เทคโนโลยีในการผ่าตัดหัวใจและทรวงอก (ตอนจบ)

อ.นพ.ภูวดล ฐิติวราภรณ์

หัวหน้าศูนย์ศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก

  โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์  

โรคหัวใจและปอดเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของคนไทย และพบอัตราการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวสูงขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี  อาทิ โรคหัวใจขาดเลือดในเขตกรุงเทพมหานคร มีถึง 35.6 : ประชากร 100,000 คน และมีแนวโน้มสูงขึ้น

ทั้งนี้ น่าจะเป็นจากสภาพสังคมเมือง ที่มีสภาวะการแข่งขัน และความเครียดสูง การรับประทานอาหารไม่ถูกตามหลักโภชนาการ การขาดการออกกำลังกายทำให้การป่วยโรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน สูงถึง 108.37 ต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่ทั่วทั้งประเทศ มีอัตราการป่วยเฉลี่ยด้วยโรคเดียวกัน 87.8:100,000 คน

ดังนั้น การป้องกันและการวินิจฉัยในระยะเริ่มต้น การรักษาที่รวดเร็วโดยทีมแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ การฟื้นฟูสมรรถภาพเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ตลอดจนการพัฒนาไปสู่นวัตกรรมทางการแพทย์ เครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษาอย่างสูงสุด จากปัญหาดังกล่าว ถึงแม้กรุงเทพมหานครจะมีศูนย์บริการโรคมากกว่าภาคอื่นในประเทศไทย แต่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงระบบ

ดังนั้น สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร จึงกำหนดแผนพัฒนาในโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ให้เป็นศูนย์บริการตติยภูมิเฉพาะทางด้านโรคหัวใจและปอดเพื่อสามารถให้บริการแบบครบวงจร และพัฒนาไปสู่ศูนย์เครือข่ายในการรักษาส่งต่อของผู้ป่วยและเป็นศูนย์การแพทย์ ตติยภูมิ แห่งแรกและแห่งเดียวในสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (ซึ่งมีโรงพยาบาล 11 แห่งในสังกัด) ที่มีความสามารถในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจอย่างครบวงจร ที่ดำเนินการให้บริการ วินิจฉัยและดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและ หลอดเลือดแบบครบวงจร มีเทคโนโลยีและเครื่องมือการแพทย์ที่ทันสมัย

ดูแลโดยทีมอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา และ บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูง นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางด้านองค์ความรู้เพื่อเผยแพร่แก่ ประชาชนและสังคม ทางศูนย์ฯประกอบด้วย สาขาวิชาต่างๆที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สาขาวิชาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก สาขาวิชาอายุรศาสตร์หัวใจและหลอดเลือด และ สาขาวิชาวิสัญญีวิทยาหัวใจและทรวงอก 

จากสถานการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นแนวโน้มการป่วยมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี และเป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพ ทางศูนย์ฯ เล็งเห็นความสำคัญของปัญาดังกล่าว จึงได้จัดการรณรงค์สื่อสารให้รับรู้เรื่องโรค ความรุนแรง การป้องกัน และร่วมมือในการปฏิบัติการลดเสี่ยงอย่างจริงจัง จะทำให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายมีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งมีประชาชนมีข้อสงสัยเรื่องเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ในการรักษาซึ่งมีคำตอบ ดังนี้

1.การใส่ขดลวดเปรียบเทียบกับการผ่าตัดบายพาสอย่างไหนดีกว่ากัน  

ปัจจุบันโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ หากอาการไม่มาก การตีบ 1-2 เส้น หรือ เส้นแบบไม่ซับซ้อนการรักษาด้วยการใส่ขดลวด อาจไม่ต่างกัน แต่การใส่ขดลวดผู้ป่วยจะมีระยะเวลาพักฟื้นที่เร็วกว่า เจ็บแผลน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยการทำบายพาส ยังคงเป็นการรักษาหลักในผู้ป่วยเส้นเลือดตีบหลายเส้น

แม้ว่าการรักษาเส้นเลือดตีบด้วยการทำบอลลูนและการใส่ขดลวดชนิดใหม่ หรือที่เรียกว่า Drug Eluting Stent จะให้ผลดี แต่การใส่ขดลวดเข้าไปในเส้นเลือดแดงที่ตีบอยู่เดิมย่อมตามมาด้วยภาวะการตีบตันซ้ำได้ง่ายกว่า กล่าวคือ ในผู้ป่วยที่มีการตับที่ไม่ซับซ้อนหรือยุ่งยากที่คำนวณเป็นแต้ม ที่เรียกว่า Syntax Score ที่ต่ำ ผลการรักษาในระยะ 5-8 ปีอาจไม่ต่างกัน

แต่ถ้าผู้ป่วยมีเส้นเลือดที่ตีบ 3 เส้นแบบยาก หรือซับซ้อน หรือผู้ป่วยที่การทำงานของหัวใจต่ำ โรคประจำตัวเช่นเบาหวานร่วมด้วยการรักษาด้วยการใช้เส้นเลือดแดงจากทั้งช่องอก 2 เส้น และเส้นเลือดแดงที่แขน ย่อมให้ผลการรักษาดีกว่า โดยเฉพาะอัตราการตีบตันซ้ำ ในระยะ10ปี จะน้อยกว่ามาก และโอกาสการที่จะเสียชีวิต หรือต้องมาadmitด้วยโรคหัวใจจะน้อยกว่ามาก


2. การผ่าตัดหัวใจส่องกล้องเป็นแผลเล็กหรือไม่

การผ่าตัดหัวใจมีการผ่าตัดโดยใช้กล้องช่วยผ่า และผ่าตัดให้แผลเล็กลง อย่างไรก็ตามการผ่าตัดที่แผลเล็กลง กลับไม่ใช่การผ่าตัดที่เล็กลง แต่เป็นการผ่าตัดที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งการวางแผนการผ่า การใช้เครื่องมือที่ทันสมัย และความเชี่ยวชาญของศัลยแพทย์ ปัจจุบันการรักษาด้วยการผ่าตัดใหญ่ยังคงเป็นมาตรฐานหลัก

หากแต่ศัลยแพทย์มีแนวโน้มที่จะลงแผลให้เล็กมากขึ้น ทั้งจากแผลเดิม ลดขนาดลงครึ่งนึง หรือเปลี่ยนทางเข้าไปหาหัวใจผ่านทางช่องอก แทนที่จะเข้าด้านหน้าหัวใจ โดยสิ่งที่ศัลยแพทย์หัวใจ คำนึงถึงเป็นอันดับแรกก็คือ ความปลอดภัย และผลลัพธ์ในการรักษา จะต้องไม่น้อยไปกว่าการผ่าตัดมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มผ่าตัดแผลเล็กไปบ้างแล้ว และอยู่ในช่วงของการเริ่มต้นเลือกวิธีการผ่าตัด ที่เหมาะสม และปลอดภัยกับผู้ป่วยเป็นสำคัญ

3.การผ่าตัดเส้นเลือดแดงใหญ่ (Aorta) สามารถใส่ขดลวดทางขาหนีบได้หรือไม่ 

ปัจจุบันการรักษาเส้นเลือดแดงใหญ่โป่ง หรือฉีกขาดบางตำแหน่ง การรักษาด้วยขดลวด ถูกนำมารักษาผู้ป่วยมากขึ้น เนื่องจากการผ่าตัดด้วยวิธีเปิด อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้มาก

อย่างไรก็ตาม การใส่ขดลวดยังไม่สามารถทำได้ในลักษณะการฉีกขาดทุกรูปแบบ การรักษาด้วยการผ่าตัดเปิด หากผ่าได้ผลดี ผู้ป่วยจะไม่ต้องกลับมาทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บ่อย ๆในอนาคต โดยทางโรงพยาบาลเจริญกรุงฯ มีการพิจารณาและทำการผ่าตัดทั้งแบบเปิด แบบใส่ขดลวด และ แบบผสมหรือที่เรียกว่า Hybrid Operation

