเมือง แต่อ้างสังคมบังหน้า แนะ เอาเวลาไปห่วงพรรค ปชป.ดีกว่า หลังเลือดทะลักต่อเนื่อง
“ศุภชัย” ตอกกลับ “อลงกรณ์” ปมกัญชา ซัด ปชป. เตะถ่วง หวังเล่นการเมือง แต่อ้างสังคมบังหน้า แนะ เอาเวลาไปห่วงพรรค ปชป.ดีกว่า...
Read More
0 replies on “บอร์ด คปภ. ไฟเขียว เยียวยาธุรกิจประกันภัย ฝ่าวิกฤตโควิด-19 เห็นชอบให้หั่นค่าธรรมเนียมประกันภัยทุกประเภทลง 50% ประชาชน บริษัทประกันภัย ตัวแทน-นายหน้าประกันภัย กว่าหกแสนราย ได้อานิสงค์ทั่วหน้า”