‘๗ สิงหาคม’ วันตัดสิน?-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

๗ สิงหาคม วันเสียงปืนแตก

    แต่ก็เป็นอีกวันที่คนไทยไม่อยากพูดถึงเท่าไรนัก นั่นคือวันที่ พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์ราชวงศ์ตองอู ตีอาณาจักรอยุธยาแตก เมื่อ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๑๑๒

    นั่นคือเหตุการณ์การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๑

     ครับ…วันที่ ๗ สิงหาคมนี้ กลุ่มสามนิ้ว โดยการบัญชาจากเพจเยาวชนปลดแอก จะชุมนุมเดินเท้าจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปพระบรมมหาราชวัง

    เคมเปญที่โหมโฆษณาส่อในไปทางสร้างความรุนแรงเป็นหลัก

    เช่นบอกว่า ยิงได้ยิงดีเอากระสุนมึงกลับไป

    แทนที่จะไปชุมนุมที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

    กลับไปชุมนุมหน้าพระบรมมหาราชวัง

    นี่หรือบอกว่า….ถ้าประยุทธ์ยังไม่ออก ก็ให้มันรู้ไป เพราะการดำรงอยู่ของรัฐบาลชุดนี้ทำให้คนตาสว่างมากขึ้นทุกวัน ว่าการดำรงอยู่ของครอบครัวมึงมันไร้ประโยชน์และสร้างความฉิบหายให้กับประเทศชาติมากแค่ไหน ไล่จนเหนื่อยแล้วไม่ไป ก็อยู่รอวันพังพินาศไปด้วยกัน!

    ทำไมไม่ไปชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล แต่จะไปชุมนุมหน้าพระบรมมหาราชวัง

    เจตนาคืออะไร?

    มีการตั้งข้อสังเกตว่านี่คือ โมเดล คุกบัสตีย์ เพื่อล้มล้างสถาบันฯ ใช่หรือไม่

    ในขณะที่เพจเยาวชนปลดแอก ปลุกการชุมนุมด้วยการนำภาพคล้ายการเผาพระบรมมหาราชวัง

    ส่วนแกนนำม็อบบอกว่า สันติวิธีมีเพดาน

    ถ้าไม่มีการขัดขวางการชุมนุม การชุมนุมไม่มีการเกิดความรุนแรง

    ทั้งหมดนี้คือการปลุกเร้า และเจตนาที่แท้จริงของกลุ่มเยาวชนปลดแอก

    กลุ่มเยาวชนปลดแอก คือใคร?

    นับแต่การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปีที่แล้วมีการประกาศยื่นข้อเสนอทะลุเพดาน แกนนำการชุมนุมมีใครบ้าง

    ไล่เรียงตามที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีที่เกิดจากการชุมนุมก็มีดังนี้

    นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

    นายภาณุพงศ์ จาดนอก เยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย

    นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี เลขาธิการกลุ่มเยาวชนปลดแอก (หลบหนีไปต่างประเทศ)

    นายอานนท์ นำภา ทนายความ

    นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล  โฆษก สนท.

    นายปิยรัฐ จงเทพ หัวหน้ากลุ่มการ์ดวีโว

    นายกานต์นิธิ ลิ้มเจริญ กลุ่มประชาลาด สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

    นายณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์ ประกอบธุรกิจส่วนตัว

    นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน แกนนำมวลชนหมู่บ้านทะลุฟ้า

     นายภานุมาศ สิงห์พรม ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเยาวชนปลดแอก

    นายกรกช แสงเย็นพันธ์ กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่

    นางสุวรรณา ตาลเหล็ก กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย

    นางสาวสิรินทร์ มุ่งเจริญ สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    นายบารมี ชัยรัตน์ เลขาธิการสมัชชาคนจน

    นายทศพร สินสมบุญ เยาวชนปลดแอก

    นางสาวพิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ นักสิทธิมนุษยชน

    นายธานี สะสม อดีตสมาชิกกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และอดีตกลุ่ม นปช.

    นางสาวลัลนา สุริโยกลุ่ม รักษาการประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

    นายณวรรษ เลี้ยงวัฒนาแอม ผู้ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ของเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตยสนับสนุนเยาวชนปลดแอก

    นางสาวจิรฐิตา ธรรมรักษ์ สนท. (ศูนย์ประจำ ม.วลัยลักษณ์)

    นายณัฐพงษ์ ภูแก้ว นักร้อง-นักดนตรี วงสามัญชน

    นายธนชัย เอื้อฤาชา เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย

    นายยามารุดดิน ทรงศิริ ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

    นายชลธิศ โชติสวัสดิ์ เลขาธิการ สนท.

    นายธนายุทธ ณ อยุธยา นายเดชาธร บํารุงเมือง นายทักษกร มุสิกรักษ์ นายปรัชญา สุรกําจรโรจน์ นายณรงค์ ดวงแก้ว กลุ่มแรปเปอร์

    นายจักรธร ดาวแย้ม นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ ม.ธรรมศาสตร์

    นายกฤษณะ ไก่แก้ว เครือข่ายวิญญูชนผู้ยังได้รับผลกระทบจากเผด็จการ

    นางสาวจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธาน สนท.

    นางสาวภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย

    ชลธิชา แจ้งเร็ว คณะประชาชนปลดแอก

    นายชาติชาย แกดำ นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย อดีตสมาชิกเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย

    นายชูเวช เดชดิษฐรักษ์ นักรณรงค์ด้านสิทธิของผู้พิการ

    นี่คือกลุ่มที่รับรู้การเคลื่อนไหวตลอด ๒ ปีที่ผ่านมา

    บางคนหนีไปต่างประเทศแล้ว

    บางคนลดบทบาทตัวเองลง

    ขณะที่หลายคนยกระดับสร้างความปั่นป่วนโดยไม่สนใจกฎหมายบ้านเมือง

    และหลายคนเป็นจำเลยคดีความมั่นคง, คดี ม.๑๑๒ และอยู่ระหว่างประกันตัว โดยศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามทำผิดซ้ำ

    แต่แทบจะทุกคน ประกาศชัดเจนว่า ไม่แยแส จะเดินหน้าชุมนุมทะลุเพดานต่อไป

    ๗ สิงหาคม ๒๕๐๘ วันเสียงปืนแตก คือวันที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ใช้อาวุธโจมตีกองกำลังของรัฐบาลไทยเป็นครั้งแรก ที่บ้านนาบัว ตำบลเรณูนคร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม

    กองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์ เรียกตัวเองว่า “กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย” (ทปท.)

    เป้าหมายเพื่อโค่มล้มการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

    จริงอยู่การเสียกรุงฯ ครั้งที่ ๑ ไม่มีหลักฐานการเผา

    แต่เสียกรุงฯ ครั้งที่ ๒ พม่าเผากรุงศรีอยุธยา

    ๗ เมษายน พ.ศ.๒๓๑๐ เวลาประมาณบ่ายสามโมง พม่าจุดไฟสุมรากกำแพงเมืองตรงหัวรอที่ริมป้อมมหาชัย และยิงปืนใหญ่ระดมเข้าไปในพระนคร จากบรรดาค่ายที่รายล้อมทุกค่าย พอเพลาพลบค่ำกำแพงเมืองตรงที่เอาไฟสุมทรุดลง

    เวลา ๒ ทุ่ม แม่ทัพพม่ายิงปืนเป็นสัญญาณให้ทหารเข้าพระนครพร้อมกันทุกด้าน พม่าเอาบันไดปีนพาดเข้ามาได้ตรงที่กำแพงทรุดนั้นก่อน ทหารอยุธยาที่รักษาหน้าที่เหลือกำลังจะต่อสู้ พม่าก็สามารถเข้าพระนครได้ในเวลาค่ำวันนั้นทุกทาง

    ภาพที่เพจกลุ่มเยาวชนปลดแอก ปลุกการชุมนุมด้วยการนำภาพคล้ายการเผาพระบรมมหาราชวัง ต้องการสื่อสารถึงเรื่องนี้ใช่หรือไม่

    ก็คงได้คำตอบว่าไม่ใช่

    ไม่ใช่แม้กระทั่ง ภาพที่ปรากฏเสมอว่าม็อบสามนิ้วนิยมความรุนแรง

    วันที่ ๗ สิงหาคมนี้ หากม็อบสามนิ้วจบลงด้วยความรุนแรง กระทำต่อพระบรมมหาราชวัง ทุกอย่างเกี่ยวกับสามนิ้วจะเปลี่ยนโฉมทันที

     และไม่มีวันหวนกลับอีก.



Written By
More from pp
ก.แรงงาน หารือกลุ่มธุรกิจ YPO เร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ เยียวยาพนักงานพิษโควิด-19
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ร่วมหารือกับกลุ่มธุรกิจ YPO รับฟังสภาพปัญหาของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 พร้อมสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกอบการ ให้กิจการกลับมาฟื้นฟูโดยเร็ว พร้อมช่วยเหลือตามมาตรการของกระทรวงแรงงาน เยียวยาพนักงานลดผลกระทบจากโควิด
Read More
0 replies on “‘๗ สิงหาคม’ วันตัดสิน?-ผักกาดหอม”