นายก ฯ ดันไทยเป็นฐานผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสั่งการระหว่างการประชุมบอร์ดบีโอไอว่า แม้รัฐบาลกำลังรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

แต่ไทยต้องเตรียมทุกด้านให้พร้อมไว้ทั้งกฎระเบียบ แรงงาน โครงข่ายระบบดิจิทัลเพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ เดินตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนอุตสาหกรรมก้าวหน้าที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง โดยหนึ่งในนั้นคืออุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะ

นายกรัฐมนตรียังเสนอให้มีการใช้รถ EV (Electric Vehicles) ในส่วนราชการเป็นการนำร่อง ก่อนจะขยายไปรถขนส่งสาธารณะในปี 64 ด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ดบีโอไอครั้งล่าสุด ได้เห็นชอบให้มีการส่งเสริมการลงทุนการผลิตยานพาหนะไฟฟ้า (อีวี) รอบใหม่ ครอบคลุมการส่งเสริมยานพาหนะไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสารและรถบรรทุก รวมถึงเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า มุ่งเน้นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่เป็นหลัก (Battery Electric Vehicles: BEV) ให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมควบคู่ไปด้วยกันได้ สำหรับการลงทุนมากกว่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี หากน้อยกว่า 5,000 ล้านบาท จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี

ทั้งนี้ จะมีได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น เริ่มผลิตรถยนต์ภายในปี 2565 หรือมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา หากมีโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ Plug-in Hybrid Electric Vehicles หรือ PHEV ด้วย จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี โดยต้องการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อย 3 ชิ้น

2) กิจการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี

3) กิจการผลิตสามล้อไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี

4) กิจการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี

นอกจากนี้ ยังปรับปรุงขอบข่ายและสิทธิประโยชน์ของประเภทกิจการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า เพิ่มเติมรายการชิ้นส่วนสำคัญอีก 4 รายการ ได้แก่

1) High Voltage Harness 2) Reduction Gear 3) Battery Cooling System และ 4) Regenerative Braking System

พร้อมทั้งปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้จูงใจมากขึ้นสำหรับกิจการผลิตแบตเตอรี่ที่มีการลงทุนในขั้นตอนที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่ไม่มีการผลิตในประเทศ ในอัตราร้อยละ 90 เป็นระยะเวลา 2 ปี

กรณีที่มีขั้นตอนการผลิต Module หรือ Cell เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในภูมิภาค รวมทั้งการผลิตเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าด้วย โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2560 – 2562 มีโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมฯแล้ว 26 โครงการ มูลค่าการลงทุนกว่า 78,099 ล้านบาท โดย 7 โครงการที่มีการผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว แบ่งเป็น HEV (Hybrid Electric Vehicles) 3 ราย ได้แก่ นิสสัน ฮอนด้า และโตโยต้า / PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicles) 2 ราย ได้แก่ เมอร์เซเดส เบนซ์ และบีเอ็มดับเบิลยู และ BEV (Battery Electric Vehicles) 2 ราย ได้แก่ ฟอมม์ และ ทาคาโน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ในอนาคตโลกมีแนวโน้มการใช้รถ EV มากถึง 60% ของจำนวนรถยนต์ทั้งหมด ด้วยความชัดเจนในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ไทยจะสามารถรักษาความเป็นศูนย์กลางฐานการผลิต EV ของอาเซียน โดยขณะนี้มีนักลงทุนหลายราย หลายสัญชาติแสดงความพร้อมที่จะเข้าลงทุนใช้ไทยเป็นฐานผลิตรถ EV ซึ่งล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ยังเผยว่า



ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าอันดับหนึ่งของสหรัฐ ฯ ยังเข้ามาติดต่อรับข้อมูลด้วย นอกจากนี้ บอร์ด BOI ยังได้มีมติอนุมัติมาตรการกระตุ้นการลงทุนใน 3 ประเภทกิจการใหม่ ได้แก่ กิจการโรงพยาบาลผู้สูงอายุ กิจการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง และกิจการวิจัยทางคลินิกอีกด้วย อีกทั้งขยายเวลาและปรับปรุง “มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ” ให้ครอบคลุมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ โดยสามารถยื่นขอรับการส่งเสริมได้ถึง ธันวาคม 2565

Written By
More from pp
ประเพณีงานเจ เยาวราช 2566 “ใจบริสุทธิ์ สุขภาพดี มีมงคล” 14–23 ตุลาคม ศกนี้
กรุงเทพมหานคร โดย สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ ร่วมกับ สภาวัฒนธรรมเขตสัมพันธวงศ์ และนักธุรกิจในเยาวราช ผสานพลังชุมชน ร้านค้า ภัตตาคาร และประชาชนบนถนนเยาวราช
Read More
0 replies on “นายก ฯ ดันไทยเป็นฐานผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร”