“ราเมศ” มีคำตอบทำไม ‘ปิยบุตร’ เข้าชี้แจงร่างแก้ไข รธน.ต่อรัฐสภาได้ ชี้ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง มิใช่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งไม่เข้าเงื่อนไขเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามตามรธน.

17 พฤศจิกายน 2564- นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขานุการประธานรัฐสภา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กถึงกรณี นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า สามารถเข้าชี้แจงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาได้ มีเนื้อหาดังนี้

“โพสต์นี้” มี “คำตอบ”ทำไม“นายปิยบุตร แสงกนกกุล”จึง สามารถเข้าชี้แจงร่างแก้ไข รธน ต่อรัฐสภาได้?

สรุปความเห็นทางกฎหมาย

นายปิยบุตร แสงกนกกุล ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งมิใช่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๙๖ บัญญัติไว้ ดังนั้น นายปิยบุตร แสงกนกกุล จึงยังเป็นบุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๕๖ (๑) ประกอบกับพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๖๔ มาตรา ๕ ได้ และเมื่อนายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นผู้แทนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงสามารถเข้าชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อที่ประชุมรัฐสภาได้ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๑๑๖ วรรคสอง

ความเห็นฉบับเต็ม
ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ยุติว่า

เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๖๓ ระหว่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้อง และพรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้อง โดยศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้อง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๙๒

วรรคหนึ่ง (๓) และวรรคสอง ประกอบมาตรา ๗๒ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้องที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๒ หรือวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นวันที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๙๒ วรรคสอง มีกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง และห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคผู้ถูกร้องดังกล่าวไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็กรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๙๔ วรรคสอง

จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว นายปิยบุตร แสงกนกกุล ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่จึงถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามคำวินิจฉัยศาลดังกล่าว

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว สามารถสรุปประเด็นข้อกฎหมาย ดังนี้

กรณีของนายปิยบุตร แสงกนกกุล ถูกตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสามารถชี้แจงเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (นายพริษฐ์ วัชรสินธุ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน ๑๓๕,๒๔๗ คน เป็นผู้เสนอ) ต่อที่ประชุมรัฐสภา ได้หรือไม่

ข้อกฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐
มาตรา ๙๖ บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

(๑) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(๒) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
(๓) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
(๔) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

มาตรา ๒๕๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๕๕ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้กระทำได้
ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้

(๑) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๖๔มาตรา ๕ ผู้มีสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภาต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ในวันที่เสนอร่างพระราชบัญญัติตามมาตรา ๑๑ หรือร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา ๑๖ แล้วแต่กรณี และมิได้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

การเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน การเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต้องมีผู้สิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน

ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๖๓

ข้อ ๑๑๖ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อเสนอให้เลขาธิการรัฐสภาจัดทำรายงานผลการดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเพื่อให้รัฐสภาทราบด้วย
ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้แทนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้น เป็นผู้เสนอและชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อที่ประชุมรัฐสภา

ข้อพิจารณา

เมื่อข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๕/๒๕๖๓ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ได้ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาสิบปีอันมิใช่เป็นการถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กรณีนี้จึงยังถือว่านายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งไม่เข้าเงื่อนไขเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๙๖ ได้บัญญัติไว้ นายปิยบุตร แสงกนกกุล จึงเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่สามารถเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖ (๑) ประกอบกับพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๖๔ มาตรา ๕ และกรณีที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล สามารถเข้าชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อที่ประชุมรัฐสภาในวาระที่หนึ่งได้

เนื่องจากข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๑๑๖ วรรคสอง กำหนดว่า “ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้แทนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้น เป็นผู้เสนอและชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อที่ประชุมรัฐสภา”

ดังนั้น นายปิยบุตร แสงกนกกุล ซึ่งเป็นผู้แทนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงสามารถเข้าชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อที่ประชุมรัฐสภาได้ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๑๑๖ วรรคสอง

สรุปความเห็นทางกฎหมาย

นายปิยบุตร แสงกนกกุล ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งมิใช่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๙๖ บัญญัติไว้ ดังนั้น นายปิยบุตร แสงกนกกุล จึงยังเป็นบุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๕๖ (๑) ประกอบกับพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๖๔ ข้อ ๕ ได้ และเมื่อนายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นผู้แทนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงสามารถเข้าชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อที่ประชุมรัฐสภาได้ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๑๑๖ วรรคสองทุกกระบวนการเป็นไป ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และข้อบังคับทุกประการ



Written By
More from pp
โฆษก ศบค. เผยร่างมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 แบ่งเป็น 3 กลุ่มกิจการ/กิจกรรม ขอความร่วมมือผู้ประกอบการเตรียมความพร้อม ย้ำให้รอมติที่ประชุม ศบค. 15 พ.ค.นี้
วันนี้ (11 พ.ค. 63) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.)...
Read More
0 replies on ““ราเมศ” มีคำตอบทำไม ‘ปิยบุตร’ เข้าชี้แจงร่างแก้ไข รธน.ต่อรัฐสภาได้ ชี้ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง มิใช่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งไม่เข้าเงื่อนไขเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามตามรธน.”