จุฬาฯ เปิดมิติใหม่ปลุกไทยต้านคอร์รัปชัน ประยุกต์กลยุทธ์ตลาดสู่โมเดลสร้างพลเมืองตื่นรู้สู้โกง

คณะวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอผลงานวิจัย “กลยุทธ์ในการสื่อสารด้านการต่อต้านคอร์รัปชันที่เหมาะสำหรับคนไทย 4.0” ชูแนวคิดใหม่ในการกำหนดรูปแบบและวิธีการกระตุ้นประชาชนต้านโกงอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งริเริ่มเครื่องมือชี้วัดการต่อต้านคอร์รัปชันแต่ละบุคคลอีกด้วย

กว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา คณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำโครงการวิจัย “การตลาดเชิงประยุกต์สำหรับกระตุ้นและจำแนกกลุ่มประชาชนที่มีความตระหนักรู้เกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชัน” โดยได้รับการสนับสนุนการวิจัยจาก สำนักงานวิจัยแห่งชาติ ภายใต้แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม “คนไทย 4.0” (Khon Thai 4.0) โดยมี ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด เป็นประธานบริหารแผนงาน และมีทีมวิจัยซึ่งประกอบด้วย และทีม Hand Social Enterprise

ผศ.ดร. ต่อภัสสร์ ยมนาค อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าคณะวิจัยเปิดเผยว่า การศึกษาการคอร์รัปชันในประเทศไทยที่ผ่านมา จะมุ่งเน้นในเชิงประเด็นเป็นหลัก (Issue-centric) ไม่ได้มีการศึกษาในเชิงบุคคลที่เกี่ยวข้อง (Actor-centric) ขณะที่การกำหนดนโยบายและกลไกในการต่อต้านคอร์รัปชันก็มีลักษณะจากบนลงล่าง (Top-down) ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา และมีส่วนร่วมจากประชาชนน้อย เพราะไม่ได้เกิดจากลักษณะของปัญหาหรือแก่นของปัญหาจริงๆ

ด้วยเหตุนี้ คณะวิจัยจึงมุ่งเน้นการศึกษาภาคประชาสังคม โดยนำศาสตร์ด้านการตลาดมาประยุกต์ใช้เพื่อให้สามารถแบ่งกลุ่มเป้าหมายได้ว่า กลุ่มคนที่มีความต้องการต่อต้านคอร์รัปชันมีลักษณะที่แตกต่างหลากหลายกันอย่างไร เช่นเดียวกับนักการตลาดที่ต้องมีการกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งจะนำไปสู่การออกแบบกลยุทธ์สื่อสารที่กระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้คนเข้ามาร่วมต้านโกงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“นับเป็นครั้งแรกที่มีการเปลี่ยนวิธีการศึกษาการคอร์รัปชันโดยใช้ปัจจัยเชิงสังคม วัฒนธรรม และจิตวิทยา ซึ่งเป็นการจำแนกกลุ่มคนจากไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน จากเดิมที่ใช้ปัจจัยเชิงประชากรศาสตร์ เช่น อาชีพ เพศ อายุ และระดับรายได้”

ปัจจุบัน มีองค์กรภาคประชาชนต้านโกงที่มีความเข้มแข็ง อาทิ ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และสำนักข่าวอิศรา ซึ่งประชาชนเป็นกลไกสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน แต่คำถามคือ ทำอย่างไรจะขยายเครือข่ายให้เพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว


ดังนั้น ทีมนักวิจัยจึงมีแนวคิดในการสร้างองค์ความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้คนไทยกลายเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง (Active Citizen) และเป็นนักข่าวพลเมืองที่ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงไปด้วย ซึ่งรูปแบบนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างได้อย่างมาก

ขณะเดียวกัน คณะวิจัยยังคาดหวังให้องค์ความรู้ใหม่นี้เป็นแนวทางในการเพิ่มประสิทธิผลของกลไกการรับข้อร้องเรียน และสร้างเสริมธรรมาภิบาลให้กับหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น

ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหนึ่งในทีมวิจัย อธิบายในรายละเอียดว่า ผลจากการนำศาสตร์การตลาดมาประยุกต์ใช้ ทำให้เป็นงานวิจัยแรกที่สามารถจำแนกกลุ่มคนที่ต่อต้านคอร์รัปชัน และลักษณะซ่อนเร้นที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ กระบวนการศึกษาแบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยการศึกษาที่ 1 ทำให้ค้นพบว่า สามารถแบ่งกลุ่มคนได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งมีองค์ประกอบซ่อนเร้นที่สำคัญ 6 ด้าน คือ บรรทัดฐานส่วนตน โอกาสในการเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน การยอมรับความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจ ความยึดมั่นในกลุ่ม การหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอน และความเป็นชาย

การศึกษาที่ 2 เป็นการลงพื้นที่ศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 719 คน ซึ่งผลการศึกษาสามารถแบ่งกลุ่มคนออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ The Frontline (กลุ่มที่เชื่อว่าปัญหาสามารถแก้ไขและเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการกระทำของตน) 17.10%  The Exampler (แม้จะมีความต้องการต่อต้านคอร์รัปชันเหมือนกลุ่มแรก  แต่ไม่ถึงขั้นร่วมปราบปรามคอร์รัปชัน)  27.68%  The Mass (กลุ่มที่ไม่ชอบคอร์รัปชัน แต่ไม่ออกมาต่อต้าน) 45.34%  และ The Individualist (กลุ่มที่ไม่สนใจและไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชัน) 9.88%

นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาเครื่องวัดการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยพบว่า ระดับการต้านโกงแบ่งออกได้เป็น  4 มิติ ได้แก่ มิติการรับรู้ประเด็นปัญหา มิติการป้องกัน มิติยืนหยัด และมิติการระงับปราบปราม ซึ่งวิธีการวัดดังกล่าวจะกลายเป็นเครื่องมือที่นักวิจัยในอนาคตสามารถนำไปใช้ เพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันได้อีกมาก

 

 

 

 

ผศ.ดร.เอกก์ ชี้ว่า ผลจากการศึกษาที่ 1 และ 2 แสดงให้เห็นว่า การวิจัยด้านการต่อต้านคอร์รัปชันมีมุมมองของกลุ่มประชากรเป็นกลุ่มเดียวกันนั้นอาจไม่เหมาะสม เนื่องจากความแตกต่างของลักษณะที่ซ่อนเร้นจากนั้นนำมาสู่การศึกษาที่ 3 โดยเลือกสองปัจจัยซ่อนเร้นที่น่าสนใจมากคือ บรรทัดฐานส่วนตน และความเป็นชาย มาทำการทดลองโดยใช้เทคนิคเชิงจิตวิทยา (priming) และการใช้เกมส์คอมพิวเตอร์ โดยพบว่า บรรทัดฐานส่วนตนมีความสัมพันธ์ทางตรงกับการต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งผู้ที่มีบรรทัดฐานส่วนตนต่ำจะต่อต้านคอร์รัปชันต่ำ ดังนั้น การให้ความรู้และปลุกจิตสำนึกเพื่อสร้างบรรทัดฐานทางสังคมให้สูงขึ้นจะส่งผลให้การต่อต้านคอร์รัปชันสูงขึ้นด้วย

 

ส่วนกลุ่มที่มีความเป็นชายสูงจะมีการต่อต้านคอร์รัปชันต่ำ กลุ่มที่มีความเป็นชายต่ำจะมีการต่อต้าน            คอร์รัปชันสูง ฉะนั้น การปลุกจิตสำนึกและทัศนคติด้านความเท่าเทียมระหว่างชายหญิงทั้งในแง่ความสามารถ การได้รับการยอมรับ อาชีพ หน้าที่ และอื่นๆ จะสามารถเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างให้เกิดการต่อต้านคอร์รัปชันได้มากขึ้น

 

