“ตัดหัวพระ” บาปมั้ย?-เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

อืมมมม เรื่อง “พระ” นี่
เห็นจะเป็นวัตถุดิบให้สื่อใช้ปรุงเป็น “อาหารข่าว” ขายกินได้อีกหลายวันนะ!
ไล่มาตั้งแต่เรื่อง “มหาเถรสมาคม” มีมติ สั่งถอดถอนตำแหน่ง “เจ้าคณะจังหวัด ๓ จังหวัด” เมื่อ ๓๐ กย.๖๔
สายธรรมยุต ๑ จังหวัด คือ
-ถอดถอด “พระเทพสารเมธี” (บัวศรี ชุตินธโร) วัดประชานิยม กาฬสินธุ์ จากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์
แต่งตั้ง “พระครูสุทธิญาณโสภณ” (เล็ก สุทธิญาโณ) วัดป่านาขาม หนองคาย ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์

มหานิกาย ๒ จังหวัด
-ถอดถอน “พระราชปริยัติสุนทร” (อมรภิรักษ์ ปสันโน) วัดโสธรวรารามวรวิหาร ฉะเชิงเทรา จากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา
แต่งตั้ง “พระราชภาวนาพิธาน” (ศิริวัฒน์ สิริวัฑฒโน) วัดโสธรวรารามวรวิหาร ฉะเชิงเทรา ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา

-ถอดถอน “พระธรรมรัตนาภรณ์” (สมศักดิ์ โชตินธโร) วัดเขียนเขต ปทุมธานี จากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี แต่งตั้ง “พระราชสุทธิธรรมาจารย์” (สำอาง ตานทินโน) วัดประยูธรรมราม ปทุมธานี ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี

เท่าที่ผมตามดู พระคุณเจ้าทั้งที่พ้นตำแหน่งและที่รับตำแหน่ง ท่านจะเข้าใจ “โลกธรรม ๘ ประการ” ดีอยู่
คือ มีลาภ-เสื่อมลาภ, มียศ-เสื่อมยศ, มีสรรเสริญ-มีนินทา, และมีสุข-มีทุกข์

แต่ดูเหมือนญาติโยมและสื่อนั่นแหละ เห็นเป็นเรื่องร้ายในวงการคณะสงฆ์ จับหำ-จับหางช้าง คลำถูกตรงไหน ก็ร้องแรกแหกกระเฌอ ว่าตรงนี้-ตรงนั้น ใช่ช้าง

ก็เข้าใจ ว่าการสั่งปลดพระชั้นผู้ใหญ่ออกจากตำแหน่งปกครองสงฆ์ระดับจังหวัด มันเรื่องใหญ่ (ทางโลก) พอสมควร

แต่ก่อนที่ฆราวาสญาติโยม ซึ่งอยู่คนละส่วนกับกิจการคณะสงฆ์จะโวยวาย ทวงผิด-ทวงถูกแทนพระนั้น

ควรเข้าใจว่า พระที่ถูกถอดถอนและที่แต่งตั้งเข้าไปแทนนั้น มัน “ปลายเหตุ” ใช่มั้ย?

เท่าที่ฟังจากข่าวก็ดี จากญาติโยมโดยเฉพาะสายนักการเมืองก็ดี ก็แสดงความคิดเห็นและเคลื่อนไหวกันแบบ
คิดเอาเอง-นึกเอาเอง-เข้าใจเอาเอง ว่ามันต้องมาจากสาเหตุนั้น-นี้

ยังไม่มีใครสืบเสาะ ค้นหา จนได้คำตอบชัดๆ จากต้นตอ คือ “มหาเถรสมาคม” ว่า ด้วยอธิกรณ์ใด ด้วยเหตุผลใด

และด้วยผิดพลาดบอกพร่องการบริหารปกครองตามมาตราใดของ “พรบ.คณะสงฆ์” บนบรรทัดฐานของพระธรรมวินัย จนต้องถอดถอนพระทั้ง ๓ รูปนั้น ออกจากเจ้าคณะจังหวัด?

พระนั้น ไม่ว่ามีสมณะศักดิ์หรือเป็นแค่หลวงตา เว้นจากอาวุโสพรรษาแล้ว นอกนั้น เสมอกันหมดด้วยศีล ๒๒๗ ข้อ

คฤหัสถ์เมื่อบวชเป็นพระ มีธุระต้องทำแค่ ๒ อย่าง คือ คันถธุระ การศึกษาให้รู้พระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกตามควรแก่ภูมิปัญญาตน

และวิปัสสนาธุระ คือการนำสิ่งศึกษา-เรียนรู้ มาดัดกาย-ฝึกจิต คลายตน ให้เปลื้องออกจากอุปาทานอันเป็นเมือกยางที่ร้อยรัด ข้ามวัฎฎะสู่งฝั่งวิมุติ

นอกนั้น เป็นเรื่อง “อนุโลมโลก” ตามลักษณะสังคมและการปกครองสงฆ์ตามยุคสมัย รวมทั้งเรื่องตำแหน่งต่างๆ นั่นเป็นการเอื้อเฟื้อช่วยกันดูแลหมู่เหล่าให้อยู่ในกรอบโลกและกรอบธรรม

เรื่องยศ เรื่องตำแหน่ง ไม่ต่างตัวเล็น-ตัวไร ไชผ้าเหลือง มันเป็นส่วนเกิน ส่วนที่ไม่ใช่ เมื่อมีก็ทำหน้าที่อนุเคราะห์กันไป
การไม่มีได้นั้นแหละ บุญที่สุด

เท่ากับหลุดจากเมือกยางร้อยรัดไปได้เปลาะหนึ่งแล้ว พระคุณเจ้าเอ๋ย!

พูดตามสัตย์ ผมเนี่ย ทั้งดีใจ ทั้งหนักใจแทนพระคุณเจ้าทั้ง ๖ รูป ที่ถูกถอดจากตำแหน่งและเข้าไปรับตำแหน่งแทน
ที่ถูกถอด ผมว่าท่านอาจอุทาน เบาจริงโว้ย..เบาจริงโว้ย ในใจท่านก็ได้

แต่พวกญาติโยมลูกศิษย์ลูกหา เอาตัณหาส่วนตัวไปถมท่าน ฟูมฟายว่าเป็นการสูญเสีย

กับที่ได้รับตำแหน่งแทนนั้น ท่านอาจอุทานในใจว่า กรรมของอาตมาที่ต้องแบกของหนัก ก็เป็นได้ แต่ลูกศิษย์กลับปรีดาปราโมทย์ พระอาจารย์กูยศเฟื่อง-ตำแหน่งฟู

บทสวด “ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร” ว่าด้วยอริยสัจ ๔ ในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
เข้าใจว่าชาวพุทธส่วนใหญ่ ถึงไม่เคยสวด แต่ก็คงได้ยิน จะเข้าใจ-ไม่เข้าใจ เป็นอีกเรื่อง ท่านว่า

ชาติปิ ทุกขา การเกิดเป็นทุกข์
ชราปิ ทุกขา ความแก่เป็นทุกข์
มรณัมปิ ทุกขัง ความตายเป็นทุกข์

โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสาปิ ทุกขา ความโศก ความร่ำไรรำพัน ทุกข์กายทุกข์ใจ คับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์

อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์
ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข ความพลัดพรากจากสิ่งอันที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์

ยัมปิจฉัง นะ ละภะติ ตัมปิ ทุกขัง มีความปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์
สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา ว่าโดยย่อ “อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์”

เห็นมั้ย…..
พระคุณเจ้าระดับเจ้าคณะจังหวัด “ต้องรู้” และควรต้องทำให้แจ้ง ถ้าแจ้ง ๓ รูปที่ถูกถอด ต้องดีใจแน่

“อาตมาเบาแล้ว อาตมาพ้นทุกข์ไปเปลาะแล้ว ที่ไม่ต้องแบกแอก-แบกไถในตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดอีกต่อไป จะได้มุ่งทางวิปัสสนาธุระ”

ทำนองเดียวกัน ทั้ง ๓ รูปที่มารับตำแหน่งแทน ก็เท่ากับรับแอก-รับไถในตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดมาใส่บ่าตัวเองแทน

“ทุกข์” เกิดแล้วหนอ….
เกิดกับพระคุณเจ้า ทั้งผู้สมหวังและผู้ผิดหวัง

เว้นแต่จะเข้าใจ พุทธวจนะในประโยคที่ว่า “สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา”

คือจะไม่ทุกข์ ไม่หนัก ไม่สูญเสีย หรือไม่ได้เพิ่มพูนอะไรเลย ถ้าเข้าใจถึงแก่นที่พระพุทธองค์ตรัสบอกว่า

ทั้งหมด-ทั้งปวง ที่เรารู้สึกว่าทุกข์ ว่าสุข ว่าได้ ว่าเสีย อะไรนั่นน่ะ เคล็ดลับมันอยู่ที่ “อุปาทาน” ตัวเดียว

อุปาทาน คือ “ตัวยึด”
ถอนการยึดในขันธุ์ ๕ คือ ยึดในกาย ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญานออกซะ เท่านั้นแหละ

“หมดทุกข์-เลิกทกข์”!
ง่ายนิดเดียวเห็นมั้ย ธรรมชาติที่เป็นจริงก็อย่างนั้นจริงๆ แต่มันยากที่คนเราจะทำใจ “ไม่ยึด” ในอะไรๆ

ไม่ต้องดูอื่นไกล ซื้อเสื้อตัวใหม่ นั่งตัวแข็งเลย เพราะใจเรายึด ยึดความใหม่ จะทำอะไรก็กลัวเปื้อน

ตัวยึด คือ ตัวอุปาทาน
แต่พอหมดอุปาทาน คือหมดเห่อ-ไม่ยึดมันแล้ว ใครเอาไปเป็นผ้าเช็ดตีน ก็ไม่เห็นเจ็บจี๊ดที่หัวใจเหมือนตอนยึด-ตอนเห่อเลย!

ผมดูข่าววันก่อน “พระธรรมรัตนาภรณ์” ที่ถูกถอดจากเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ท่านบอกว่า

“เรื่องถอดถอนกับปลด มันอันตรายมาก สำหรับพระเหมือนถูกตัดคอ เหมือนถูกตัดหัวประหารชีวิต”

อืมมม…
น่าจะเป็น “พระธรรมรัตนาภรณ์บัญญัติ” ขึ้นเองนะ

นอกเหนือจากพระธรรมคำสั่งสอนพระพุทธองค์นะขอรับ พระคุณเจ้า!

ศีล ๒๒๗ สมบูรณ์ แล้วใครมาจับสึก บังคับให้ละจากสมณเพศ แบบนั้นแหละ เท่ากับ “ประหารชีวิต” พระโดยแท้

แต่กับแค่ตำแหน่งปกครองทางคณะสงฆ์ มันเปลือก เป็นส่วนเกิน ส่วนรุงรัง เป็นเมือกยางย้อมยึด สลัดหลุดได้ยิ่งประเสริฐกับสมณะ

แต่ไฉน พระคุณเจ้ากลับทึกทักเปลือกเป็นแก่นศีล-แก่นธรรมเล่า ว่าถูกถอด-ถูกปลด เหมือนถูกตัดหัวประหารชีวิต?!

ท่านพูดเป็นปริศนาธรรมให้ญาติโยมคิดกระมัง ว่าหัวที่ถูกตัดนั้น หมายถึง “หัวโขน” ทางคณะสงฆ์”?

เห็นว่ามีญาติโยมเข้าชื่อเป็นแสน จะไปร้องขอความเป็นธรรม ถ้าขออะไรที่เป็นธรรม ผมว่านั่นได้อยู่แล้ว

แต่ถ้า “ธรรม” ตามความหมายที่ต้องการไปขอกัน คือ “หัวโขนพระ” ในตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดละก็

ผมไม่แน่ใจนะว่า….

“มหาเถรสมาคม” ชุดปัจจุบัน ท่านจะมี “หัวโขน” สำหรับพระที่เข้าไม่ถึงคำว่า “ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา” หรือไม่?

ถอนหนาม-ถอนหนวด ถอนด้วยแหนบ พอได้

แต่ “ถอนอุปาทาน” จากใจ จะไชโยด้วยอธรรม ไม่มีหรอกครับ!

ภาพ: เฟซบุ๊ก วัดเขียนเขต พระอารามหลวง

 



Written By
More from plew
นอกชาติ “เปิดหน้า” ล่มชาติ
ก่อนคุยอะไรกันวันนี้ ขอประกาศนาม………. “นายศักดา วิเชียรศิลป์” อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคมชาติ สมเป็น “ข้าราชการของแผ่นดิน” ปฏิบัติหน้าที่มุ่งประโยชน์ชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง ด้วยสัตย์ซื่อและสุจริต
Read More
0 replies on ““ตัดหัวพระ” บาปมั้ย?-เปลว สีเงิน”