“วาระ ๓” โหวต-ไม่โหวต? – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

ไม่มีกฎหมายฉบับไหน ถ้านักการเมือง มีผลได้-ผลเสีย แล้วจะไม่ตะแบง!
เมื่อวาน จึงได้ยลวิชา “ตะแบงศาสตร์” จากเซียนการเมืองหลากหลายสำนัก
โจทย์ คือ….
“คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ” เมื่อ ๑๑ มีนา. ๖๔ ฉบับเดียวกัน
แต่เซียน “ตอบโจทย์” สู่ทางปฏิบัติหลากหลายคำตอบ
สะท้อน “เบื้องลึก” ทางเจตนาแต่ละคน-แต่ละค่าย ว่ามีทัศนคติ “บวก-ลบ” ต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอย่างไร?

โจทย์ หมายถึง “คำวินิจฉัยศาลฯ” มีชัดๆ ดังนี้

๑.รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้

๒.โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และ

๓.เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง

“นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าฝ่ายค้าน อ่านคำวินิจฉัยแล้วบอก “เดินหน้าพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระ ๓ ได้”

“นายวิรัช รัตนเศรษฐ” ประธานวิปรัฐบาล บอก
“ส่วนตัวผมยอมรับว่า….
เมื่อมีคำวินิจฉัยออกมาดังกล่าว ก็จะไม่สามารถลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระ ๓ ได้”

“นายชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา มีความเห็นว่า
“คณะทำงานด้านกฎหมายสภาฯ ให้ความเห็นมาแล้ว โดยหลักปฏิบัติ ต้องยึดรัฐธรรมนูญเดิมและต้องยึดตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องอยู่ภายในกรอบนี้”
……………

“สามารถโหวตวาระ ๓ ได้ ไม่ต้องกังวล”

“นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ ตอบแบบวัวพันหลัก
สรุปว่า
“ถ้าสภาเห็นว่าไม่ควรจะโหวตก็ไม่โหวต ก็เลิกไปเฉยๆ เพราะมีปัญหาข้อกฎหมายอยู่เหมือนกัน”

ทีนี้ มาฟังอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ “ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล” ซึ่งเป็นบุคคล “นอกวงนักการเมือง” ดูบ้าง ว่าท่านคิดเห็นต่อคำวินิจฉัย ๑๑ มีนา.อย่างไร?

อยากให้แต่ละคนอ่าน….
แล้วสามัญสำนึก “ใช่-ไม่ใช่” แห่งวิญญูชน จะผุดเป็นคำตอบให้ตัวท่านเอง
ผมคัดลอกจาก “ทีมข่าวการเมืองช่อง ๓” ที่ไปสัมภาษณ์ท่านจรัญ ขอนุญาตนำเผยแพร่ต่อนะครับ

โดยท่านจรัญ กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลฯ กรณีปัญหาข้อกฎหมายในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า

“สิ่งที่ทุกคนแสดงความเห็นกันอยู่ขณะนี้ เป็นเพียงคำสรุปของคำวินิจฉัยเท่านั้น ยังไม่ใช่คำวินิจฉัยกลาง

จึงขอให้ทุกคนรอวิเคราะห์จากคำวินิจฉัยกลาง น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น

แต่โดยความเห็นส่วนตัว เมื่อวิเคราะห์จากข้อเท็จจริงที่ศาลวินิจฉัย ถือว่ามีความชัดเจนประการหนึ่ง คือ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ดำเนินอยู่ขณะนี้ “ไม่ใช่การแก้ไขในความหมายปกติ”

แต่เป็นการแก้ไข “เพื่อให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ที่รัฐสภามีอำนาจดำเนินการได้

แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่กำลังมีการแก้ไขอยู่นี้ ก็ “มาจากการจัดทำประชามติ” ของประชาชนแล้ว

หากจะ “ยกเลิก” หรือ “ยกร่างใหม่” ก็ต้อง “ขอความเห็นชอบ” จากประชาชนเสียก่อน

ซึ่งศาลยังพูดต่อไปด้วย ว่า …..
เมื่อได้รับความเห็นชอบให้มีการร่างรัฐธรรมนูญแล้ว และส.ส.ร.ได้ร่างเสร็จแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้ว่า “จะถูกใจประชาชนหรือไม่”?

จึงต้องทำประชามติอีกครั้ง เป็นครั้งที่ ๒
เพื่อให้ประชาชน “รับรองการร่างรัฐธรรมนูญ” ที่เกิดขึ้น

ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีหลักการที่จะต้องทำประชามติ ๒ ครั้ง คือ

-ครั้งแรก ให้ประชาชนอนุมัติเห็นชอบว่า จะยอมถอนประชามติเดิม เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับหรือไม่?

-ครั้งที่สอง ให้ประชาชนลงมติให้ความเห็นชอบรับรอง

กระบวนการนี้ ถ้าหากจะมองว่าทำให้เสียเวลา แต่ก็ถือว่า “ได้ประโยชน์ที่คุ้มค่า”
เพราะจะเป็นรัฐธรรมนูญของคนไทย “ครั้งแรก” ที่มีฐานมาจาก “ความชอบธรรม” เป็นอย่างมากและจะเป็น “รัฐธรรมนูญที่มั่นคง”

หากจะมีการปฏิวัติขึ้นอีกในอนาคต ถือว่าอันตรายมาก เพราะจะไม่ใช่แค่การล้มล้างรัฐบาล, ล้มล้างรัฐสภา, อย่างที่เคยเป็น
แต่จะเป็นการ “ล้มล้างอำนาจของประชาชน” ด้วย

ต่างจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านๆ มา ที่ถูกล้มล้างได้ง่ายเพราะ “ไม่มีความมั่นคง” เพียงพอ

ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่ควรทำให้มั่นคง ไม่ให้เกิดข้อโต้แย้งได้ว่า ดำเนินการมาอย่างไม่ถูกต้อง
ยอมเสียเวลา “ทำตามที่ศาลวินิจฉัย”

เพราะถือว่าศาลวินิจฉัยไว้ลึกซึ้งมาก
และคิดว่า เป็นครั้งแรกใน “ประวัติศาสตร์การเมืองไทย” ที่จะทำให้รัฐธรรมนูญ “มีความยั่งยืน”

อีกปัญหาสำคัญ ที่เป็นคำถามต่อมา คือ….
กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่ผ่านวาระ ๑-๒มาแล้ว จะถือว่าเป็นโมฆะหรือไม่?

ส่วนตัวเห็นว่า …….
วาระ ๑-๒ เป็นกระบวนการ “ภายใน” ของรัฐสภา การแก้ไขยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่เมื่อใดที่ปล่อยให้ผ่านวาระ ๓ ไปได้จะถือว่า “ไม่ถูกต้อง”

ดังนั้น ควรต้อง “รอการลงมติ” วาระ ๓ ไว้ก่อน
และใช้เวลาระหว่างนี้ “รีบทำประชามติ” ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย

เพราะเรื่องนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เข้ามาแทรกแซงเอง แต่เป็นเพราะรัฐสภาส่งเรื่องขอให้ศาลวินิจฉัยให้ และศาลก็ไม่ได้บอกว่าที่ทำมาแล้วใช้ไม่ได้

ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องไปตีความอะไรแล้ว
เพราะมีหลักการอยู่แล้วว่า “กระบวนการอะไรก็ตามที่ยังทำไม่เสร็จ มันคือกระบวนการภายในขององค์กรนั้น”

เพราะฉะนั้น วาระที่ ๑-๒ ยังไม่ถือว่าเสียไป
แต่ขอว่า อย่าไปโหวตวาระ ๓
ถ้าโหวตวาระ ๓ เมื่อไหร่ “ขัดรัฐธรรมนูญ” ทันที!

และหากฝ่ายการเมืองเห็นตรงกันว่า สองวาระแรกเป็นเรื่องภายในของรัฐสภา ยังไม่ได้เป็นการแก้ไข ก็ต้องรีบจัดทำประชามติ และเสนอกฎหมายประชามติโดยเร็ว

ถ้าประชาชนมีมติว่า “ให้ทำได้” รัฐสภาก็เดินหน้าโหวตวาระ ๓ ไปต่อได้ และไม่ทำให้ไม่เสียเวลามาก

อย่าลืมว่า กว่าจะผ่านวาระ ๑-๒ มาได้ เราใช้เวลาเกือบ ๒ ปี ยอมเสียเวลาอีกเล็กน้อย

อย่าไปคิดแค่ว่า ฝ่ายใดจะได้ประโยชน์ หรืออยู่ในอำนาจนานไป หรือฝ่ายใดจะเสียโอกาส

เพราะวิธีการ “หักด้ามพร้าด้วยเข่า” เอามาใช้กับระบอบการปกครองไม่ได้ เพราะจะทำให้ “ฝ่ายที่แพ้” เขาไม่ยอม

แล้วต่อไป ก็จะกลับมาหักด้ามพร้าด้วยเข่าคืน จนวนเวียนอยู่ในทางการเมืองแบบนี้
อย่าคิดแค่ว่า ทำไมการร่างรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติถึง ๒ ครั้ง ทำไมทำครั้งเดียวไม่ได้?

เพราะเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่จะ “ลงหลักปักฐาน” ให้แก่ระบบการปกครองที่จะเป็นประโยชน์ให้มั่นคง ต้องทำให้ละเอียด

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ ส่วนตัววิเคราะห์จากฐานคิดในประกาศของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวาน
ยังต้องพิจารณาจากคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมาด้วยว่า มีรายละเอียดอย่างไร

-ธีรวัฒน์ ซ้วนตั้น
ทีมข่าวการเมือง
……………………….

ครับ หมดคำกล่าว นอกจากคำว่า “ชัดเจน-เข้าใจ” ส่วนสส.-สว.จะเข้าใจตามแนวที่ท่านจรัญวิเคราะห์หรือไม่ way who way it

แต่อย่าลืม “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ”

อยากโหวต วาระ ๓ ก็เชิญ!

Written By
More from plew
โซเชียลมีเดีย “อำนาจโลก”!
“อดทนอ่าน” อะไรที่เกิน ๘ บรรทัดซักวันเถอะ! จะได้รู้สภาพจริงว่า……. ทุกวันนี้ เราทุกคน ไม่ว่าฝ่ายล่มชาติ, รักชาติ, ทั้งออกหน้าและหนุนหลัง ทั้งหมดคือ “สินค้าทาส”...
Read More
0 replies on ““วาระ ๓” โหวต-ไม่โหวต? – เปลว สีเงิน”