คปภ.ภาค “ท้าวหิรัญพนาสูร”

สังเกตกันมั้ย?

ว่าระยะนี้ จะด้วยดาวอะไรต่ออะไรตำกันก็ไม่ทราบอุบัติเหตุทางรถยนต์ “ขั้นรุนแรง” เกิดขึ้นมากเป็นพิเศษ
วานซืน รถตู้ท่านเจ้าคุณอลงกต วัดพระบาทน้ำพุ ก็ชนกับรถกระบะ แถวๆโคกสำโรง ลพบุรี
ตายไป ๒ ท่านเจ้าคุณบาดเจ็บ!
ก่อนหน้านั้น (๒๙ กย.๖๒) นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ มาฝึกงานที่อู่ซ่อมรถยนต์ย่านบางพลี สมุทรปราการ
รถกระบะพลิกคว่ำ เสียชีวิต ๑๓ เจ็บอีก ๖
และเท่าที่ผ่านตาจากข่าว ด้วยอุบัติเหตุรถยนต์ เสียชีวิตครั้งละมากกว่า ๑ คน ก็อีกหลายราย

ไม่พูดด้านประมาท ด้านไม่รักษาวินัยจราจร ด้านดื่มสุราแล้วขับ รวมทั้งด้านใช้รถผิดประเภท
เพราะโตๆ กันแล้ว จ้ำจี้-จ้ำไชอะไรกันอีก ผิดก็รู้ ถูกก็รู้ ดีก็รู้ ชั่วก็รู้
ฉะนั้น มาพูดเรื่อง “สิทธิพึงได้” อันเป็นปัญหาเฉพาะหน้าเวลาขับรถไปเกิดอุบัติเหตุกันดีกว่า
อย่าว่าแต่ใครอื่นเลย…….
แม้ตัวผมเอง ก็ยังไม่รู้ว่า ถ้าพบอุบัติเหตุทางรถยนต์ มีสิทธิใดอันพึงได้บ้าง จากเงินที่จ่ายไปทุกปี ที่เรียกกันว่า “ค่าทำพรบ.” นั่นน่ะ?
ทุกวันนี้………
เรามี “คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย” คือกรมการประกันภัยเดิม คอยดูแลเรื่องสิทธิอันพึงได้เหล่านี้อยู่

“ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ” เป็นเลขาธิการคณะกรรมการชุดนี้ ที่เรียกกันคล่องๆว่า “เลขาฯคปภ.”
เราลองมาศึกษาจาก “เหตุจริง” เพื่อความเข้าใจว่า เวลาไปตีทะเบียนรถ ทำไมจึงต้องเสีย ๑,๐๐๐ บาท เป็นค่าทำพรบ.ก่อน
ถ้าไม่ทำพรบ.กรมการขนส่งทางบก จะไม่ตีทะเบียนรถให้
พรบ.ที่ว่านี้ คือ “ประกันภาคบังคับ”
พูดง่ายๆ คือพรบ. “คุ้มครองคน” เวลาเราขับไปชนเขา
พรบ.นี้จะจ่ายค่าเสียหาย ค่ารักษาพยาบาล ค่าพิกลพิการแทนเรา แต่ไม่เกี่ยวกับวัตถุสิ่งของ คือการซ่อมรถ
ดังนั้น ควรต้องทำประกันภาคทั่วไป เป็นการคุ้มครองทั้งคน-ทั้งรถควบคู่ไปด้วย
ภาคทั่วไป ก็การประกันกับบริษัทประกันภัยทั้งหลาย จะประเภท ๑,๒,๓,๔,๕,๖ ก็ว่ากันไปตามใจเจ๊ ตามใจเฮีย
เรียกว่า “สมัครใจประกัน” จะประกันคุ้มครองเฉพาะเขา เราไม่เกี่ยว หรือจะให้เกี่ยวทั้งเขา-ทั้งเรา ก็อยู่ที่เลือกประกันชั้นไหน?

ขอแนะว่า อย่าขี้เหนียวผิดทาง ประกันชั้น ๑ กับบริษัทเชื่อถือได้ แพงหน่อย แต่คุ้ม เวลาเกิดเหตุ
ทราบคร่าวๆ อย่างนี้แล้ว ก็มาดูตัวอย่าง จากกรณีรถกระบะพลิกคว่ำ นักศึกษาเสียชีวิต ๑๓ ศพ
ปรากฏว่า รถกระบะคันนั้น พรบ.คือประกันรถภาคบังคับ “ขาดอายุุ”
ทำไว้ ๗ สค.๖๑ “สิ้นสุดการคุ้มครอง”  ๗ สค.๖๒
แล้วมาเกิดอุบัติเหตุ ๒๙ กย.๖๒
เมื่อพรบ.หมดอายุและไม่ต่อ….
ผลก็คือ ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ไม่ได้รับเงินคุ้มครองจากบริษัทประกัน
ต้องไปไล่เบี้ยกันเอง ระหว่างคนขับ เจ้าของรถ ผู้เสียหาย ประกันไม่เกี่ยว
ดูต่อซิ แล้วประกันภาคสมัครใจล่ะ รถกระบะคันนี้มีมั้ย?
ปรากฏว่า ไม่มี ไม่ได้ทำ!
ก็หมายความว่า ความเสียหายทุกประการ รถคันนี้ ไม่ได้รับความคุ้มครองใดทางกฎหมายเลย

นี่…ถ้าเราเจอแบบนี้ ใบ้รับประทาน ทำอะไรไม่ถูก
แต่จริงๆ แล้ว…….
ไม่โดดเดี่ยว-เดียวดายหรอก ภาครัฐมีหน่วยงานคอยช่วยเหลือ ๒๔ ชั่วโมงอยู่แล้ว
คือ สำนักงาน คปภ.ของดร.สุทธิพลนี่แหละ หากแต่เราไม่ค่อยได้สนใจกันเอง
เอ้า…จดติดรถไว้เลย
“สายด่วน คปภ.1186”

เกิดอุบัติเหตุ มีปัญหาอะไร โทรเบอรนี้ ปรึกษา-สอบถาม-ขอความช่วยเหลือด้านประกัน ได้ทันที
สำนักงานคปภ.มีทุกจังหวัด แล้วยังมีแบ่งเป็นภาคๆ คุมกลุ่มจังหวัด เพื่อกระชับงานช่วยเหลือให้มีประสิทธิภาพและทันท่วงที

ดูเคสนี้กันต่อ ……….
เมื่อประเทศสูญเสียกำลังหลักในอนาคตไปทีเดียว ๑๓ คน จากอุบัติเหตุรถ ทางคปภ.รีบเข้าไปตรวจสอบด้านสิทธิประโยชน์ให้ทันที
สั่งสำนักงาน คปภ. ภาค ๖ ที่ชลบุรี ประสานสำนักงานคปภ.พื้นที่ คือ สมุทรปราการ ไปสำรวจตรวจสอบ
ก็พบอย่างที่บอก พรบ.ขาดต่ออายุ ก็หมายความว่า รถกระบะคันนั้น ขาดต่อทะเบียนด้วย
แล้วรถกระบะ กฎหมายให้นั่งข้างท้ายได้ไม่เกิน ๕-๖ คน ห้ามนั่งขอบกระบะ และห้ามขับเร็ว
แต่ปาเข้าไปทั้งคัน ร่วม ๒๐ คน ประกง-ประกันอะไรไม่มีทั้งนั้น จะโทษใครล่ะ
โทษนายกฯ ต้องลาออก ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ปัญหานี้จึงไม่เกิดอย่างนั้นหรือ?

ดร.สุทธิพล สั่งตรวจสอบฐานข้อมูลประกันภัยทั้งหมด พอได้เบาะแส ประสานไปยังสำนักงานคปภ.ภาค ๕ อุบลฯ

ให้สำนักงานคปภ.จังหวัดศรีสะเกษ ภูมิลำเนานักศึกษาที่เสียชีวิต ประสานไปที่ “วิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ”
ในโชคร้ายยังมีโชคดีปะปน
ปรากฏว่า “วิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ” ทำประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มให้นักศึกษาไว้ กับ

“บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด”(มหาชน) แบบประกันอุบัติเหตุกลุ่ม ปี 2562 AEC Plus อัญมณี 1689
ในกรณี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทั่วไป จะได้รับความคุ้มครอง 100,000 บาท/คน
สาธุ……..!
ความดีนี้ต้องยกให้ผู้บริหาร “วิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ” กราบแทบเท้าแทนผู้ปกครองทุกคน
ก็เอาหละ ในความสูญเสียที่ “ไม่มีคู่กรณี” อย่างน้อยครอบครัวทั้ง ๑๓ นักศึกษา ก็มี ๑ แสนบาทเป็นค่าใช้จ่ายเบื้องต้น

แต่ก็ด้วยคปภ.อีกนั่นแหละ เมื่อพรบ.ขาด ทางคปภ.สมุทรปราการ ก็ประสานไปทาง “กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย”
กรณี “เสียหายเบื้องต้น” นี้ กองทุนจ่ายให้ผู้เสียชีวิตรายละ ๓๕,๐๐๐ บาท ผู้บาดเจ็บรายละ ๓๐,๐๐๐ บาท
ตอนนี้ คปภ.ประสานฝ่ายญาติฝ่ายประกัน เข้าใจกันตรงนี้ เพื่อรับและจ่ายกันแล้ว
จากตัวอย่างนี้ อยากให้ทุกคนทราบว่า เหนืออื่นใดทั้งปวง ในสิทธิอันพึงได้จากประกันภัย
จะมืดแปดด้าน หรือด้านเดียว สายด่วน คปภ.1186 คือ “สว่างทุกด้าน”
โทรไป…ทุกปัญหาประกันภัย “ได้หมด-สดชื่น”!
ครับ…นั่นเป็นนิติศาสตร์ ด้านประกันภัย

ทีนี้มาคุยไสยศาสตร์ ด้านคุ้มครองภัยกันบ้าง
คือ คนไทยกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์แยกกันไม่ออก รถร้อยคัน ๘๐-๙๐ คัน จะมีสิ่งคุ้มครองติดอยู่ในรถ
ของผมติดมากับรถเจ้าของเดิมเลย ก็แขวนที่กระจกหน้าอยู่อย่างนั้น
แต่ไม่รู้สินะ น่าจะทั้งพระทั้งคนขับไม่ประมาทนั่นแหละ บริษัทประกันจึงลดเบี้ยให้ทุกปี เพราะไม่เคยมีอุบัติเหตุ
ประเทศชาติ มี “พระสยามเทวาธิราช” คุ้มครอง
แล้วตัวบุคคลล่ะ ไปไหน-มาไหน ไม่มีอะไรคุ้มครองเลยหรือ?
ในความเห็นผม “ท้าวหิรัญพนาสูร” น่าจะเป็นเทพผู้ติดตามคุ้มครองคน
ตามบันทึกสมัย “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” บอกว่าเป็นยักษ์ผู้ปฏิบัติดี-ปฏิบัติชอบ ชื่อ “หิรันย์”

ไปโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จะเห็น “ท้าวหิรัญพนาสูร” ประดิษฐานอยู่ ณ ศาลเทพารักษ์ พระราชวังพญาไท ที่ฐาน มีคำจารึกว่า
“รูปท้าวหิรัญพนาสูรนี้ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างขึ้นเมื่อ วันเสาร์ที่ ๑๕ กรกฏาคม พุทธศักราช ๒๔๖๕ เวลา ๕ นาฬิกา กับ ๙ นาที ๔๑ วินาที หลังเที่ยง”
ผมว่า “ท้าวหิรัญพนาสูร” เทพารักษ์ประจำพระราชวังพญาไท นี่แหละ พกติดตัว-คุ้มตัว,พกติดรถ-คุ้มรถ,พกติดบ้าน-คุ้มบ้าน

ตำนานมีว่า สมัยรัชกาลที่ ๖ ยังทรงเป็น “เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร” เสด็จประพาสมณฑลพายัพ เมื่อปี พศ.๒๔๔๙
เสด็จต่อจากอุตรดิตถ์ ก็เป็นป่าดงดิบ ไม่มีถนนหนทาง เรียกว่าต้องดั้นด้นไป
ผู้ตามสเด็จต่างหวาดกลัวภยันตราย พระองค์จึงตรัสปลอบ ว่าตามปกติ เจ้านายเสด็จแห่งไหน จะมีทั้งเทพและอสูรฝ่ายดีตามคุ้มครอง ไม่ต้องกลัวอันใดไปหรอก

ก็เป็นตามนั้น ตกดึกมีผู้มาเข้าฝันข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ บอกว่าเป็นยักษ์ฝ่ายธรรมชื่อหิรันย์ คอยตามคุ้มครองป้องกันภัยให้
ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็น “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” ปีพศ.๒๔๕๓ รับสั่งให้ปั้นรูปหิรันยอสูร ขึ้น ๔ รูป พร้อมจัดเครื่องสังเวยเซ่นสรวง

เมื่อมีการก่อสร้าง “พระราชวังพญาไท” ปีพศ.๒๔๖๕ มีพระราชดำริ ให้มีศาลเทพารักษ์ประจำพระราชวัง
โปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูปท้าวหิรันยพนาสูรขนาดเท่าคนจริงขึ้น
ก็นี่แหละ น่าจะยึดถือเป็นเทพผู้คอยตามคุ้มครองป้องกันภัย ผมมีรูปหล่อท่านไว้ทั้งที่โรงพิมพ์ และที่บ้าน
ท่านคงคุ้มครองแน่ ……
ไม่งั้น เมื่อกลางดึก ๑๙-๒๐ พฤษภา.๕๓ ท่ามกลางเคอร์ฟิวส์ คงวอดไปแล้ว
มันบุกกันจะมาเผาโรงพิมพ์ แต่ถูกท้าวหิรัญพนาสูรผสมกองทัพประชาชนซ่องมังกรแดง ยันกระเจิงกลับไป
ไปหากันดูที่ “พระราชวังพญาไท” ในบริเวณโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้านั่นแหละ

ทราบว่าเมื่อปี ๕๘ “มูลนิธิพระราชวังพญาไท ในพระอุปถัมภ์ฯ” ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างรูปหล่อจำลอง “ท้าวหิรัญพนาสูร” ขนาดต่างๆ ไว้

“ครูบาบุญชุ่ม” ที่ขลังนักในเหตุการณ์ ๑๓ หมูป่า ท่านยังมาร่วมปลุกเสกด้วย
ครับ…

ก็ครบทั้ง วิทยาศาสตร์ นิติศาสตร์ และไสยศาสตร์ แต่อะไรก็ช่าง “ไม่ประมาท” เลิศสุด!

Written By
More from plew
จักรวาลนฤมิต “ฝ่ายค้าน” – เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน “นายประเสริฐ จันทร์รวงทอง” เลขาฯพรรคเพื่อไทยนี่ ไม่ใช่ขี้ไก่นะ เป็นถึง “มหาบัณฑิต” รัฐประศาสนศาสตร์ เชียวแหละ! แต่เมื่อวาน (๑๑...
Read More
0 replies on “คปภ.ภาค “ท้าวหิรัญพนาสูร””