อนุสาวรีย์ ร.๑-สะพานพุทธ -เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

วันนี้ “คุยนอกบ้าน”
ไทยโพสต์ “ในบ้าน” ไม่มีพื้นที่ให้คุย เพราะยกหน้า ๘ ทั้งหน้าให้เป็น “ข่าวสารทางศาล” ซัก ๒ วัน!
สบายไปครึ่ง ที่ไม่ต้องเขียน
อีกครึ่ง มาลำบากที่เว็บ “เปลว สีเงิน” นี่ เพราะต้องมาคุยรับหน้าเสื่อแทน
ยุคไอทีมันก็ดีอย่าง ปลิ้นปล๊อบแปล๊บเหมือนปรอทไปได้รอบทิศ

เมื่อวาน “๖ เมษายน” วันจักรี
“พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” และ “สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พระบรมราชินี” เสด็จฯ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์
ไปวางพุ่มดอกไม้ เนื่องในวันจักรี ณ “ปฐมบรมราชานุสรณ์” สะพานพระพุทธยอดฟ้า
พระบรมราชานุสรณ์

รัชกาลที่ ๑ กับสะพานพุทธฯ นี่ เป็นของคู่กัน แทบทุกคน เมื่อรู้จักสะพานพุทธฯ ก็ต้องรู้จักอนุสาวรีย์ ร.๑, รู้จักอนุสาวรีย์ ร.๑ ก็ต้องรู้จักสะพานพุทธฯ

แต่ถ้าถาม “รู้มั้ย มีความเป็นมาอย่างไร ใครสร้าง?”
แป่ววววว….!!!

ฉะนั้น วันนี้ เรามาทำความรู้จัก พระปฐมบรมราชานุสรณ์กับสะพานพุทธยอดฟ้าให้สมภูมิคนไทยกันซักวัน

เอากันตรงๆ ผมก็ด้วย ข้ามสะพานพุทธฯมาเป็นร้อยรอบ-พันรอบ แต่ไม่เคยรู้จักสะพานพุทธฯ เหมือนเห็นว่า มีขนตาอยู่ที่เปลือกตา แต่ก็ไม่เคยเห็น

งั้นก็ลอกจาก https://www.bkkmonument.com ของ กทม.มาอ่านให้รู้ไปพร้อมๆ กันซะเลยวันนี้

พระปฐมบรมราชานุสรณ์ “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” (อนุสาวรีย์ ร.๑) ประดิษฐาน ณ เชิงสะพานทางฝั่งพระนคร อยู่ในระหว่างวงเชิงสะพานสองแยก มีฉากหลังตั้งเป็นลับแล

พระบรมรูป ผินพระพักตร์มาทางฝั่งพระนคร เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า…

ได้เสด็จปราบดาภิเษก ณ กรุงธนบุรีแล้ว ทรงย้ายราชธานีมายังกรุงเทพฯ

“พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
ทรงประกอบพระราชพิธีวางศิลาพระฤกษ์สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (หรืออีกชื่อหนึ่งว่า สะพานพระพุทธยอดฟ้า) ในวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๒

และต่อมาในงาน “พระราชพิธีฉลองพระนครครบ ๑๕๐ปี” ในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดผ้าคลุมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และเปิดวิถี “สะพานพระพุทธยอดฟ้า”

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่ ข้ามสะพานจากฝั่งพระนครไปยังฝั่งธนบุรี

แล้วเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่ตามชลวิถี จากท่าหน้าพลับพลาเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งธนบุรี ยาตราตามลำน้ำเจ้าพระยาไปเทียบท่าราชวรดิษฐ์ เสด็จกลับพระราชวังดุสิต

ต่อมา….
ทางราชการได้ถือเอาวันจักรีคือวันที่ ๖ เมษายนของทุกปี เป็นวันถวายบังคม “พระบรมรูป” พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

ประวัติและความเป็นมา ในการฉลองพระนครครบรอบ ๑๕๐ ปี ใน พ.ศ.๒๔๗๕ นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗

มีพระราชดำริ ที่จะสร้าง “พระปฐมบรมราชานุสรณ์” ขึ้น
เพื่อเป็นอนุสรณ์ “พระปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์”
ดัง “ประกาศสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์” เมื่อวันที่ ๒๕กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๐ ความตอนหนึ่งว่า

“…สมควรจะมีการสมโภชพระนครเป็นการรื่นเริงบันเทิงใจทั่วกัน แต่การรื่นเริงนั้น ชั่วขณะเดียวแล้วก็จะผ่านพ้นไปไม่มีสิ่งไรเหลือ

สมควรจะคิดสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งจะเหลืออยู่เป็นที่ระลึกในอภิลักขิตสมัยนั้นไว้ ชั่วกาลนาน ด้วย…

ทรงพระราชดำริเห็นว่า….
ไม่มีสิ่งอื่นจะดีไปกว่าสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ เป็นที่ระลึกถึงพระเดชพระคุณ “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” ปฐมบรมกษัตริย์ ผู้สร้างมหานคร อันนี้…”

เรื่องพระบรมรูปนั้น….
ในครั้งแรก “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์” ทรงเสนอว่า

“…ตามที่เคยทำมาแต่ก่อน พระเทพบิดรว่าทำเป็นรูปเทวดา ภายหลังมาแปลงเป็นพระพุทธรูป

รุ่นหลังลงมาทำเป็นพระพุทธรูปทั้งนั้น มีพระศรี- สรรเพชญ์ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาไลย เป็นต้น
แต่เวลานี้ จะทำเป็นพระพุทธรูปเห็นจะไม่สมสมัย

