ปวดเกาต์อย่าซื้อยาเอง เสี่ยงภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิต

ผู้ป่วยโรคเกาต์ควรรับการรักษาจากแพทย์ หากซื้อยารับประทานเองอาจเกิดผลข้างเคียงหรือมีโรคแทรกซ้อน จนนำไปสู่การเสียชีวิตได้แพทย์หญิงบุษกร ดาราวรรณกุล อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติซึม โรงพยาบาลเวชธานี ระบุว่า เกาต์ (Gout) เป็นโรคข้ออักเสบที่เกิดจากระดับกรดยูริกในเลือดสูงมาเป็นเวลานาน จนเกิดการตกตะกอนสะสมเป็นผลึกเกลือยูเรตตามเนื้อเยื่อบริเวณต่าง ๆ โดยเฉพาะในข้อและบริเวณรอบข้อ เมื่อมีปัจจัยบางอย่างมากระตุ้นจะทำให้ข้ออักเสบเฉียบพลันรุนแรง 

ซึ่งสาเหตุสําคัญที่ทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงมาจากกรรมพันธุ์ อายุที่มากขึ้นและไตทำงานลดลง หรือเกิดจากการใช้ยาบางชนิดและดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ดังนั้นการรับประทานอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น ยอดผัก สัตว์ปีก เนื้อแดง เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล จึงไม่ใช่สาเหตุโดยตรง แต่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้โรคเกาต์กําเริบหรือเกิดข้ออักเสบได้

“อาการของโรคเกาต์จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ

1. ระยะข้ออักเสบกำเริบเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อร่วมกับข้ออักเสบอย่างรุนแรงบริเวณนิ้วเท้า หลังเท้า ข้อเท้า หรือข้อเข่า มักกำเริบจากการรับประทานอาหารที่มียูริกสูง เช่น อาหารทะเล เครื่องในสัตว์ ยอดผักบางชนิด รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์หรือถูกกระแทกที่บริเวณข้อ ซึ่งจะมีอาการประมาณ 3 – 7 วัน และหายไปเอง แต่ถ้ารับประทานยาโคลชิซีน (Colchicine) หรือยาในกลุ่มต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ไดโคลฟีแนค (Diclofenac) อินโดเมทาซิน (Indomethacin) เป็นต้น อาการจะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ในระยะแรกอาการข้ออับเสบแต่ละครั้งจะเกิดห่างกันค่อนข้างนาน หากไมได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาการจะกำเริบถี่ขึ้นและจำนวนข้อที่อักเสบจะมากขึ้นเรื่อย ๆ 

2. ระยะมีปุ่มก้อนโทฟัส (Chronic Tophaceous Gout) ผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะมีผลึกยูเรตสะสมมากขึ้นจนเกิดเป็นปุ่มก้อนโทฟัส โดยมีลักษณะเป็นก้อนแข็งใต้ผิวหนัง ผิวขรุขระบริเวณรอบ ๆ ข้อ ตำแหน่งที่พบบ่อยคือใบหู ข้อศอก ตาตุ่ม เอ็นร้อยหวาย นิ้วมือและนิ้วเท้า ผู้ป่วยจะมีอาการข้ออักเสบติดต่อกันจนเหมือนเป็นข้ออักเสบเรื้อรัง ในบางรายที่เป็นมากจะมีข้อพิการผิดรูปร่วมด้วยซึ่งเป็นระยะท้ายของโรค การตอบสนองต่อยา NSAIDs หรือโคลชิซีนลดลง และมีอาการปวดเกือบตลอดเวลา” แพทย์หญิงบุษกรกล่าว

สำหรับการรักษาโรคเกาต์ แพทย์จะให้ยารักษาอาการข้ออักเสบและลดระดับยูริกในเลือดให้ต่ำกว่า 5 – มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเกิดข้ออักเสบกำเริบซ้ำ ปุ่มและก้อนโทฟัสจะค่อย ๆ มีขนาดเล็กลง ผู้ป่วยเกือบทุกรายที่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีจะไม่มีอาการปวดข้ออีก แต่ผู้ป่วยโรคเกาต์จำนวนมากมักเลือกที่จะซื้อยารับประทานเองทำให้การรักษาไม่ถูกวิธี จึงยังมีอาการกำเริบอยู่เรื่อย ๆ และมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น กระเพาะอาหารเป็นแผลหรือทะลุ เลือดออกในทางเดินอาหาร ตับอักเสบ ไตวาย รวมถึงการแพ้ยาที่อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

ดังนั้นการใช้ยารักษาโรคเกาต์จึงควรอยู่ภายใต้คำแนะนำและการดูแลของแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และลดความเสี่ยงที่เป็นอันตรายจากการใช้ยา รวมไปถึงผู้ป่วยควรจะได้รับการตรวจหาโรคร่วมต่าง ๆ ที่อาจซ่อนอยู่เพื่อการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

Written By
More from pp
“30 ปีที่รอคอย” นิพนธ์ฯ แจกโฉนดฯ 66 แปลงให้ชาวลำพูน หลังรอคอยนาน 30 ปี ตอกย้ำ นโยบาย “ทำได้ไว ทำได้จริง”
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.63 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) พร้อมด้วย นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน นายพงศ์รัตน์...
Read More
0 replies on “ปวดเกาต์อย่าซื้อยาเอง เสี่ยงภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิต”