ธรรมนัสกับจริยธรรม – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดี “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เมื่อ ๕ พค.๖๔ นั้น “ดีนักหนา”
“ดี” ถึงขั้นต้องบอก ว่า คุณูเอนกประการ
นอกจากด้านบรรทัดฐานวินิจฉัยทางอรรถคดีแล้ว ยังใช้ “เช็คมาตรฐาน”
๑.มาตรฐานสังคมระดับสมาชิกสภานิติบัญญัติ ผู้ทำหน้าที่ออกกฎหมาย และ
๒.ระดับบุคลาจารย์กฎหมายมหา’ลัย ผู้สอนกฎหมาย

เพราะจากปฏิกิริยาสะท้อน อันเป็นความเห็น ที่ออกมาต่อคำวินิจฉัยตอนนี้ นั้น ทำให้พอเข้าใจว่า
ไม่แค่ระดับ “ตลาดล่าง” อย่างผมเท่านั้น ที่นิยมใช้ “ความรู้สึก” ตอบสนองคำตัดสินศาล

แต่ปรากฏว่าระดับ “ตลาดบน” ก็ไม่ตางกัน
ที่ใช้ความรู้สึก “ถูกใจ-ไม่ถูกใจ” และความเป็นพวก-เป็นฝ่าย แทนสติปัญญาใคร่ครวญตามเหตุ-ตามผล ตอบสนอง

ผมได้อ่านที่นักวิชาการกฎหมาย อย่างน้อย ๒ มหา’ลัย เขาแสดงทัศนะต่อกรณีนี้
ก็น่าทึ่ง ที่เขามีความเห็นว่า…..

การที่ศาลอ้างอำนาจอธิปไตยทางศาลเป็นเหตุผลหลักในการปฏิเสธคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลต่างประเทศ นั้น เขาบอกว่า
“ยากที่จะยอมรับได้”!

ความหมายตามนัยที่เขาพูดก็คือ กรณีนี้ รอ.ธรรมนัสต้องผิดตามกฎหมายไทยด้วย และศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องวินิจฉัยไปตามแนวนั้น จึงจะถูก

จะถูกตามรัฐธรรมนูญไทย หรือจะถูกใจบรรดาจารย์กฎหมาย ผมก็ไม่ทราบความลึกแห่งเจตนาเขา

ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร เพราะทุกคนมีอิสรภาพทางความคิดเห็น จะเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย ก็ไม่แปลก

แต่ระดับแวดวงนิติบัญญัติและแวดวงครูบาอาจารย์กฎหมาย พูดแบบ “ขยำรวม” ไม่แยกแยะประเด็นไปตามรัฐธรรมนูญบัญญัติ

ตำหนิศาล ถึงขั้นกล่าวหาศาลเป็นเครื่องมือการเมือง นั้น มันมิใช่วิสัยปัญญาชนที่มีอธิปไตยชาติในหัวใจจะพึงทำ นั่นอาจทำให้ผู้มืดบอดหลงเชื่อตามได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีกับบ้านเมืองเลย

เว้นแต่กับพวก “ประสงค์ร้าย” เท่านั้น!
เช่น นี่…….
พรรคก้าวไกล ที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรค ก็ทราบกันอยู่ คือพรรคนอมินีของธนาธร “คณะก้าวหน้า”
แต่โพสต์ข้อความนี้ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย

พรรคก้าวไกล-Move Forward Party
(ผิดหวังอย่างยิ่ง! “เลขาธิการก้าวไกล” สะท้อนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ “ธรรมนัสค้าแป้ง” ไม่ขาดคุณสมบัติรัฐมนตรี ชี้ ยิ่งทำให้ประชาชนเชื่อว่าเป็น “เครื่องมือทางการเมือง” โดยสมบูรณ์ ซัด “ประยุทธ์” อุ้มต่อเป็นรัฐบาล “โจรอุ้มโจร” เตรียมยื่นปปช.ฟันผิดจริยธรรมร้ายแรงต่อไป)
………………………………….
ครับ…..
ยก “บางตอน” มาเป็นตัวอย่างเท่านั้น ว่ามันเกินกรอบคำว่า “สิทธิเสรีภาพ” ในการเสนอข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรม ที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไปมาก

พรรคก้าวไกล มีนักกฎหมายระดับศาสตราจารย์คอยปลุกเสก ที่สำคัญในฐานะ “สมาชิกสภานิติบัญญัติ” จะปฏิเสธว่า “ไม่รู้-ไม่เข้าใจกฎหมาย” ย่อมฟังไม่ขึ้น

การกล่าวถึงศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยข้อความในโพสต์ว่า
ทำให้ประชาชนเชื่อว่าเป็น “เครื่องมือทางการเมือง” โดยสมบูรณ์ ก็ดี
ประยุทธ์ “อุ้มต่อเป็นรัฐบาล” โจรอุ้มโจร” ก็ดี

พรรคก้าวไกล ต้องพิสูจน์ให้สังคมสาธารณะได้เห็นจริงตามที่โพสต์นั้นนะ
ไม่เช่นนั้น พรรคก้าวไกลเองนั่นแหละ จะถูกลงโทษ ไม่พูดด้านอาญา พูดตามพรบ. มาตรฐานทางจริยธรรม

อย่างน้อย ตามหมวด ๒ “มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก” ข้อ ๑๕ ยากรอด!

คุยเป็นพรรคคนรุ่นใหม่ จะสร้างการเมืองมาตรฐาน ประชาธิปไตย แล้วที่โพสต์ นี่น่ะหรือ “การเมืองมาตรฐาน”?

