ปฐมบทยุบอนาคตใหม่

ผักกาดหอม

ครับ…

มันคือนิติกรรมอำพราง

เอกสารแถลงข่าวของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วานนี้ (๑๑ ธันวาคม) เขียนข้อความเอาไว้สั้นๆ ว่า……..

……..วันนี้ที่ประชุม กกต.ได้พิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง กรณีพรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่แล้ว

ที่ประชุมเห็นว่าการที่พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากนายธนาธร เป็นเงินจำนวน ๑๙๑,๒๐๐,๐๐๐  บาท เป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา ๗๒ แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๖๐

จึงมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ตามมาตรา ๙๒ วรรคหนึ่ง (๓) ประกอบมาตรา ๙๓ แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๖๐…..

มติ กกต. ๕ ต่อ ๒ ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่

“ปิยบุตร แสงกนกกุล” ชักแม่น้ำทั้งห้ามาอ้างเป็นเหตุผล

                ……..พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคที่เพิ่งเริ่มก่อร่างสร้างตัว จึงมีเรื่องต้องใช้ทุนจำนวนมาก

                ทั้งการตั้งสาขา ตั้งตัวแทนประจำจังหวัด

                รวมทั้งตั้งสำนักงานใหม่

                ปัญหาคือเมื่อเริ่มตั้งพรรค ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่ยอมยกเลิกประกาศให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองได้

                จึงทำให้พรรครับบริจาคและระดมทุนไม่ได้

                แต่เราจำเป็นต้องใช้เงิน

                จึงคิดว่าจะทำอย่างไรเมื่อเปิดกฎหมายดูก็ไม่ได้ห้ามให้กู้เงิน

                และพรรคการเมืองก็เป็นนิติบุคคลเอกชน

                หมายความว่าพรรคมีเสรีภาพจะทำอะไรก็ได้

                เว้นกฎหมายจะห้ามไว้

                และการห้ามต้องห้ามอย่างชัดแจ้ง

                แต่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่ได้ห้ามไว้ชัด ไม่มีบทบัญญัติไหนเขียนว่าห้ามพรรคการเมืองกู้เงิน

                มีแต่เรื่องห้ามรับเงินต่างชาติและห้ามตั้งสาขาพรรคนอกประเทศ แต่เราไม่ต้องการให้พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพียงคนเดียว

                ดังนั้นธนาธรจึงตัดสินใจให้พรรคกู้เงิน และถ้าพรรคเริ่มเปิดระดมทุนและรับบริจาคได้ก็จะทยอยคืนเงิน………

นั่นคือข้ออ้างจากปากนักกฎหมายใหญ่

และประเด็นสำคัญที่ “ปิยบุตร” พูดถึง กกต.คือ “การใช้กฎหมายต้องดูถึงคุณธรรมทางกฎหมาย จะตีความหรือขยายความไม่ได้ เพราะมันมีโทษอาญา”

ก็แสดงว่า “ปิยบุตร” รู้อยู่เต็มอกว่า กฎหมายบัญญัติเอาไว้อย่างไร

เมื่อถามถึงคุณธรรมทางกฎหมาย ก็มีประเด็นที่ “ปิยบุตร” ต้องตอบสังคมในประเด็นจริยธรรมเช่นกัน

เอาง่ายๆ…..

พรรคการเมือง ไม่ใช่บริษัทเอกชน

พรรคการเมืองมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน ไม่ใช่องค์กรทางธุรกิจ มิได้เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน

เบี้องต้นประเด็นนี้ “ปิยบุตร” อย่าลักไก่สรุป ว่าพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลเอกชน

เนื่องจากพรรคการเมืองมีลักษณะสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นองค์การที่มีส่วนสำคัญในการเมืองการปกครองอันเป็นแดนกฎหมายมหาชน

แต่อีกด้านหนึ่งเป็นองค์การที่เกิดจากการรวมกลุ่มของบุคคลอันเป็นแดนกฎหมายเอกชน คำถามที่สำคัญจึงมีว่า

สถานะของพรรคการเมือง นิติบุคคลเอกชนหรือมหาชนกันแน่

นิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน คือ นิติบุคคลที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีด้วยกัน ๕ ประเภท ได้แก่

บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน สมาคม มูลนิธิ

ส่วนนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน คือ นิติบุคคลที่บัญญัติไว้ในกฎหมายมหาชนอื่นๆ ซึ่งมีเยอะ

จังหวัด กระทรวง ทบวง กรม องค์การมหาชน วัด ฯลฯ

เป็นความจริงที่ว่า การจดทะเบียนพรรคการเมือง มีสภาพเป็นนิติบุคคลเอกชน

แต่…อีกแดนหนึ่งของกฎหมาย ก็มีสถานะในแดนกฎหมายมหาชน

เช่น การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง การใช้จ่ายในการเลือกตั้ง

วัตถุประสงค์ของพรรคการเมืองมุ่งเน้นไปที่กิจกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะการเข้าสู่อำนาจการเมืองการปกครองของประเทศผ่านการเลือกตั้ง

กฎหมายพรรคการเมืองมีลักษณะที่ค่อนข้างไปในทางที่ควบคุมดูแล มากกว่าที่จะปล่อยให้เป็นแดนอิสระในทางเอกชน

