มท.1 สั่งการทุกหน่วยเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยในช่วงฤดูฝน ย้ำดูแลประชาชนให้ทันต่อสถานการณ์

เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 63 พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ด้วยกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูฝนของประเทศไทย ปี 2563 ว่าจะเริ่มต้นประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 2563 และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม 2563 โดยในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนจะเป็นเดือนที่มีฝนตกชุกหนาแน่น มีโอกาสสูงที่จะเกิดพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน ซึ่งจะส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ และอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งได้ในบางแห่ง

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า เพื่อให้การเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนปีนี้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้สั่งการให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดดำเนินมาตรการการเตรียมความพร้อม ดังนี้

1) ติดตามสภาพอากาศ โดยจัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ฯ โดยมีหน่วยงานด้านการพยากรณ์ การบริหารจัดการน้ำ และฝ่ายปกครองในพื้นที่ ทำหน้าที่ติดตาม วิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์ฯ ในพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลการตัดสินใจของผู้อำนวยการแต่ละระดับในการสื่อสาร แจ้งเตือนประชาชน ตลอดจนเตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรกลสาธารณภัย เพื่อใช้ในการเผชิญเหตุอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพพื้นที่

2) จัดทำแผนเผชิญเหตุอุทกภัย โดยทบทวนและปรับปรุงแผนเผชิญเหตุฯของจังหวัดให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ครอบคลุมตั้งแต่การเตรียมความพร้อม การจัดการในภาวะฉุกเฉิน และการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ตลอดจนเส้นทางการอพยพประชาชนไปยังจุด/พื้นที่ปลอดภัยอย่างชัดเจน

3) การระบายน้ำและการเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำ โดยมอบหมายกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีความเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะตามรอยต่อเขตรับผิดชอบที่เป็นเส้นทางน้ำไหลผ่าน ด้วยการเร่งขุดลอกท่อระบายน้ำ ดูดเลน ทำความสะอาดร่องน้ำ เพื่อกำจัดสิ่งกีดขวางออกจากทางระบายน้ำ รวมทั้งเร่งกำจัดพืช ขยะ สิ่งกีดขวางทางน้ำ และจากสถานการณ์ภัยแล้งในห้วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ในหลายพื้นที่ขาดแคลนน้ำ จึงให้หาแนวทางการสร้างเส้นทางลำเลียงน้ำที่มีการระบาย ไปยังพื้นที่รองรับน้ำต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการกักเก็บน้ำไว้ใช้หากเกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงด้วย

4) การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงสถานที่ใช้กักเก็บ/กั้นน้ำ อาทิ อ่างเก็บน้ำ พนังกั้นน้ำ

5) การแจ้งเตือนภัย เมื่อมีแนวโน้มการเกิดสถานการณ์จากเหตุอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มขึ้นในพื้นที่ ให้ดำเนินการแจ้งเตือนไปยังกองอำนวยการฯ แต่ละระดับ เพื่อเตรียมการในพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นการล่วงหน้า พร้อมแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบในทุกช่องทาง ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลข่าวสาร แนวทางปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย ช่องทางแจ้งข้อมูล และขอรับการช่วยเหลือจากภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

สำหรับมาตรการด้านการเผชิญเหตุ ให้ยึดแนวทางการจัดการสาธารณภัยในภาวะฉุกเฉิน ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยดำเนินการ

1) จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับจังหวัด อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

2) กำหนดกลไกศูนย์ประสานการปฏิบัติ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ร่วม คณะที่ปรึกษา/ผู้เชี่ยวชาญ ส่วนปฏิบัติการ ส่วนอำนวยการ และส่วนสนับสนุน พร้อมมอบหมายผู้รับผิดชอบ ภารกิจ และพื้นที่ปฏิบัติงานให้ชัดเจน

3) มอบหมายฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนอาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เฝ้าระวังพื้นที่ชุมชน พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สถานที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ โรงพยาบาล ศาสนสถาน และร่วมกันกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเมื่อเกิดฝนตกหนักในพื้นที่

4) จัดชุดปฏิบัติการเร่งให้ความช่วยเหลือด้านการดำรงชีพแก่ประชาชนที่ประสบภัยตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง อาทิ ด้านอาหาร น้ำดื่ม การรักษาพยาบาล โดยอย่าให้เกิดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติของแต่ละหน่วยงาน พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนจิตอาสา มีส่วนร่วมกับภาครัฐตามทักษะความถนัด ในการให้ความช่วยเหลือประชาชน

5) กรณีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย ให้บูรณาการทุกหน่วยงาน ทั้งหน่วยทหาร ตำรวจ หน่วยงานฝ่ายปกครอง สถาบันการศึกษา ตลอดจนประชาชนจิตอาสา จัดทีมช่างในพื้นที่เป็นทีมประชารัฐ และเร่งซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนโดยเร็ว

6) กรณีเส้นทางคมนาคมได้รับความเสียหาย หรือถูกน้ำท่วมจนประชาชนไม่สามารถใช้ยานพาหนะสัญจรได้ ให้จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกการจราจร แนะนำเส้นทางเลี่ยงที่ปลอดภัย รวมทั้งจัดยานพาหนะที่เหมาะสมช่วยเหลือประชาชน จากนั้นให้เร่งซ่อมแซมเส้นทางที่ชำรุด/ถูกตัดขาด เพื่อประชาชนใช้สัญจรได้โดยเร็ว

7) สื่อสารสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในช่วงเกิดสถานการณ์อุทกภัยทุกช่องทางเพื่อให้เกิดความเข้าใจแนวทางการแก้ไขปัญหาของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้เน้นย้ำให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทุกจังหวัดเร่งเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และเตรียมพร้อมอุปกรณ์และบุคลากรเจ้าหน้าที่ในการช่วยเหลือประชาชนให้ทันต่อสถานการณ์ เพื่อให้ประชาชนได้มั่นใจในความปลอดภัยและไม่เกิดปัญหาซ้ำซาก

Written By
More from pp
“ดีป้า เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานระดับโลก ร่วมส่งสุดยอดสินค้าดี สินค้าเด่นของไทย ในงาน World Expo 2020 Dubai  
โอกาสดีมาถึงแล้ว ที่สินค้าไทยไปอวดโฉมบนเวทีโลก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(depa) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  ขอเชิญผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพในการส่งออก และต้องการเปิดตลาดการค้าในตะวันออกลาง  สามารถส่งสินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เข้าร่วมโครงการคัดเลือกสุดยอดสินค้าดี สินค้าเด่นของไทย สำหรับจัดจำหน่าย และแจกเพื่อการประชาสัมพันธ์ ผ่านอาคารแสดงประเทศไทย ในงาน World Expo 2020 Dubai ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 ณ เมืองดูไบ...
Read More
0 replies on “มท.1 สั่งการทุกหน่วยเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยในช่วงฤดูฝน ย้ำดูแลประชาชนให้ทันต่อสถานการณ์”