“สีส้ม-สีเขียว”จะจบมั้ย?

เปลว สีเงิน

เห็นข่าว รฟม. “ล้มประมูล”…….
โครงการรถไฟฟ้า “สายสีส้ม” ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อวาน (๓ กพ.๖๔)
เรื่องแรกที่นึกถึง คือ ที่ป.ป.ช.แถลงวันก่อนผลสำรวจการจัดอันดับความโปร่งใสขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ที่ได้ประกาศคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ประจำปี พ.ศ.๒๕๖๓
จากจำนวน ๑๘๐ ประเทศ ทั่วโลก
คะแนนเต็ม ๑๐๐ ไทยได้ ๓๖ คะแนน ดำมืดอยู่อันดับ ๑๐๔ ของโลก และที่ ๕ ของอาเซียน คู่กับเวียดนาม
ในหัวข้อ “การติดสินบนและคอร์รัปชัน” คะแนนลดลง ๔ คะแนนด้วยซ้ำ

โดยผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่า…..
“ยังมีปัญหาการให้และรับสินบนและการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐ ยอมรับสินบนในการลักลอบเปิดบ่อนการพนัน ปัญหาสินบนจากลักลอบเข้าประเทศของแรงงานผิดกฎหมาย”

ในหัวข้อ “การแต่งตั้งโยกย้าย-การจ่ายใต้โต๊ะซื้อสัญญา สัมปทาน”
ผู้เชี่ยวชาญ EIU เห็นว่า ประเทศไทยคงมีปัญหาไม่แตกต่างปี ๒๕๖๒ ในเรื่องความโปร่งใสในการจัดสรรและการใช้จ่ายงบประมาณ
การใช้ทรัพยากรของราชการ, การแต่งตั้งข้าราชการจากรัฐบาลโดยตรง, การตรวจสอบการจัดการงบประมาณ
และปัญหาเกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัติในการให้สินบนเพื่อให้ได้สัญญาหรือสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐ”

ผลสำรวจนี้ เชื่อได้แค่ไหน ไม่ทราบ?
แต่การที่รฟม.ในกำกับ “กระทรวงคมนาคม” ล้มประมูลสายสีส้ม ทำให้ผลสำรวจนี้ น่าเชื่อถึง ๙๙%

เฉพาะประเด็น “สินบนเพื่อให้ได้สัญญาหรือสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐ”

“สีส้ม” กับ “สีเขียว” ดูมันจะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างไปแทบทุกเรื่อง ไม่แค่รถไฟฟ้า กับเรื่องการเมืองก็ยังเป็น!?

เขานินทากันทั้งเมือง เพราะคนการเมืองร่วมรัฐบาลด้วยกัน แบ่งผลประโยชน์กันไม่ลงตัว

“ผลประโยชน์ประชาชน” จึงถูกจับขึงพืด ในเกมต่อรอง
“นายกฯประยุทธ์” เสื่อมทางน่าเชื่อถือมาก ประเด็นเริ่มจากการต่อสัมปทานสายสีเขียวส่วนต่อขยายกับบีทีเอส ที่ยืดเยื้อมาแต่สมัยคสช.
ใช้ม.๔๔ ก็แบะแฉะ ไม่จบ

จนมาเป็น “รัฐบาลพรรคผสม” ก็นั่งหัวโต๊ะ ถึงคราวจะทำโครงการสายสีส้ม มูลค่ากว่าแสนล้าน แต่ละค่ายต่างมุดมุ้งการเมือง
รฟม.เปิดประมูล แต่มาเปลี่ยนแปลง TOR หลังจากที่มีการขายซองประกวดราคาไปแล้ว จนเกิดการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง
เรื่องก็ยังคาศาล ริมๆ จะมีคำวินิจฉัยอยู่รอมมะร่อ แล้วเมื่อวาน รฟม.ก็ชิง “ล้มประมูล”!

ล้มเพราะอะไร?
ก็สารพัดอ้างได้ แต่เด็กวานซืนก็ดูออก ถ้าไม่ล้ม ศาลให้ยึดตาม TOR เดิม รฟม.งานน่าจะไม่เข้าตา “ใครบางคน” แน่

เมื่อล้ม ปัญหาจะแตกลูก-แตกหน่อไปอีกมาก
และนั่น จะทำให้โครงการนี้หยุดชะงัก คือล่าช้าออกไปเป็นปี

เว้นแต่ “คนร่วมครม.” ยื่นหมู-ยื่นแมวกันได้ ในเรื่องข้าไม่ค้านเอ็งต่อสัญญาสัมปทานส่วนต่อขยายให้บีทีเอส

แล้วเอ็งก็ไปบอกให้พวกเอ็ง “หลีกทางให้พวกข้าชนะประมูลสายสีส้ม”!