จึงคิดว่า ……….
ทำเป็นรูปกษัตริย์ทรงขัตติยภรณ์กุมพระแสงขรรค์ ตามแต่ช่างจะเห็นงาม อย่างทำรูปเทวดาเป็นดี ในการที่ทำเช่นนี้ จะมีคนเข้าใจต่างๆ กันไปได้ตามประสาใจตน

จะเข้าใจว่า เป็นพระบรมรูปโดยสมมติก็ได้ เป็นเทวดา คือพระบรมรูปในปรโลกก็ได้ จะเป็นเจ้าก็ได้ ถ้าฝรั่งก็คงเข้าใจอย่างที่เขาเรียกว่า “อัลเลโกริค” (Allageric) เห็นว่าอย่างไรก็ได้ ใช้เป็นกลางๆ ไม่มีโทษ…”

ในการประชุมครั้งนั้น ……..
นอกจากเรื่องรูปแบบของพระบรมรูปแล้ว “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์” ยังเสนอสถานที่สร้าง ให้สร้างที่บริเวณ “วัดสุทัศน์เทพวราราม” ด้วย

ซึ่งเบื้องต้น มิได้มีการคัดค้าน เพียงแต่ยังตกลงไม่ได้ว่าจะสร้างพระรูปเป็นพระบรมรูปหรือรูปเทวดา

และดูเหมือนว่า พระดำริของ “กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์” จะได้รับการยอมรับด้วยดี

แต่ในการประชุมครั้งที่ ๒ และ ๓ เริ่มมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไปมากขึ้น
สุดท้าย “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” มีพระราชวินิจฉัยเป็นเด็ดขาด

“ให้ทำสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเหมาะที่สุดแก่รูปการคราวนี้ เพราะว่า ถ้าไม่ได้สร้างทำในคราวนี้แล้ว การก็จะชักลากไปอีกนานกว่าจะได้ทำ…
ส่วนพระบรมรูปนั้น ให้ทำที่บริเวณใกล้สะพาน”

ด้วยเหตุนี้ ……..
จึงได้มีการสร้าง “พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” ขึ้นเป็นอนุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติคุณของพระองค์

และก่อสร้าง “สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา” ให้เป็นทางเชื่อมฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีเสียในคราวเดียวกัน

ในการดำเนินงาน ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ โดยมี “สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช” เป็นนายก

“พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” พระราชทานทรัพย์ ๒ ล้านบาท เป็นการเริ่มต้นการบริจาคของประชาชน กระทรวงพาณิชย์และคมนาคมรับผิดชอบการสร้างสะพาน โดยให้กองแบบแผน กรมรถไฟหลวง ออกแบบโครงร่างสะพานและส่วนประกอบ เพื่อเรียกประกวดราคาจากบริษัทต่างๆ

ผลปรากฏว่า “บริษัท ดอร์แมนลอง จำกัด” แห่งประเทศอังกฤษ เป็นผู้ชนะการประกวด

ในส่วนของพระบรมรูปนั้น….
“สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์” ทรงดำเนินการออกแบบและอำนวยการก่อสร้าง
ทรงร่างแบบแปลนพระบรมรูป นำขึ้นทูลเกล้า ถวายขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๒

เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว โปรดให้นายเฟโรจี (ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี) ประติมากรชาวอิตาลีของกรมศิลปากร เป็นผู้ปั้นหุ่นพระบรมรูป ก่อนส่งไปหล่อสัมฤทธิ์ที่ประเทศอิตาลี ……ฯลฯ……

ครับ………
ยังมีเกร็ดเล็ก-เกร็ดน้อยน่าสนใจอีกเยอะ อยากให้ท่านคลิกไปอ่านที่ เว็บ bkk monument กันเอง

ผมชุบมือเปิบของเขาแค่นี้ก็เกรงใจเขาจะแย่อยู่แล้ว ยังไงก็ขอขอบคุณ

มาสังเกตดู เปิดสะพานพุทธยอดฟ้า เมื่อ เมษา.๗๕ ห่างไป ๒ เดือน พอถึง ๒๔ มิถุนา. “คณะราษฎร” ก็ก่อการ ๒๔๗๕” ปฏิวัติสยาม”
เปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็นระบอบประชาธิปไตย

จากวันนั้น ถึงวันนี้…….
คณะราษฎร “กกไข่” มายาวนาน ๘๙ ปี นึกว่าจะเป็นประชาธิปไตย

แต่เมื่อฟักออกมา พศ.นี้ ……
กลับเป็น “หางแดงมหา’ลัย” สายพันธุ์ “สามสัส”

ประชาธิปไตยก็ไม่ใช่ คอมมิวนิสต์ก็ไม่เชิง หนักไปทาง “ประชาธิปตวยโทนี่” ล้วนๆ

จะล้มทั้งเจ้า จะเอาทั้งประเทศไปจิ้มก้องไอ้กัน แล้วตัวมันจะเป็นประธานาธิบดี
ไอ้ “โทนี่” ตัวร้าย….
ต้องให้ “เมาคลี” ถลกหนังซะแล้วละมั้ง?

Written By
More from plew
“ซื้อเวลาได้-ซื้อศรัทธาไม่ได้”
คงไม่พอกระมังครับ…ท่านนายกฯ! ที่แสดง “ความรับรู้” ในเรื่อง…….. “อัยการ-ตำรวจ” หักจบคดี “บอส-กระทิงแดง” โดยอัยการมีคำสั่งเด็ดขาด “ไม่ฟ้องในทุกคดี”
Read More
0 replies on “อนุสาวรีย์ ร.๑-สะพานพุทธ -เปลว สีเงิน”