4. ผ่าตัดปอดแบบเปิด กับส่องกล้อง ต่างกันอย่างไร 

ทุกวันนี้ การผ่าตัดแบบส่องกล้อง โดยเฉพาะการผ่าตัดแผลเดียว ให้ผลลัพธ์ ทางการรักษาที่ดีมาก กล่าวคือ แผลเล็กกว่าเดิม ฟื้นตัวไว กลับบ้านไว โดยที่ผลลัพธ์ ทางด้านการเอาเนื้อร้ายออกได้หมด และผลการรักษาดีเทียบเท่ากับการผ่าตัดแบบเปิด นอกจากนี้ปัจจุบันการผ่าตัดปอดแบบน้อยกว่า 1 กลีบหรือ ที่เรียกว่า Sublobar Resection ในคนไข้ที่ไม่สามารถทนต่อการผ่าตัดปอดทั้งกลีบได้ ก็เริ่มมีที่ใช้ในมะเร็งระยะเริ่มต้น

5.นอกจากผ่าหัวใจ ลิ้นหัวใจ เส้นเลือดแดงใหญ่และปอด ทางโรงพยาบาลมีการผ่าตัดชนิดอื่นด้วยหรือไม่   

โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ มีความพร้อมด้านหัวใจ โดยมีการดูแลทั้งหัวใจเด็ก และผู้ใหญ่ ทั้งในด้านของการผ่าตัดบายพาสแบบใช้และไม่ใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม ผ่าตัดซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ผ่าเส้นเลือดแดงแบบเปิดหรือใส่ขดลวด ผ่าตัดปอดทั้งส่องกล้อง 1 แผลเล็ก หรือแบบเปิด และการผ่าตัดหัวใจพิการแต่กำเนิดบางประเภท

เริ่มจากการดูแลตั้งแต่วางแผนและพูดคุยก่อนการผ่าตัด การนัดพบหมอกายภาพบำบัดหัวใจเพื่ออธิบายเรื่องการฟื้นฟูหัวใจ การผ่าตัดได้มาตรฐาน โดยศัลยแพทย์หัวใจ 2  ท่านเข้าผ่าตัดในทุกราย หลังการผ่าตัดก็มีทีมดูแลในห้อง ICU ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย และสุดท้ายทีมกายภาพจะนัดมาเดินสายพานเพื่อเช็คสมรรถภาพ วัดค่า Vo2 Max เพื่อที่ผู้ป่วยจะกลับไปแข็งแรงและใช้ชีวิตได้ดีกว่าเดิมครับ

สุดท้ายแล้วอยากให้ประชาชนคนไทยดูแลสุขภาพของตนเองและคนใกล้ชิด ควบคู่ไปกับการรักษาหากเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว เพราะโรคหัวใจไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เรากังวลกันครับ  

ทาง ศูนย์ผ่าตัดหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ขอเชิญประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมงานเสวนาภาคประชาชน ในโครงการให้ความรู้ประชาชน เรื่อง “เทคโนโลยีในการผ่าตัดหัวใจและทรวงอก”

ในวันอังคารที่ 15 ธันวาคม 2563 เวลา 09.00-12.00 น. ห้องประชุมอุดมสังวรญาณ ชั้น 23 อาคาร ๗๒ พรรษา มหาราชินี โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์  

ผู้ที่สนใจสามารถขอรับคำปรึกษาและตรวจคลื่นหัวใจ ได้ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย ลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่  โทรศัพท์ 06-2416-4536

หรือร่วมบริจาคเพื่อสร้างห้องผ่าตัดหัวใจไฮบริดได้ที่ สำนักงาน มูลนิธิโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ เพื่อห้องผ่าตัดหัวใจ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2289-7368 หรือทางเว็บไซต์ www.ckphosp.go.th

Written By
More from pp
DITTO จับมือ “วงษ์สยาม –TEAMG” ตั้งบริษัทใหม่ ทุนจดทะเบียน 2 พันล้าน เผย 9 เดือนกำไรแตะ 200 ล้าน ระบุ Q3 นิวไฮทะลุ 70 ล้าน
บอร์ดไฟเขียว DITTO ร่วมลงทุนวงษ์สยามและ TEAMG ตั้งบริษัทพัฒนาและบริหารจัดการน้ำ ทุนจดทะเบียน 2,000 ล้าน และตั้ง บริษัทดีทีเอ็กซ์ โดย DITTO...
Read More
0 replies on “เทคโนโลยีในการผ่าตัดหัวใจและทรวงอก (ตอนจบ)”