“สามารถ” สั่งการ สยจ.ชลบุรี ช่วยเหยื่อเจ้าแม่เงินกู้ พร้อมแนะแนวทางปลอดหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน

กรณีที่เว็บไซต์ไทยรัฐ ออนไลน์ นำเสนอข่าวเมื่อวันอังคารที่ 9 มีนาคม 2564 ซึ่งพาดหัวข่าวว่า เจ้าแม่เงินกู้โหด ซ้อมลูกหนี้กลางตลาด ผัวพาแจ้งความ ถูกรีดดอกวันละ 300 นั้น

นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า จากข่าวดังกล่าว ตนได้สั่งการให้สำนักงานยุติธรรมจังหวัดชลบุรี พิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายหรือเหยื่ออาชญากรรมแบบบูรณาการ  Justice Care (ยุติธรรมใส่ใจ) ภายใต้นโยบาย “ยุติธรรมเชิงรุก สร้างสุขให้ประชาชน” ของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยเร่งด่วน

พฤติการณ์แห่งคดี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 เรือโทประกิจ อินทร์พรหม อายุ 62 ปี อดีตนายทหารเรือ ได้พานางกุหลาบ อินทร์พรหม อายุ 60 ปี ภรรยา อาชีพแม่ค้าขายถุงเท้า ซึ่งได้รับบาดเจ็บ มีบาดแผลจากการถูกทำร้ายร่างกายหลายแห่ง เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับ พันตำรวจตรี ธนัช ศรีประมาณ สารวัตรสอบสวน สภ.สัตหีบ

หลังถูกเจ้าแม่เงินกู้นอกระบบทำร้ายร่างกาย ขณะกำลังขายของอยู่ในตลาดไนท์พลาซ่า ตำบลบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

โดย นางกุหลาบ ให้การว่า ได้กู้เงินนอกระบบจาก น.ส.แอม (ชื่อเล่น) อายุประมาณ 35 ปี จำนวน 15,000 บาท โดยไม่ได้ทำสัญญา แต่ได้รับเงินจริงประมาณ 12,000 บาท และต้องจ่ายดอกเบี้ยลอยรายวัน วันละ 300 บาท จนกว่าจะชดใช้เงินต้นหมด

ที่ผ่านมาผู้เสียหายได้ส่งดอกเบี้ยรายวันมาโดยตลอดเป็นระยะเวลาประมาณมากกว่า 3 เดือน ยอดเงินที่ชำระไปแล้วมากกว่า 30,000 บาท โดยมีสลิปการโอนเงินเป็นหลักฐาน แต่เนื่องจากยอดขายลดลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19  จึงไม่ได้จ่ายดอกเบี้ยรายวันเป็นระยะเวลากว่าหนึ่งเดือนแล้ว

ประกอบกับในห้วง 10 วันที่ผ่านมา นางกุหลาบได้เดินทางไปกรุงเทพฯ  มีเพียงสามียังคงขายของที่แผงค้าตามปกติ เมื่อผู้เสียหายกลับมาค้าขายในพื้นที่จึงพบน.ส.แอม ซึ่งมาพร้อมกับชายคนหนึ่งเข้ามาทวงเงินที่ร้าน แต่นางกุหลาบยังไม่มีเงินให้ จึงขอผ่อนผันไปก่อน ทำให้ น.ส.แอม ไม่พอใจ คิดว่านางกุหลาบจะเบี้ยวหนี้ จึงชกเข้าที่ใบหน้า และจิกผมทุบตีทำร้ายร่างกายจนล้มลง แล้วเตะเสยปลายคาง และใช้เท้ากระทืบซ้ำที่หน้าอกหลายครั้ง ท่ามกลางพ่อค้าแม่ค้าในตลาดจำนวนมาก

ขณะที่สามีของนางกุหลาบถูกฝ่ายชายคู่กรณีล็อกตัวไว้ จึงไม่สามารถช่วยเหลือนางกุหลาบได้  หลังเหตุการณ์ดังกล่าวสงบลง จึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ และขอดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด

ในการนี้ สำนักงานยุติธรรมจังหวัดชลบุรี ได้ประสานสอบถามข้อเท็จจริงกับ พันตำรวจตรี ธนัช ศรีประมาณ พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี สภ.สัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 ได้รับข้อมูลว่า ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่า กระทำไปด้วยบันดาลโทสะ เนื่องจากทวงหนี้แล้วผู้เสียหายเบี้ยวหนี้ไม่ยอมจ่าย จึงได้ลงมือทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บ