“พรรคก้าวไกล” เป็นผู้ยื่นคำร้องเอง ผ่านประธาน “ชวน หลีกภัย” ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตีความในประเด็น ว่า

“การที่ศาลออสเตรเลีย ได้มีคำพิพากษาเมื่อเดือนมี.ค. ๓๗ ว่าร.อ.ธรรมนัส มีความผิดฐานนำเข้าและค้ายาเสพติด สั่งคุก ๖ ปี จำคุกจริง ๔ ปี ก่อนถูกเนรเทศกลับประเทศไทย ร.อ.ธรรมนัส จึงเข้าข่ายเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งส.ส.และรัฐมนตรี หรือไม่?

พรรคก้าวไกลส่งให้ศาลฯตีความประเด็นนี้เอง แล้วศาลฯท่านก็วินิจฉัย ตามประเด็นนั้น ว่า

“แม้ข้อเท็จจริงในคดีฟังได้ว่า ร.อ.ธรรมนัส เคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ก่อนลงสมัครส.ส.

แต่มิใช่คำพิพากษาของศาลไทย จึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๘(๑๐)

สมาชิกสภาพสส.ของร.อธรรมนัสจึงไม่สิ้นสุดลงตามมาตร ๑๐๑(๖) ประกอบมาตร ๙๘(๑๐)

รวมทั้งความเป็นรัฐมนตรีก็ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๗๐ วรรค ๑(๔) ประกอบมาตรา ๑๖๐(๖) ด้วย”

เหตุที่คำพิพากษาศาลต่างชาติ ไม่มีผลทางกฎหมายไทยต้องปฏิบัติตามนั้น

รัฐธรรมนูญมาตรา ๓ วรรค ๑ บัญญัติว่า
อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา ครม.และศาลตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

วรรค ๒ บัญญัติว่า
รัฐสภา ครม. ศาล องค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐต้องปฎิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและหลักนิติธรรมเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม

จากบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึง อำนาจอธิปไตยอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ลักษณะสำคัญของอำนาจอธิปไตย คือ

มีความเด็ดขาด สมบูรณ์ ไม่อยู่ในอาณัติ หรืออยู่ภายใต้อำนาจของรัฐอื่น
อำนาจอธิปไตยแยกตามลักษณะหน้าที่เป็น ๓ ส่วนได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ

โดยการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี เป็นการใช้อำนาจตุลาการอันเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยย่อมต้องไม่ตกอยู่ในอาณัติ หรือภายใต้อำนาจตุลาการของรัฐอื่น

หลักการปกครองของประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์ มีหลักการสำคัญ คือ

“หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น และไม่ถูกประเทศอื่นแทรกแซงกิจการภายในของตน โดยไม่มีการทำข้อตกลง ยินยอม”

ดังนั้น การบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศก็ดี การตีความให้คำพิพากษาของศาลต่างประเทศมีสถานะทางกฎหมายเช่นเดียวกับคำพิพากษาของศาลไทย จึงไม่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว”

ครับ…..
นี่คือหลัก “อำนาจอธิปไตยอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ” ต้องมีความเด็ดขาด สมบูรณ์ ไม่อยู่ในอาณัติ หรืออยู่ภายใต้อำนาจของรัฐอื่น

ผมยกมาย้ำหัวตะปูให้เข้าใจกันชัดๆ!
สรุป….
บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และข้อกฎหมาย ศาลยึดเป็นหลักในการวินิจฉัย
ไม่ใช่ “คิดเอา-นึกเอา-รู้สึกเอา” ตามความพอใจ-ไม่พอใจ และตาม “พวกกู-พวกมึง” เป็นหลักวินิจฉัย อย่างที่บางคน-บางฝ่าย ต้องการให้เป็น

ก็รู้อยู่ ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ศาลอาญา
ท่านก็ชี้ให้ชัดแล้วตามข้อขัดแย้งทางรัฐธรรมนูญ
เมื่่อไม่เป็นอย่างใจ ก็โกรธ ไม่พอใจ ว่างั้นเหอะ!

แบบนี้ต้องบอกว่า “ควายเรียกพี่”

พรรคก้าวไกลก็รู้ไส้-รู้พุง รอ.ธรรมนัสดี คำร้องก็ระบุเองว่าเขาเคยติดคุกเรื่องยาเสพติดที่ออสเตรเลีย
ก็ยื่นปปช.สอบตามพรบ.มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ ฯลฯ ปี พศ.๒๕๖๑ ซี

เสือกไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่ออะไร มันคนละขั้น-คนละตอน และคนละประเด็นกัน แล้วมันจะได้เรื่องยังไงกัน?

อวดฉลาด แต่ดันร้องเอ๋งๆ
ถ้ายื่นปปช.ให้สอบมาตรฐานจริยธรรม ป่านนี้เข้าหมวด ๑ เข้าข่าย “ลักษณะร้ายแรง” เรื่องต่อถึงศาลรัฐธรรมนูญนานแล้ว
ธรรมนัสจะไปก่อน “สส.ปารีณา ไกรคุปต์” ด้วยซ้ำ!

นี่พูดกันตาม “หลักเกณฑ์กฎหมาย”
แต่ถ้าพูดกันตาม “หลักเกณฑ์หิริ-โอตตัปปะ” ทางการเมือง ทั้งพรรคพปชร. ทั้งรัฐบาลประยุทธ์
ให้ “รอ.ธรรมนัส” เป็นรัฐมนตรีอยู่ไม่ได้หรอก!

Written By
More from plew
“กาซา” ถึง “วัดทรายขาว” – เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน กรณีมี “ภาพ-ข่าว” ปรากฎ แรงงานไทย “บางคน” ไปเป็นทหารรับจ้างในอิสราเอล และผมให้ความเห็นว่า
Read More
0 replies on “ธรรมนัสกับจริยธรรม – เปลว สีเงิน”