อุตสาหกรรมเกษตร อาหาร สิ่งทอ ผนึกมือเกษตรกร ฉะสภาหอและภาครัฐ เร่งรัดแบน 3 สาร เตรียมเผชิญ 4 วิบัติเศรษฐกิจไทยปีหน้า

สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย กลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรม สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และอุตสาหกรรมสิ่งทอ สงสัยการทำงานของ 3 พรรคกระทรวงใหญ่ เหตุใดเร่งรีบ แบน 3 สารเคมีเกษตร พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพรีฟอส แถมจัดเต็มงบประมาณซื้อเครื่องจักร งบทำลายสารเคมีเกษตร เอื้อกลุ่มทุนสารเคมีทดแทน เผยเศรษฐกิจไทยเตรียมพบ 4 วิบัติจากผลพวงวิกฤตการเกษตร

นายภมร ศรีประเสริฐ อุปนายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า การแบนสารกำจัดวัชพืชจะกระทบกับอุตสาหกรรมมันสำปะหลังเป็นมูลค่า 5.8 หมื่นล้านบาท ที่ผ่านมา ไทยส่งออกมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด สร้างรายได้เข้าประเทศนับแสนล้านบาท และเป็นที่ยอมรับจากประเทศคู่ค้าไม่เคยพบปัญหาสารตกค้าง จึงมองว่ารัฐควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจทำอะไร ล่าสุด นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้นำภาคธุรกิจมันสำปะหลังไปทำข้อตกลงเปิดตลาดส่งออกซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ตอนนี้กังวลว่าจะผลิตมันสำปะหลังส่งออกให้กับตลาดเหล่านี้ได้อย่างไร มันสำปะหลังมีความจำเป็นต้องใช้สารกำจัดวัชพืช เครื่องจักรกลไม่สามารถใช้ได้ ปัจจุบัน มันสำปะหลังใช้เป็นวัตถุดิบในอาหารสัตว์ หากต้นทุนสูงขึ้น จะเป็นการเปิดโอกาสและสนับสนุนการนำเข้าวัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำกว่าเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และส่งผลกระทบต่อเกษตรกรกว่า 1.5 ล้านคน และอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง

ดร.กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่าประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอันดับที่ 5 และส่งออกน้ำตาลอันดับที่ 2 ของโลก ด้วยพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 11 ล้านไร่ ผลผลิตอ้อยรวมประมาณ 134 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ การแบนสารเคมีเกษตร คาดการณ์ผลผลิตจะลดลง 20%-50% หากไม่ใช้สารพาราควอตในช่วงอ้อยย่างปล้อง จะทำให้อ้อยหายไปสูงสุดถึง 67 ล้านตันต่อปี ซึ่งมีมูลค่าถึง 1.5 แสนล้านบาท เกษตรกรสูญรายได้ไปกว่า 5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังสะเทือนมูลค่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลโดยรวมทั้งหมด 3 แสนล้านบาท ทำให้เกษตรกร 1.2 ล้านคน และโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 57 โรงงาน อาจถึงขั้นเลิกทำอาชีพการเกษตร และโรงงานอาจมีการเลิกจ้างงานในที่สุด

“มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ 1.7 ล้านล้านบาทต่อปี หายไปแน่นอนจากการแบน 3 สารเคมีเกษตร” นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย อธิบายว่า เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย แรงงานภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบ 12 ล้านคน อุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมน้ำมันถั่วเหลือง อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ อุตสาหกรรมปศุสัตว์ 1,100,000 ล้านบาทต่อปี อุตสาหกรรมอ้อย-น้ำตาลและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง 300,000 ล้านบาทต่อปี  อุตสาหกรรมมันสำปะหลังและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง 300,000 ล้านบาทต่อปี อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ 15,000 ล้านบาทต่อปี

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า หลังมติการแบนสารดังกล่าวเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2562  นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันโอชา ให้ตั้งคณะทำงาน 2 ชุด ภายใต้กระทรวงเกษตร และอุตสาหกรรม เพื่อดูผลกระทบเกษตรกร จนบัดนี้ ยังไม่มีความคืบหน้า สมาพันธ์ฯ พยายามนัดหมายหลายครั้งก็บ่ายเบี่ยงตลอดมา ทุกวันนี้ รู้แต่ว่าหลังวันที่ 1 ธันวาคม จะโดนทั้งปรับและจำคุก พรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การดำเนินงานของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังคงทำตัวเป็นหลุมดำที่ไม่มีข้อสรุป หรือกลัวกระทบหุ้นส่วนนามสกุลเดียวกันที่มีความเชื่อมโยงกับบริษัทรายเดียวที่ได้รับการผูกขาดให้รับผิดชอบทำลายสารเคมีเกษตรมูลค่ารวมกว่า 2 พันล้านบาท ขณะเดียวกัน พรรคภูมิใจไทย ภายใต้การดำเนินงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศแบนสารเคมีเกษตรและเร่งรีบดำเนินการ โดยไม่มีมาตรการ สิ่งทดแทน และเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกร รวมทั้ง อาจเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนสารเคมีเกษตรรายใหม่ มูลค่านับหมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับ พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การดำเนินงานของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เอาใจเกษตรกรด้วยนโยบายแจกเงิน แต่ก็เตรียมของบประมาณชุดใหญ่จัดหาเครื่องจักรกลให้แก่เกษตรกร

นอกจากนี้ ข้อเสนอแบบสองมาตรฐานของทั้งองค์กรอิสระ และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดโอกาสให้นำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศที่เพาะปลูกโดยใช้สารเคมีเกษตรทั้งสามชนิดมาไทยได้ แต่ห้ามเกษตรกรไทยใช้ เท่ากับเป็นการ “ฆ่าเกษตรกร” ถึง 2 รอบ ครั้งแรก ไม่ให้ใช้สารเคมีฯ ไปหาวิธีการอื่นเพิ่มต้นทุน จนไร้กำไร และครั้งที่ 2 สนับสนุนการนำเข้าวัตถุดิบเกษตรจากต่างประเทศซึ่งมีราคาที่ต่ำกว่า และมีการใช้สามสารเคมี “เกษตรกรตายยกประเทศ” โดยเฉพาะ สภาหอการค้าฯ หากยังมองไม่เห็นถึงผลกระทบและความเสียหายกับประเทศชาติยังไง ก็ไม่ควรมานั่งดูเรื่องการค้า เป็นที่พึ่งพาของภาคอุตสาหกรรมไม่ได้

“ท้ายที่สุด ปีหน้า ไทยคงหนีไม่พ้น 4 วิบัติทางเศรษฐกิจ เป็นผลจากวิกฤตเกษตร ได้แก่ 1) เกษตรกรเปลี่ยนการเพาะปลูกไปยังพืชชนิดอื่น เกษตรกรชาวไร่คงต้องเลิกปลูกอ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง เพราะไม่มีพาราควอต 2) ผลผลิตในประเทศลด หันไปนำเข้าจากต่างประเทศแทน การส่งออกแข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้  3) ต้นทุนภาคการเกษตรสูงขึ้น รัฐบาลต้องนำเงินมาช่วยเหลือมากขึ้น ดึงเงินจากส่วนต่าง ๆ มาใช้ในนโยบายประชานิยม เกิดการจ่ายเงินเกินตัวของรัฐ 4) GDP ภาคการเกษตรลดลง ส่งผล GDP ประเทศสูญหาย การส่งออกตกต่ำสุดในประวัติการณ์ ดังนั้น จึงอยากให้รัฐทบทวนทางออกที่เหมาะสม คือ มาตรการจำกัดการใช้ 3 สารเคมีเกษตร แทนการยกเลิก ทบทวนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และผลกระทบทางเศรษฐกิจ รวมทั้ง ดำเนินการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ครบถ้วนและทั่วถึง มีหลายคนบอกว่า มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเปลี่ยนไม่ได้ ผมขอถามว่า แล้วเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมาทำไมจึงมีการเปลี่ยนมติจาก 2 ครั้งแรกได้ และใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงเปลี่ยนมติเดิม เพราะฉะนั้นอย่ามาบอกผมว่าเปลี่ยนไม่ได้ รัฐมนตรี นักการเมือง โดยเฉพาะข้าราชการ ที่เป็นข้าของแผ่นดิน ต้องตั้งสติคิดให้ได้ว่าท่านจะพาประเทศชาติไปทางไหน” นายสุกรรณ์ กล่าวสรุป

Written By
More from pp
สธ.ลงพื้นที่ทันที หลัง ประชาชนแจ้งเบาะแส รถเร่ขายช่อดอกย่านสุขุมวิท 11 ผิดกฎหมาย สมุนไพรควบคุม (กัญชา) 2565
กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก ร่วมมือกับ สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ลงพื้นที่กวดขัน จับกุม ผู้ประกอบการ รถเร่ แผงลอย กรณีจำหน่ายช่อดอกกัญชา ย่านถนนสุขุมวิท ซ.11
Read More
0 replies on “อุตสาหกรรมเกษตร อาหาร สิ่งทอ ผนึกมือเกษตรกร ฉะสภาหอและภาครัฐ เร่งรัดแบน 3 สาร เตรียมเผชิญ 4 วิบัติเศรษฐกิจไทยปีหน้า”