เนี่ย…มันก็ประมาณนี้
ทุเรศหรือไม่ อยากรู้ไปถามนายกฯ เอง หรือไปถามพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย หรือนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ทั้ง ๒ คนนี้ อาจตอบได้
เพราะโครงการสีเขียว ของ BTS หรือนายคีรี “กทม.เจ้าของ” พลเอกอนุพงษ์ รัฐมนตรีมหาดไทย ผู้กำกับเรื่องนี้

ส่วนสายสีส้ม ของ BEM หรือ ช.การช่าง “รฟม.เจ้าของ” นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีคมนาคม ผู้กำกับ

อันที่จริง แรกๆ เรื่องต่อสัญญาสัมปทาน กับบีทีเอส ในครม.ไม่มีใครค้าน
แต่พอเปิดประมูลสายสีส้ม เหลือคู่แข่ง ๒ ค่ายหลักที่จะชิงกัน คือค่าย BEM ของ รฟม.กับค่าย BTS ของกทม.

จู่ๆ รฟม.เกิดเปลี่ยน TOR กลางคัน แล้ว BTS ฟ้องศาลปกครอง จากนั้น จะด้วยข้อมูลใหม่อย่างไรก็ไม่ทราบ

“คมนาคม” ค้านต่อสัมปทานสีเขียวให้บีทีเอส!
จนลามไปสู่วันที่ ๑๖ กุมภา.ที่จะถึง …
กทม.ประกาศราคาค่าโดยสารสายสีเขียวใหม่ ตลอดสาย ๑๐๔ บาท
สรุปคือ รัฐบาลเขาตกลงผลประโยชน์ระหว่างพรรคกันยังไม่ลงตัว ความซวยลงที่หัวประชาชน!

๑๐๔ บาทนี่ ถือว่าราคาโควิด ต่อไปหมดโปร ตลอดสายจะเป็น ๑๕๘ บาท

อันที่จริง สรุปลงตัวกันแล้ว คือขณะนี้ สัญญาสัมปทานของบีทีเอส ยังเหลือ ๙ ปี
ถ้าขยายสัมปทานให้บีทีเอส ช่วง “หมอชิด-อ่อนนุช” และช่วง “สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน” ออกไป ๓๐ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๗๒-๒๖๐๒

บีทีเอสจะแบ่งรายได้ค่าโดยสารให้ กทม. ประมาณ ๒ แสนล้านบาท และจ่ายหนี้แทน กทม.ประมาณ ๖๘,๐๐๐ ล้านบาท

ที่สำคัญ….
บีทีเอส จะเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน ๖๕ บาท ลดลงจากอัตราเดิม ซึ่งตลอดสาย ๕๕ กม.จะเป็นค่าโดยสารสูงสุด ๑๕๘ บาท!

มหาดไทยเสนอต่อครม.แต่คมนาคมตีกลับ!

ถ้าจะแย้ง มันก็แย้งได้
แต่ถ้าบอก “สายสีเขียว” และส่วนต่อขยาย รัฐไม่ได้ช่วยเหลือเลยซักบาท!
ต้องใช้รายได้มาชำระต้นทุนการก่อสร้างเองทั้งหมดเป็นแสนล้าน แถมยังต้องแบ่งรายได้ให้กทม.กว่าสองแสนล้านบาท
แล้วยังจะแย้งอีกมั้ย?

และส่วนต่อขยาย ค่าโดยสารตก ๑.๒๓ บาท/กม. เทียบกับสายอื่นๆ ของรฟม.แล้ว เช่น สายสีม่วง สีน้ำเงิน รัฐบาลออกค่าก่อสร้างให้ทั้งหมด ทั้งระยะทางก็สั้นกว่า
แต่ค่าโดยสารแพงกว่าสายสีเขียว!

ทั้ง BEM ผู้รับสัมปทานเก็บค่าโดยสารแล้วไม่ต้องแบ่งให้รฟม.ผู้เป็นเจ้าของโครงการ และทั้งไม่ต้องรับภาระหนี้สินแทนรฟม.
ต่างกับบีทีเอส แบ่งค่าโดยสารให้กทม.แล้วยังไม่พอ ยังต้องรับใช้หนี้แทน กทม. ทั้งหมดด้วย

ว่าไปแล้ว การต่อสัมปทานให้บีทีเอส ก็สมเหตุ-สมผล ไม่ควรยกประเด็นหยุมหยิมมาคลุมเจตนาซับซ้อนแห่งจิตแล้วอ้างรักษาผลประโยชน์ชาติเป็นทองปิดหน้าผากจิ้งจอก!

จะอ้างว่า เหลืออีกตั้ง ๙ ปี ค่อยเปิดประมูลใหม่ หรือจะให้รฟม.จัดการเดินรถก็ได้
พูดไปวันๆ เฉพาะหน้า ตามภาษาราชการและการเมืองว่าด้วยผลประโยชน์ทางการประมูลแต่ละครั้ง มันพูดง่าย

แต่ถึงเวลาทำ ระบบราชการและการเมือง เคยมีอะไรมั้ย ที่มันง่ายและเสร็จได้ตามปาก!?

ถามปลัดมหาดไทย “นายฉัตรชัย พรหมเลิศ” ดูก็ได้ เขาอยู่ในระบบประมูลทางราชการมาช่ำชอง น่าจะตอบได้ตรง
เปลี่ยนสัมปทานการเดินรถไฟฟ้านั้น มันเปลี่ยนได้

แต่ที่จะไม่เกิดคำว่า “ขออภัยในความขัดข้อง” เป็นที่เดือดร้อนคนเป็นแสนๆ ต่อวัน ตอนช่วงเปลี่ยนผ่านนั่นน่ะ

ท่านรัฐมนตรีคมนาคมหรือท่านผู้ว่าการรฟม.จะอยู่เพื่อเอาหัวเป็นประกันตอนนั้น ว่าจะไม่เกิดมั้ย?

“สายสีส้ม” มันมีอะไรนักหนา ถึงเป็นปัญหาขี้คาคอห่าน ครม.ผมก็สงสัยเหมือนกัน

ดูตามเส้นทาง มันวิ่งผ่าใจกลางเมือง เชื่อมตะวันออก-ตะวันตก กลายเป็นสายหลัก ที่สายใต้ดิน-บนดิน “ทุกสาย” มาเชื่อม
เรียกว่า “สายเดียว” เกี่ยวทุกสาย ไปได้ทั่วกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ-นนทบุรี-ปทุมธานี เผลอๆ ถึงสมุทรสาคร

ต้องเจาะอุโมงค์ ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา แถวๆ เกาะรัตนโกสินทร์

เพราะอย่างนี้ TOR ที่แก้กลางคัน ถึงเน้นให้เอาคะแนนเทคนิกมาควบคู่กับราคา ไม่รู้แก้เพื่อ “ล็อคสเปก” ให้เจ้าไหนหรือเปล่า?

ระหว่างเจ้า BTS ทีมคีรี กับเจ้า BEM ทีม ช.การช่าง

พูดถึง BTS ข้อเสนอที่ตกลงกันในการต่อสัมปทาน ฝ่ายไหนได้เปรียบ-เสียเปรียบก็ว่ากันไป

สำหรับผม การปักใจมั่นคงในการลงทุนของนายคีรี แรกๆ บีทีเอส สิบปีแรกขาดทุนยับ หุ้นเหลือ ๕๐ ตังค์หรือบาทกว่า

ทักษิณตอนเป็นนายกฯ บีบจะฮุบ แต่คีรีฮึด!
ผมนับถือใจเขาแต่ตอนนั้น

และนี่ เป็นแต้มต่อเล็กๆ ที่ผมพอใจเห็น BTS อยู่กับการเติบโตของประเทศนะ.

 

Written By
More from plew
“วัว-ควายต้องต้อน-คนต้องนำ”
“เรามีเวลาซ้อมใหญ่ มา ๒ เดือนแล้ว ขณะนี้ ทุกคนจะต้องทำจริง ไม่มีการซ้อมอีกแล้ว” -ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ๑๕ มีค.๖๓
Read More
0 replies on ““สีส้ม-สีเขียว”จะจบมั้ย?”