เช่นการกำหนดให้พรรคการเมืองต้องมีวัตถุประสงค์อันสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ในชั้นของข้อบังคับพรรค

การบริหารพรรคต้องไม่เป็นเผด็จการ

ไม่ใช่พรรคของนายทุน

นี่คือพรรคการเมืองในแดนกฎหมายมหาชน

ฉะนั้นการกู้เงินเพื่อนำไปใช้ในการเลือกตั้ง ในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง อยู่ในแดนของกฎหมายเอกชน หรือ กฎหมายมหาชน

นักกฎหมายใหญ่อย่าง “ปิยบุตร” น่าจะตอบได้

คุณธรรมทางกฎหมาย ยิ่งจะตอบยากกว่า เพราะ “ธรรม” เหนือกว่า “กฎหมาย” หลายขั้น

พรรคการเมืองใช่ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท ที่ต้องการกำไรหรือไม่

ถ้าตอบว่าใช่ ประเทศฉิบหายวายป่วง

เมื่อไม่ใช่ การกู้เงินโดยไม่สามารถหากำไรได้ แต่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ ถามว่าหากพรรคการเมืองไทยทุกพรรคกู้เงิน สุดท้ายจะตกอยู่ภายใต้อาณัติของใคร

พรรคอนาคตใหม่ กู้เงินจาก “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” มีด้วยกัน ๒ สัญญา

สัญญาแรก ลงวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๒ โดย นิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ เหรัญญิกพรรค ปฏิบัติหน้าที่แทนหัวหน้าพรรคเป็นผู้ทำสัญญากู้

มี ปิยบุตร แสงกนกกุล และ พุฒิพงศ์ พงศ์อเนกกุล ลงชื่อเป็นพยานในการทำสัญญากู้เงิน

เป็นการกู้เงินจำนวน ๑๖๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท พรรคอนาคตใหม่ตกลงจะชำระเงินกู้ ภายใน ๓ ปี

แบ่งเป็นปีที่ ๑ ชำระ ๘๐ ล้านบาท ปีที่ ๒ ชำระ ๔๐ ล้านบาท และปีที่ ๓ ชำระ ๔๑,๒๐๐,๐๐ บาท

คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี

สัญญาที่ ๒ ลงวันที่ ๑๑ เมษายน  ๒๕๖๒ คนทำสัญญา และพยานยังคงเป็นบุคคลเดิม

เป็นการกู้เงินจำนวน ๓๐ ล้านบาท

พรรคอนาคตใหม่ตกลงจะชำระเงินกู้ภายใน ๑ ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๒ ต่อปี

ถ้าพรรคอนาคตใหม่ไม่มีเงินจ่ายตามสัญญา “ธนาธร” จะฟ้องร้องเรียกเงินคืนหรือไม่

เว้นเสียว่า “ธนาธร” ไม่อยากได้เงินคืน เพราะไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน

แต่พรรคอนาคตใหม่ ก็เป็นหนี้บุญคุณ “ธนาธร” ตลอดกาล

มันก็กลับไปสู่อีหรอบเดิม อนาคตใหม่เป็นพรรคของนายทุน

นั่นเป็นเหตุให้ มาตรา ๗๒ แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๖๐ บัญญัติไว้ว่า

“……..ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย………..”

ประเด็นสำคัญอีกประการ พรรคการเมืองมีเสรีภาพทำอะไรก็ได้ เพราะเป็นนิติบุคคลเอกชน ตามที่  “ปิยบุตร” ระบุเอาไว้จริงหรือไม่

เมื่อการอยากได้เงินอยู่เหนือคุณธรรมทางกฎหมาย ก็ไม่แปลกที่ “ปิยบุตร” จะพูดเช่นนั้น

พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา ๖๒ พรรคการเมืองอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้

(๑) เงินทุนประเดิมตามมาตรา ๙ วรรคสอง

(๒) เงินค่าธรรมเนียมและค่าบํารุงพรรคการเมืองตามที่กําหนดในข้อบังคับ

(๓) เงินที่ได้จากการจําหน่ายสินค้าหรือบริการของพรรคการเมือง

(๔) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง

(๕) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการรับบริจาค

(๖) เงินอุดหนุนจากกองทุน

(๗) ดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง

การได้มาซึ่งรายได้ตาม (๒) (๓) (๔) และ (๕) ต้องมีใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานการได้มา

ซึ่งรายได้นั้นเป็นหนังสือ ทั้งนี้ ตามแบบที่คณะกรรมการกําหนด

พ้นจากนี้ทำไม่ได้

และเมื่อพรรคอนาคตใหม่ทำไปแล้ว จากนี้ไปก็อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ

ว่าจะยุบเพราะนิติกรรมอำพรางนี้หรือไม่.

Written By
More from pp
“สาธิต” ชวนกลุ่มเสี่ยง 608 ฉีดวัคซีนโควิด ลดป่วย ลดตาย สร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยว
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ให้กำลังใจ แพทย์ พยาบาล และอสม.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี ชวนกลุ่มเสี่ยง 608 เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิดให้ครบตามเป้าหมาย ลดการป่วยหนักและเสียชีวิต และสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยว
Read More
0 replies on “ปฐมบทยุบอนาคตใหม่”