ผศ.ดร.เอกก์ กล่าวอีกว่า ผลจากการวิจัยนี้ ทำให้ผู้กำหนดนโยบายยังสามารถลดต้นทุนการกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านคอร์รัปชันได้ โดยไม่จำเป็นต้องหว่านทรัพยากร ทั้งงบประมาณและบุคลากรไปกับทุกคน เนื่องจากการลงทุนกับกลุ่มคนบางกลุ่มอาจจะไม่คุ้มค่า เช่น กลุ่ม The Mass และกลุ่ม The Individualist ดังนั้น หน่วยงานรัฐสามารถจัดลำดับความสำคัญในการลงทุน เพื่อสร้างพฤติกรรมการต่อต้านคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

การแบ่งกลุ่มเป้าหมายยังส่งผลต่อการวางแผนกลยุทธ์สื่อสาร เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการต่อต้านคอร์รัปชัน จากเดิมที่มีลักษณะเป็นการสื่อสารถึงกลุ่มคนจำนวนมาก (Mass Communications) มาเป็นการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ เปลี่ยนวิธีการสื่อสารจาก Push Strategy มาเป็น Pull Strategy และทำเป็นกลยุทธ์ระยะยาว

 

ด้าน ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานบริหารแผนงานบูรณาการยุทธศาสาตร์เป้าหมาย คนไทย 4.0 ซึ่งให้การสนับสนุนโครงการวิจัยนี้ว่า เรื่องคอร์รัปชันเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสุขของประชาชน อันเป็นเป้าหมายของแผนงานคนไทย 4.0

 

ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีการนำศาสตร์การตลาดมาใช้ในการสื่อสารการต่อต้านคอร์รัปชัน ดังนั้น การวิจัยนี้ถือเป็นการให้องค์ความรู้ใหม่ในการต่อต้านการคอร์รัปชัน (New contribution) โดยจะทำให้ประชาชนมีความเข้าใจและเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

 

“นอกจากออกแบบการสื่อสารที่เหมาะสม และดึงดูดกลุ่มคนที่ต้องการต่อต้านคอร์รัปชันให้มีส่วนร่วมมากขึ้นแล้ว เราต้องหาแนวร่วม และต้องสร้างเครือข่ายให้กว้างขึ้นบนแพลตฟอร์มที่มีพลัง เพราะคนไทย 4.0 จะเป็นมนุษย์ที่อยู่กับแพลตฟอร์มตลอดเวลา”

 

 

ด้าน ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ แนะว่า สื่อออนไลน์จะมีบทบาทอย่างมากในการสร้างการรับรู้แนวคิดและรูปแบบใหม่ที่ได้จากงานวิจัยนี้ไปยังกลุ่มเป้าหมาย และขยายเครือข่ายคนที่ต้องการต่อต้านคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยมีต้นทุนต่ำ ไม่ว่าจะเป็น YouTube, TikTok, twitter หรือ facebook

 

ขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การสื่อสารจากการเน้นภาพที่สื่อถึงความรุนแรง มาเป็นการสร้างกระแสการต่อต้านคอร์รัปชันในเชิงไลฟ์สไตล์ เช่น กลุ่มคนที่มีความเป็นชายต่ำจะมีการต่อต้านคอร์รัปชันสูง ซึ่งเป็นการปลุกจิตสำนึกและทัศนคติด้านความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิงในแง่ความสามารถ การได้รับการยอมรับด้านอาชีพ หน้าที่การงาน หรืออื่นๆ

Written By
More from pp
GULF จับมือ GUNKUL เดินหน้าตั้งบริษัทร่วมทุน ตั้งเป้าผลิตพลังงานสะอาด 1,000 เมกะวัตต์ภายใน 5 ปี
บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ประกาศตั้งบริษัทร่วมทุน ร่วมกับ บริษัท กันกุล...
Read More
0 replies on “จุฬาฯ เปิดมิติใหม่ปลุกไทยต้านคอร์รัปชัน ประยุกต์กลยุทธ์ตลาดสู่โมเดลสร้างพลเมืองตื่นรู้สู้โกง”