13 กลุ่มสตาร์ทอัพ ชงกระทรวง อว. เสนอ 5 แนวทางกู้วิกฤตสตาร์ทอัพในช่วงภาวะวิกฤต

13 กลุ่มสตาร์ทอัพ ชงกระทรวง อว. เสนอ 5 แนวทางกู้วิกฤตสตาร์ทอัพในช่วงภาวะวิกฤต ขอเงินทุนสนับสนุนทุนให้เปล่า สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพิ่มสภาพคล่องธุรกิจ ปรับลดเงื่อนไขให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น

ด้านรมว.สุวิทย์ เมษินทรีย์ แนะสตาร์ทอัพพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ปรับกระบวนการคิดชี้ทางรอดต้องผนึกกำลังสร้างความเข็มแข็งธุรกิจ พร้อมแนะต้องสร้างงาน (Job Creation) ให้ตรงกับความต้องการจากประชาชน (Demand Creation)

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นประธานในการประชุมหารือร่วมกับ 13 กลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (สตาร์ทอัพ) และหน่วยงานที่อยู่ในระบบนิเวศ เพื่อหารือถึงมาตรการช่วยเหลือสตาร์ทอัพช่วงวิกฤต จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบด้วย

1. สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA)

2. สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (TTSA)

3. สมาคมฟินเทคประเทศไทย (Fintech)

4. สมาคมการค้าเฮลท์เทคไทย (Healthtech)

5. สมาคมไทยบล็อคเชน (Blockchain)

6. สมาคมโปรเกรมเมอร์ไทย (Programmer)

7. กลุ่มสตาร์ทอัพด้านการศึกษา (EdTech)

8. กลุ่มสตาร์ทอัพด้านดนตรี ศิลปะ และนันทนาการ (MAR Tech)

9. กลุ่มสตาร์ทอัพด้านการเกษตร (AgTech)

10. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (TCC)

11. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI)

12. สื่อด้านเทคโนโลยี (Tech Media)

13. หน่วยบ่มเพาะธุรกิจที่ได้รับการรับรอง (Certified Incubator)

โดยมีสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เป็นแกนนำในการเชื่อมประสาน เพื่อผลักดันให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ทอัพอย่างเป็นรูปธรรม

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยพบว่ากว่า 95% ประสบปัญหาสภาพคล่อง จึงอาจส่งผลกระทบให้มีการเลิกจ้างและมีการผิดนัดชำระหนี้ อันเกิดจากความผันผวนในตลาดเดิมทำให้ขาดกำลังซื้อจากผู้บริโภคบนช่องทางการขายแบบเดิม จนกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนและลดประสิทธิภาพในการระดมทุน

จึงได้เสนอแนวนโยบายการพัฒนา วิสาหกิจเริ่มต้นในสภาวะวิกฤต 5 แนวทางดังนี้

1. แนวทางการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่วิสาหกิจเริ่มต้น ขอมาตรการสนับสนุนทางการเงินและการลงทุน ได้แก่ การสนับสนุนเงินให้เปล่า (Grant) จากภาครัฐ โดยการปรับเปลี่ยนและลดเงื่อนไขให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น มาตรการสนับสนุนสินเชื่อ และดอกเบี้ยจากธนาคารภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการระดมทุนจากแหล่งต่างๆ อาทิ โครงการนวัตกรรมดีไม่มีดอกเบี้ย เป็นต้น ผ่านกลไกที่ NIA ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการใช้งานของแพลตฟอร์มสตาร์ทอัพไทย สนับสนุนเรื่องของเงินเดือนพนักงานเพื่อรักษากำลังคนที่มีคุณภาพและธุรกิตให้สามารถดำเนินต่อไปได้

2. แนวทางการเสริมสภาพคล่องของตลาดและการพัฒนาตลาดใหม่ เชื่อมโยงผู้ผลิต ผู้บริโภค และกลุ่มสตาร์ทอัพ ด้วยการจัดทำ Marketplace สร้างการรับรู้และให้เข้าถึงบริการของสตาร์ทอัพให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้า B2B, B2C ตลอดจนสนับสนุนบริการของสตาร์ทอัพ ไทย และการพัฒนาการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสำหรับสตาร์ทอัพ ที่ NIA ดำเนินการอยู่ เพื่อสนับสนุนให้หน่อยงานภาครัฐและภาคเอกชนใช้บริการสตาร์ทอัพมากขึ้น

3. แนวทางการสนับสนุนในการดำเนินธุรกิจ (Ease of Doing Business) ขอมาตรการสนับสนุนทางการคลัง อาทิ นิติบุคคลที่ซื้อบริการจากสตาร์ทอัพสามารถหักภาษีนิติบุคคล 200% สร้างมาตรการทางภาษีสนับสนุนการใช้งานของสตาร์ทอัพไทย เช่น บุคคลที่ซื้อบริการจากสตาร์ทอัพสามารถลดหย่อนภาษีไม่เกิน 15,000 บาท ลดข้อจำกัดบางประการของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ให้สตาร์ทอัพมีโอกาสเข้าถึงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ช่วยเจรจากับผู้ให้บริการเรื่องการลดราคาในส่วนที่กระทบกับค่าใช้จ่ายของสตาร์ทอัพ ในช่วงนี้ และผลักดันกฎหมายเพื่อสนับสนุนการให้บริการของสตาร์ทอัพ เช่น เรื่อง Telemedicine ให้สามารถนำไปใช้ให้เกิดการพัฒนาบริการได้

4. แนวทางการส่งเสริมความรู้และการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นรายใหม่ พัฒนาองค์ความรู้การ บริหารจัดการองค์กรในสภาวะวิกฤต ทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ การบริหารบุคลากร รายได้และ ต้นทุน การบริหารจัดการคู่ค้า เป็นต้น พัฒนาศักยภาพของสตาร์ทอัพรายใหม่ เพื่อทดแทนสตาร์ทอัพที่ปิดกิจการไป เช่น การ Re-skill และ Upskill เพื่อช่วยพัฒนาความสามารถ ของกำลังคนที่มีศักยภาพ

5.แนวทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและสร้างแนวทางใหม่ สนับสนุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพ สามารถดำเนินธุรกิจได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จัดทำ Thailand National Startup Team เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน และเป็นตัวเลือกในการพิจารณาของหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงการสร้างอุตสาหกรรมใหม่เพื่อสร้าง ความสามารถในการแข่งขัน เช่น อุตสาหกรรมคอนเทนท์ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี จากข้อเสนอที่กลุ่มสตาร์ทอัพเสนอมานั้น กระทรวง อว. พร้อมรับไว้พิจารณา และทาง ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้ให้นโยบายและชวนกลุ่มสตาร์ทอัพให้คิดถึงอนาคตในการสร้าง “Post-COVID Startup Movement” เพื่อสร้างความต้องการจากประชาชน (Demand Creation) อันจะเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพแห่งอนาคต (Job Creation) ต่อไปโดยจะมุ่งเน้นในการพิจารณาในการเยียวยาเพิ่มสภาพคล่องเพื่อหยุดเลือด พร้อมทั้งต้องพลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการผนึกกำลังในกลุ่มสตาร์ทอัพเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้อยู่รอดได้ หรือร่วมมือระหว่างเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ โดยรวมกลุ่มสร้างพลังของสตาร์ทอัพไทยในรูปแบบสหภาพ (Consortium) เพื่อไปทำงานสนับสนุนพัฒนาเอสเอ็มอีไทย ไปเติมในสิ่งที่เอสเอ็มอีขาดในลักษณะการทำงานร่วมกัน รวมทั้งสามารถรวมกลุ่มเป็นสหภาพไปทำงานกับบริษัทใหญ่ได้ด้วย เป็นการแสดงศักยภาพที่แท้จริงของสตาร์ทอัพไทย นอกจากนั้นขอให้กลุ่มสตาร์ทอัพช่วยกันนำเสนอไอเดียใหม่ในการพัฒนาประเทศไทยในลักษณะส่งเสริมการพัฒนาขนาดใหญ่ (Big Push) ในหัวข้อสำคัญๆ เช่น การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ สังคมไร้เงินสด (Touchless/Cashless Society), ระบบการแพทย์ทางไกล(Telemedicine) , การทำงาน/เรียนจากที่บ้าน (Work/Study from Home) หรือ การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ (Transformation to AI Economy) เป็นต้น โดยอยู่ในฐานของ BCG Economy Model (ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อความมั่นคงของประเทศในโลกหลังโควิด ได้แก่ เกษตร/อาหาร, การแพทย์/สุขภาพ, พลังงาน, ท่องเที่ยว/เศรษฐกิจสร้างสรรค์)

“จากการประชุมวันนี้ ผมมั่นใจว่ากลุ่มสตาร์ทอัพไทยมีความสามารถ และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยในโลกหลังโควิด ที่แต่ละประเทศจะเน้นการพัฒนาความเข้มแข็งภายในประเทศ ดังนั้น เราต้องช่วยกันส่งเสริม เศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Economy) และเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น (Local Economy) เติมพลังให้กับส่วนล่างของปิระมิด เสริมความเข้มแข็งยกระดับไปสู่ยอดของปิระมิดต่อไปครับ” ดร.สุวิทย์ กล่าว

Written By
More from pp
กรมควบคุมโรค รับมอบชุดตรวจไวรัสตับอักเสบ ซี จากบริษัท แอ๊บบอตลาบอแรตอรีส จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี เมดกรุ๊ป จำกัด เพื่อสนับสนุนการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ในประชาชนกลุ่มเสี่ยง
ที่กรมควบคุมโรค นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รับมอบชุดตรวจไวรัสตับอักเสบ ซี จำนวน 24,390...
Read More
0 replies on “13 กลุ่มสตาร์ทอัพ ชงกระทรวง อว. เสนอ 5 แนวทางกู้วิกฤตสตาร์ทอัพในช่วงภาวะวิกฤต”