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนได้ตั้งข้อหาความผิดฐาน “ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บ”

ต่อมา เจ้าหน้าที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดชลบุรี ได้ติดต่อประสานกับนางกุหลาบ อินทร์พรหม ผู้เสียหายบาดเจ็บ ซึ่งได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว โดยนางกุหลาบได้ให้รายละเอียด ว่า ได้กู้ยืมเงินจากนายทุนเงินกู้นอกระบบเพื่อมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการค้าขายตามที่ปรากฏเป็นข่าว แต่ขาดส่งดอกเบี้ย เนื่องจากการค้าขายซบเซา ทำให้เจ้าหนี้ไม่พอใจและทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บ

สำหรับแนวทางในการป้องกันแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืนนั้น ทางรัฐบาลโดยพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความจริงใจในการแก้ปัญหา และได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน

โดยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ผลักดันการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบมาโดยตลอดภายใต้ข้อสั่งการเสนอญัตติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหานี้แล้ว เพราะเล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ  ประกอบกับนโยบายอำนวยความยุติธรรมเชิงรุกของนายสมศักดิ์  เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

ที่กำชับให้มีการเฝ้าระวังเจ้าหนี้ที่เรียกดอกเบี้ยเอารัดเอาเปรียบ ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการอำนวยความยุติธรรมให้กับลูกหนี้ ในชั้นก่อนฟ้อง ชั้นฟ้องคดีในศาล และในชั้นการบังคับคดี รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพลูกหนี้ให้หลุดพ้นจากวงจรหนี้นอกระบบ ด้วยการให้ความรู้ทางด้านกฎหมาย และการประสานความช่วยเหลือด้านแหล่งทุนให้ประชาชน สามารถประกอบอาชีพสุจริตเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน

ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดชลบุรีได้แจ้งสิทธิให้กับผู้เสียหาย ดังนี้

1) ยื่นรับค่าตอบแทนผู้เสียหายตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559

2) แจ้งหลักเกณฑ์ในการยื่นขอรับการสนับสนุนกองทุนยุติธรรม หากประสงค์ดำเนินคดีแต่ไม่มีทุนทรัพย์ และบอกช่องทางการแจ้งเบาะแสเจ้าหนี้นอกระบบ

3) ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายในเบื้องต้นแก่ผู้เสียหายเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ข้อมูลในเบื้องต้น ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับการช่วยเหลือเยียวยาในฐานะที่ตกเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ค่าตอบแทนฯ ดังนี้

(1) ค่ารักษาพยาบาล ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 40,000 บาท

(2) ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ เป็นเวลาไม่เกิน 1 ปี ตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำของจังหวัดที่เกิดเหตุ

(3) ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท

(4) ค่าตอบแทนความเสียหายอื่น ไม่เกิน 50,000 บาท

โดยการจ่ายค่าตอบแทนฯ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจในการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนฯ ประจำจังหวัดชลบุรี

สำหรับกรณีนี้ผู้เสียหายจะดำเนินการมายื่นคำขอรับค่าตอบแทนผู้เสียหายที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดชลบุรีด้วยตนเอง ภายหลังจากสิ้นสุดการรักษาพยาบาล

Written By
More from pp
ปรับปรุงตัวใหม่? – สันต์ สะตอแมน
สันต์ สะตอแมน “ส่วนตัวเห็นว่า.. ถ้าหากต้องการให้สังคมปราศจากข้อขัดแย้ง และสร้างความปรองดองเกิดขึ้นในชาติ ก็ควรจะออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้กับทุกกลุ่ม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ เป็นการเซตซีโร่ใหม่ แต่ถ้าหากมีข้อยกเว้นการนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด หรือนิรโทษกรรมให้เฉพาะบางกลุ่ม ความขัดแย้งก็จะไม่จบสิ้น รวมถึงผู้กระทำความผิดมาตรา...
Read More
0 replies on ““สามารถ” สั่งการ สยจ.ชลบุรี ช่วยเหยื่อเจ้าแม่เงินกู้ พร้อมแนะแนวทางปลอดหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน”