“พลังรัก ๒ แผ่นดิน” รักข้ามพรมแดน…ที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว – สันติ อิ่มใจจิตต์

สันติ อิ่มใจจิตต์

นอกจากภายนอกทำเนียบเอกอัครราชทูตไทยที่สวยงามและโดดเด่นแล้ว การตกแต่งภายในก็ทำได้สวยงามหรูหราไม่แพ้กัน ภาพวาดที่วาดโดยฝีมือของจิตรกรระดับโลกหลายภาพที่ติดไว้ในที่อันเหมาะสมภายในทำเนียบนั้น มีมูลค่ามหาศาลจนประเมินค่าไม่ได้

ตัวคฤหาสน์ที่เป็นทำเนียบเอกอัครราชทูตนั้น ทางการไทยซื้อมาจากคหบดีชาวญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ในราคา ๑๐ ล้านเยน คิดเป็นเงินไทยประมาณ ๓ ล้านบาท ปัจจุบันนี้ แค่เฉพาะตัวคฤหาสน์อย่างเดียว บริษัทประกันภัยมิตซุยได้ตีราคาถึง ๙๖๐ ล้านเยน หรือประมาณเกือบ ๓๐๐ ล้านบาท โดยไม่รวมเครื่องตกแต่ง รูปภาพที่ประเมินค่ามิได้อีกหลายภาพ

และยังไม่รวมมูลค่าที่ดินกว่า ๕ ไร่ ซึ่งอยู่ใจกลางกรุงโตเกียวที่คิดราคาซื้อขายกันเป็นตารางฟุต รวมแล้วเป็นสมบัติของชาติไทยที่มีมูลค่ามหาศาลในประเทศญี่ปุ่น และทำเนียบเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียวแห่งนี้ ยังเป็นสถานที่ต้อนรับบุคคลสำคัญ ๆ ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่นอยู่เสมอ ๆ

แค่นั้นยังไม่พอ ที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตไทยแห่งนี้ ยังเป็นประวัติศาสตร์เกี่ยวกับความรักข้ามพรมแดน ความรักระหว่างรบของเจ้าหญิงญี่ปุ่นและเจ้าชายจากประเทศจีน จนเป็นที่กล่าวขานในเรื่องความรักแท้ และเล่าต่อกันมาอย่างไม่รู้จบทั้ง ๒ ประเทศ

สืบเนื่องจากก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะบังเกิดขึ้น กองทัพของประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีแสนยานุภาพมหาศาลได้กรีฑาทัพเข้าตีประเทศจีน ยึดแมนจูเลียไว้ได้ก็พยายามจะครอบครองประเทศจีนต่อให้ได้ จึงยกทัพเข้าไปตีปักกิ่ง ทางกองทัพจีนได้พยายามต่อต้าน แต่ก็ต้านทานไว้ไม่ไหว ทัพของญี่ปุ่นยึดปักกิ่งได้ และก็ไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น ยังบุกต่อไป ยึดได้เซี่ยงไฮ้และเมืองหลวงของจีน คือ นานกิง อีกด้วย

เนื่องจากประเทศจีนมีอาณาเขตกว้างใหญ่มากเหลือเกิน กองทัพญี่ปุ่นที่เข้ามาทำสงครามเริ่มอ่อนล้า จึงควบคุมการบริหารงานอยู่ที่ปักกิ่งเท่านั้น โดยสถาปนาจักรพรรดิปูยี แห่งราชวงศ์ชิง ให้เป็นจักรพรรดิแมนจูกัว ขึ้นปกครองจีน

ระหว่างที่ควบคุมบริหารงานที่ปักกิ่งนั้น อาจจะเป็นด้วยวิเทโศบาย หรือเพื่อความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทางการญี่ปุ่นได้นำเอาเจ้าชายฟุเคทสึ ไอซิงคาคุระ พระอนุชาของจักรพรรดิปูยี มาศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น (ซึ่งอาจจะคล้าย ๆ กับสมัยกรุงศรีอยุธยาที่พม่านำตัวสมเด็จพระนเรศวรไปอยู่พม่าเพื่อเป็นตัวประกันก็ได้ )

“พลังรักสองแผ่นดิน” ละครรักอิงประวัติศาสตร์ของสาวญี่ปุ่นกับอนุชาจักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีน ซึ่งทำเรตติ้งสูงและโด่งดังที่สุดจากญี่ปุ่น

เจ้าชายฟุเคทสึได้มาเรียนวิชาการทางด้านทหารที่ญี่ปุ่น จนใกล้จะจบหลักสูตร ทางการญี่ปุ่นก็มีความคิดว่า เพื่อเป็นการผูกสัมพันธไมตรีให้แน่นแฟ้นระหว่างทั้ง ๒ ประเทศ และเพื่อลดกระแสความเกลียดชังของชาวจีนที่มีต่อชาวญี่ปุ่นที่ไปข่มเหงรุกรานจีน จึงคิดหาคู่ครองให้กับเจ้าชายฟุเคทสึ แต่จะหาใครล่ะ ที่มีศักดิ์ศรี ฐานันดรศักดิ์เสมอกัน เพราะทางจีนนั้นก็เป็นถึงเจ้าชาย

เมื่อค้นหาไปก็มาตกลงที่เจ้าหญิงฮิโระ ที่มีเชื้อสายของจักรพรรดิเมจิ ซึ่งเป็นหลานสาวของเจ้าของคฤหาสน์ทำเนียบเอกอัครราชทูตไทยแห่งนี้ นับว่าเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่สุด

จากนั้นก็เริ่มทำให้ทั้งคู่ได้รู้จักกัน โดยแม่สื่อแม่ชักจะนำรูปถ่ายของแต่ละคนมาแลกให้กันดู และนัดดูตัวกันที่คฤหาสน์แห่งนี้ ซึ่งทั้งเจ้าชายฟุเคทสึและเจ้าหญิงฮิโระ ต่างก็ไม่พอใจ และไม่เต็มใจ เพราะต่างก็รู้ดีว่านี่เป็นแผนการเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ ไม่ใช่เรื่องความรัก แต่ทั้งคู่ก็ขัดใจผู้ใหญ่ไม่ได้

เมื่อถึงวันนัดดูตัวกัน พอได้มานั่งร่วมโต๊ะเสวยด้วยกัน ต่างก็รู้สึกประทับใจซึ่งกันและกัน เริ่มสนใจกัน และด้วยแรงยุของแม่สื่อแม่ชัก เจ้าชายก็เสด็จฯ มาที่คฤหาสน์แห่งนี้ เพื่อมาพบเจ้าหญิงบ่อยครั้งขึ้น โดยพากันเที่ยวในสวนสวยงามทางด้านหลังคฤหาสน์ที่มีเนื้อที่กว่า ๕ ไร่ จนเกิดความรักซึ่งกันและกัน จึงได้ประกาศหมั้นกันในเดือน ก.พ. ๒๔๘๐ โดยทางการญี่ปุ่นได้จัดพิธีอภิเษกสมรสให้อย่างสมพระเกียรติในเดือน เม.ย. ๒๔๘๐

นับว่าคฤหาสน์ที่เป็นทำเนียบเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียวแห่งนี้ เป็นบ่อเกิดของความรักระหว่างเจ้าชายจีนฟุเคทสึและเจ้าหญิงญี่ปุ่นฮิโระก็ไม่ผิด

ทั้งสองมีพระธิดา ๒ พระองค์

ถ้าเป็นเพียงแค่นี้ เรื่องก็จะจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง แต่ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ทราบว่าเป็นคำกล่าวของใครที่ว่า “รักแท้ต้องมีอุปสรรค” แต่อุปสรรคระหว่างเจ้าหญิงญี่ปุ่นกับเจ้าชายจีนนี้ใหญ่หลวงนัก เพราะขณะนั้นประเทศจีนกำลังวุ่นวายมาก เกิดการแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่าเพื่อแย่งชิงการปกครอง กลุ่มที่มีกำลังแข็งแรงมาก คือกลุ่มของเหมาเจ๋อตุง จักรพรรดิปูยีจึงมีความต้องการให้พระอนุชาเสด็จฯ กลับประเทศจีน เพื่อช่วยเหลือในการปกครองประเทศ เจ้าชายฟุเคทสึจึงต้องพาเจ้าหญิงฮิโระเสด็จฯ ไปประเทศจีนด้วย

ระหว่างที่อยู่ประเทศจีน เจ้าหญิงฮิโระรู้พระองค์ดีว่า ชาวจีนไม่ชอบและแสดงความเกลียดชังพระองค์ เนื่องจากญี่ปุ่นเข้ารุกรานยึดครองประเทศจีนนานถึง ๑๕ ปี แต่พระองค์ก็พยายามทำความดีทุกอย่างเพื่อลดความบาดหมางซึ่งกันและกัน แม้กระทั่งจักรพรรดิปูยีซึ่งไม่มีพระโอรสก็ยังไม่ค่อยไว้ใจเจ้าหญิงฮิโระนัก สร้างความลำบากใจให้กับเจ้าหญิงฮิโระเป็นอย่างยิ่ง และใช้ชีวิตอยู่อย่างไม่มีความสุขนัก

เมืองจีนขณะนั้นก็ไม่สงบ มีการรบพุ่งกันตลอดเวลา กลุ่มของเหมาเจ๋อตุงได้ร่วมมือกับรัสเซียบุกยึดปักกิ่งได้ จักรพรรดิปูยีและเจ้าชายฟุเคทสึต้องหลบหนีออกจากวังไปทางหนึ่ง เจ้าหญิงฮิโระและพระมเหสีของจักรพรรดิปูยีก็หนีไปอีกทางหนึ่ง ระหว่างที่หลบหนี พระมเหสีองค์จักรพรรดิปูยีได้สิ้นพระชนม์ เจ้าหญิงฮิโระเลยต้องหนีไปอย่างตกระกำลำบาก ทั้งต้องระวังกองทหารจีนที่ตามจับตัวและการเดินทางที่แสนทุรกันดาร แต่โชคดีที่หนีกลับญี่ปุ่นจนได้

ส่วนจักรพรรดิปูยีและเจ้าชายฟุเคทสึถูกจับได้ และถูกคุมขังอยู่ในคุก

ระหว่างที่อยู่ประเทศญี่ปุ่น เจ้าหญิงและลูกๆ ที่ให้ยายเลี้ยงไว้ ก็ได้เสด็จฯ มาที่คฤหาสน์ที่เป็นทำเนียบเอกอัครราชทูตไทยในปัจจุบัน สถานที่พบรักกับเจ้าชายฟุเคทสึอยู่มิวาย เพราะตั้งแต่เริ่มรักกันก็ไม่เคยจากกันเลย ทรงคิดถึงพระสวามี เพราะไม่ทราบว่าจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร

เจ้าหญิงได้เขียนจดหมายถึงเจ้าชายฟุเคทสึทุกวัน ระหว่างที่เขียนไปก็ร้องไห้ไป แต่ไม่ได้ส่งจดหมาย เพราะทราบดีว่าส่งอย่างไรก็ไม่ถึง ลูกสาวคนโตที่ได้เห็นแม่โศกเศร้าร้องไห้ทุกๆ วัน ก็อดรนทนไม่ไหว จึงได้เขียนจดหมายไปถึงนายกรัฐมนตรีของจีนสมัยนั้น ในจดหมายเขียนเล่าให้ฟังถึงความคิดถึงของแม่ที่มีต่อพ่อของตน ขอให้ช่วยนำจดหมายที่แม่เขียนถึงพ่อทุกๆ วัน ส่งให้ด้วยซึ่งก็ได้ผล จดหมายฉบับที่เจ้าหญิงฮิโระเขียนได้ถึงมือของเจ้าชายฟุเคทสึที่ถูกคุมตัวอยู่ในห้องขัง

ต่อมาทางการจีนได้ปล่อยตัวเจ้าชายฟุเคทสึออกจากที่คุมขัง เจ้าชายจึงขอให้เจ้าหญิงเดินทางมาอยู่ด้วยกันที่ประเทศจีน และใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันจนสิ้นพระชนม์

ส่วนลูกสาวคนโตนั้นทราบข่าวว่าได้เสียชีวิต โดยการกระโดดภูเขาเพื่อฆ่าตัวตาย

ลูกสาวคนเล็ก ปัจจุบันนี้ยังมีชีวิตอยู่ โดยอาศัยอยู่ที่เมืองโอซากา

ด้วยเหตุที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว มีประวัติศาสตร์เรื่องความรักอันยิ่งใหญ่ของเจ้าหญิงฮิโระและเจ้าชายฟุเคทสึ จนเป็นที่กล่าวขานกันอย่างไม่จบสิ้น ทำให้สถานีโทรทัศน์อาซาฮีของประเทศญี่ปุ่นได้ติดต่อมายังสถานทูตไทย เพื่อขอความร่วมมือถ่ายทำสารคดีจากชีวิตจริงเกี่ยวกับความรักของทั้งคู่ และเนื่องในโอกาสครบรอบ ๔๐ ปี ของสถานีโทรทัศน์อาซาฮี โดยใช้ทำเนียบเอกอัครราชทูตเป็นฉากจริง แต่สถานที่ถ่ายทำจริงๆ นั้นเป็นสถานที่ที่ไม่ไกลจากคฤหาสน์มากนัก ใช้เวลาเดินไปประมาณ ๕ นาทีก็ถึง เป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกับคฤหาสน์ที่เป็นทำเนียบเอกอัครราชทูตไทย

เมื่อสถานีโทรทัศน์อาซาฮีนำสารคดีเรื่องนี้ฉายทางทีวี ก็ได้รับความสนใจและสะเทือนใจไปทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่น จนกระทั่งทางสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทยช่องหนึ่งได้ทราบเรื่องอันสะเทือนใจนี้ จึงได้ซื้อสารคดีชุดนี้มาฉายในประเทศไทยโดยตั้งชื่อว่า “พลังรักสองแผ่นดิน” จนเป็นที่ฮือฮาเมื่อไม่นานมานี้

ที่มา : นิตยสารคู่สร้างคู่สม ปีที่ ๒๙ ฉบับที่ ๕๙๐ ประจำวันที่ ๑๐-๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑

Written By
More from pp
นายกรัฐมนตรีเผยให้สามารถนั่งทานอาหารที่ร้านได้จนถึง 21.00 น. ย้ำต้องมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด เดินหน้าเตรียมความพร้อมวัคซีนระยะแรกจำนวน 2 ล้านโดส
4 ม.ค. 64 เวลา 16.30 น. ณ บริเวณทางเชื่อมตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)...
Read More
0 replies on ““พลังรัก ๒ แผ่นดิน” รักข้ามพรมแดน…ที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว – สันติ อิ่มใจจิตต์”