พังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท รักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดแผล 

ใช้งานมือหนักอย่างต่อเนื่องเสี่ยงกล้ามเนื้อมืออ่อนแรงจากภาวะข้อมือกดทับเส้นประสาท ปล่อยไว้นานไม่รีบรักษาอาจทำให้เส้นประสาทเสียหายถาวร 

พฤติกรรมการใช้มือผิดท่าหรือใช้งานหนักเกินไป โดยเฉพาะในลักษณะจับ กำ เกร็งวัตถุด้วยการออกแรงมากในท่าเดิมนาน ๆ เช่น การขับรถ ทาสี เย็บปักถักร้อย เล่นดนตรี ถือของหนัก หรือแม้แต่การออกกำลังกายในบางท่า ล้วนเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้งานนิ้วมือและข้อมืออย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาทได้ 

นายแพทย์นรฤทธิ์ ล้วนจำเริญ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า พังผืดที่ข้อมือกดทับเส้นประสาท หรือ CTS (Carpal tunnel syndrome) เกิดจากพังผืดบริเวณข้อมือหนาตัวขึ้นจากการใช้งานมือในท่าเดิมเป็นเวลานาน จนไปกดทับเส้นประสาท Median nerve ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่ทำหน้าที่รับความรู้สึกของนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนางครึ่งนิ้ว และเลี้ยงกล้ามเนื้ออุ้งมือด้านหัวแม่มือ เมื่อเส้นประสาทถูกกดทับจึงทำให้เกิดอาการชามือ ปวด เมื่อย แสบร้อน รู้สึกเหมือนมีไฟฟ้าช็อตที่มือ อาจเป็นช่วงกลางดึกหรือหลังตื่นนอนหลังการใช้งานต่อเนื่อง โดยจะมีอาการมากขึ้น ถี่ขึ้นหรือตลอดเวลาเมื่อโรครุนแรงขึ้น จนกล้ามเนื้ออุ้งมือเหี่ยว ลีบลง กำลังมืออ่อนแรง หยิบจับสิ่งของไม่ถนัดหรือหลุดมือ

“จริง ๆ แล้วพังผืดที่ข้อมือมีหน้าที่เพิ่มความแข็งแรงและทำให้รับรู้แรงของข้อมือ รวมถึงช่วยให้เส้นเอ็นบริเวณข้อมือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การใช้งานมือในลักษณะจับ กำ เกร็งวัตถุแบบใช้แรงมากและเป็นเวลานานจะทำให้พังผืดหนาขึ้น ซึ่งสามารถหนาได้ถึง 3 – 4 มิลลิเมตร จนไปกดทับเส้นประสาท โดยโรคนี้พบบ่อยในกลุ่มคนที่ใช้งานมือค้างในท่างอหรือแอ่นมากเกินไป รวมทั้งการใช้เครื่องมือที่สั่นสะเทือนเป็นประจำ” นายแพทย์นรฤทธิ์กล่าว

สำหรับการวินิฉัยโรค แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจไฟฟ้าวินิจฉัย Electrodiagnosis เพื่อประเมินความรุนแรงของโรคและยืนยันการวินิจฉัย ส่วนการรักษาพังผืดที่ข้อมือกดทับเส้นประสาท หากเป็นระยะเริ่มต้นสามารถรักษาได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้งานมือ รับประทานวิตามิน ยาแก้อักเสบ ยดลดความไวต่อเส้นประสาท ใส่อุปกรณ์ประคองข้อมือให้อยู่ในท่าตรง แช่น้ำอุ่น กายภาพบำบัด หรือฉีดสเตียรอยด์เพื่อลดความหนาของพังผืด แต่สเตียรอยด์จะมีฤทธิ์นาน 3 – 6 เดือน และไม่ควรฉีดเกิน 2 ครั้ง เพราะอาจส่งผลกระทบต่อเส้นเอ็นได้

ในกรณีที่อาการรุนแรงแพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัด ซึ่งมีทั้งการผ่าตัดแบบเปิดแผลบริเวณกลางอุ้งมือความยาว 2 – 4 เซ็นติเมตร และต้องปิดแผลเป็นเวลา 10 -14 วัน ซึ่งการผ่าตัดวิธีนี้อาจเกิดการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทฝอยและชั้นผิวหนังได้ นอกจากนี้ยังมีวิธีการผ่าตัดแบบผ่านกล้อง โดยเจาะรูที่บริเวณอุ้งมือ 1 – 2 รู ขนาด 0.5 – 1 เซ็นติเมตร และยังมีแผลเย็บเหมือนการผ่าตัดวิธีแรก รวมถึงพักการใช้งานมือเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แต่ปัจจุบันมีเทคนิคการรักษาโรคพังผืดที่ข้อมือกดทับเส้นประสาทด้วยการใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์นำ เจาะผ่านผิวหนังโดยไม่ต้องเปิดแผลผ่าตัดและไม่มีแผลเย็บ โดยแผลมีขนาดเล็กเพียง 1 มิลลิเมตรเท่านั้น สามารถล้างมือและอาบน้ำตามปกติได้ใน 3 วัน หรือ 72 ชั่งโมงหลังการรักษา ซึ่งวิธีนี้จะไม่ทำลายเนื้อเยื่อโดยรอบและเส้นประสาทฝอยอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคเหมือนการผ่าตัดเปิดแผลแบบเก่า 

นายแพทย์นรฤทธิ์ ยังแนะนำว่าหากจำเป็นต้องใช้งานมือหนักอย่างต่อเนื่อง สามารถป้องกันอาการพังผืดที่ข้อมือกดทับเส้นประสาทได้ด้วยการแช่มือในน้ำอุ่นและบริหารด้วยการกำเหยียดเป็นประจำ แต่ถ้ามีอาการแสดงแล้วควรรีบพบแพทย์และรักษา เพราะหากปล่อยไว้นานอาจทำให้เส้นประสาทเสียหายถาวร และถึงแม้จะรักษาด้วยการผ่าตัดแล้ว แต่ถ้ายังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานมือก็อาจเสี่ยงเกิดโรคอื่น ๆ ที่เกิดจากการใช้งานมือได้ เช่น นิ้วล็อก ข้อเสื่อม เป็นต้น   

Written By
More from pp
นายกฯ ชื่นชมแรงงานไทย ร่วมสร้างความเข้มแข็งและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมสนับสนุนพัฒนาศักยภาพรับชีวิตวิถีใหม่หลังโควิด 19
วันนี้ (1 พฤษภาคม 2563) ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เนื่องในวันแรงงานชาติ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา...
Read More
0 replies on “พังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท รักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดแผล ”