ถนนราดยาง หรือ ถนนลาดยาง

คำว่า “ราด” กับ “ลาด” ต่างก็เป็นคำกริยาด้วยกัน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้นิยามความหมายของตัวศัพท์ไว้แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจน แต่มักจะมีการใช้คำทั้ง ๒ นี้สับสนอยู่เสมอเมื่อนำไปใช้ประกอบกับคำบางคำ โดยเฉพาะคำว่า ถนน (ราด ลาด) ยาง ก๋วยเตี๋ยว (ราด ลาด) หน้า เป็นต้น ทำให้มีการวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ในหน้าหนังสือพิมพ์และพาดพิงถึงราชบัณฑิตยสถานอยู่เนือง ๆ ซึ่งราชบัณฑิตยสถานเองก็ได้ให้คำตอบและชี้แจงข้อเท็จจริงทุกครั้งไป

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ พิมพ์ครั้งที่ ๔ ได้นิยามคำว่า “ราด” กับ “ลาด” ไว้ดังนี้คือ

ราด ก. เทของเหลว ๆ เช่นน้ำให้กระจายแผ่ไปหรือให้เรี่ยรายไปทั่ว เช่น ราดน้ำ ราดยาง โดยปริยายหมายถึงอาการที่คล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น เยี่ยวราด ขี้ราด.

ลาด ก. เอาสิ่งที่ม้วนอยู่ปูแผ่ออกไป เช่น ลาดพรม โดยปริยายหมายถึงอาการที่คล้ายคลึงเช่นนั้น. ว. ลักษณะที่เทต่ำเรื่อยไป. น. ……

วิธีการทำถนนแอสฟัลต์หรือยางมะตอยในสมัยก่อนนั้นใช้วิธีเคี่ยวยางมะตอยจนเหลวแล้วเทราดลงไปบนฐานหินกรวดที่บดอัดแน่น จากนั้นจึงนำหินกรวดขนาดเล็กมาโรยทับ บดอัดให้แน่นอีกครั้ง กิริยาการทำเช่นนั้นเรียกว่า ราดยางถนน  แต่วิธีการทำถนนยางมะตอยในปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้วิธีนำหินกรวดก้อนเล็ก ๆ คลุกยางมะตอยให้เข้ากันเสียก่อน แล้วนำไปเทเกลี่ยลงบนฐานหินกรวดที่บดอัดจนแน่นได้ที่แล้ว จากนั้นจึงบดทับหินที่ผสมยางมะตอยให้เรียบสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการทำถนนด้วยวิธีราดยางมะตอยแบบสมัยก่อนหรือด้วยวิธีใช้หินคลุกกับยางมะตอยแล้วนำมาปูบนฐานหินที่บดอัดไว้แล้ว เมื่อสำเร็จเป็นถนนสมบูรณ์ ผิวถนนจะมีลักษณะที่ “ลาด” หรือ “ดาด” ด้วยยาง ในทำนองเดียวกันกับลาดพรม คือ ปูพรมให้แผ่ออกไป  ดังนั้นถนนชนิดนี้จึงต้องเขียนหรือเรียกว่า ถนนลาดยาง

ส่วน “ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ หรือ ข้าว (ราด ลาด) หน้า” ต้องใช้คำว่า “ราด” เพราะส่วนที่เป็นหน้านั้นมีลักษณะเป็นของเหลว

อนึ่ง คณะกรรมการชำระพจนานุกรมได้แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามของคำ “ลาด” ไว้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นดังนี้ “ก. ปูแผ่ออกไป เช่น ลาดพรม ปูลาดอาสนะ โดยปริยายหมายถึงสิ่งที่มีอาการคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น ถนนลาดยาง. ว. เทต่ำ หรือเอียงขึ้นน้อย ๆ เช่น ที่ลาด.” และได้เก็บเพิ่มคำ “ถนนลาดยาง ” ไว้ดังนี้

“น. ถนนที่ปูผิวจราจรด้วยยางมะตอยผสมกับหินหรือทรายเป็นต้น.” นอกจากนั้นในหนังสือ “อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร” ซึ่งราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์เป็นเอกสารเผยแพร่ เนื่องในวันสถาปนาราชบัณฑิตยสถาน ครบรอบ ๕๐ ปี วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๗ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ แก้ไขเพิ่มเติม เมษายน ๒๕๒๘ ก็ได้เพิ่มคำว่า “ถนนลาดยาง” ไว้ด้วย

ดังนั้น จึงขอได้โปรดเข้าใจโดยทั่วกันว่า คำ “ราด” เป็นคำกริยาที่ใช้กับลักษณะอาการเทของเหลวทุกชนิด ส่วนที่เป็นชื่อเรียกถนนให้เขียนว่า “ถนนลาดยาง.”

ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๓ มีนาคม ๒๕๓๒

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา

Written By
More from pp
“นิพนธ์” เดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำ แจกที่ดินทำกินให้ปชช.กว่า 400 ครอบครัว น้ำตาซึม หลังรอคอยมายาวนาน ที่ อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 13 สิงหาคม 2563 ที่หอประชุมอำเภอหัวตะพาน อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ นายนิพนธ์ บุญญามณี...
Read More
0 replies on “ถนนราดยาง หรือ ถนนลาดยาง”