เชื่อหมออย่าเชื่อหมา (อีกรอบ)-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

เบื่อนักการเมืองปากอย่างใจอย่าง

ฉีดวัคซีนไม่บอกใคร

พอสังคมรู้เข้าโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ

ขู่จะฟ้องให้เรียบ

ก็ไม่รู้จะโมโหไปทำไม กับอีแค่ฉีดวัคซีน

ช่างไร้ประโยชน์จริงๆ

ครับ…องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่าประชากรเกินครึ่งในยุโรปจะติดโควิด-๑๙ สายพันธุ์โอมิครอน ภายในเดือนมีนาคมนี้

สื่อต่างประเทศตีข่าวกันใหญ่โต ว่ายังมีผู้คนเดินพลุกพล่านบนถนนสายหลักกลางกรุงลอนดอน ส่วนใหญ่ไม่สวมหน้ากากอนามัย

ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ วันละ ๑-๒ แสนราย

มีตัวเลขน่าตกใจ ช่วง ๗ วันที่ผ่านมา ยุโรปมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกือบ ๘ ล้านคน

จะเยอะไปไหน

องค์การยายุโรป (อีเอ็มเอ) ชี้ว่าการแพร่กระจายของโอมิครอนกำลังผลักดันให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่มนุษยชาติสามารถอยู่ร่วมได้

เราจะเริ่มได้ยินประโยคเช่นนี้ถี่ขึ้นเรื่อยๆ จากทั่วโลก รวมทั้งในไทย

แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้ช่วยรองโฆษก ศบค. สรุปสถานการณ์โดยรวมไว้วานนี้ (๑๒ มกราคม) ว่า ลักษณะของโรคมีการลดความรุนแรงลง และประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน อัตราการป่วย และเสียชีวิตอยู่ในระดับที่ต่ำ รวมทั้งการให้ความร่วมมือของประชาชน และสถานประกอบการ

จึงคาดหวังว่า ในปีนี้ โควิดจะเปลี่ยนจาก “โรคระบาด”  เป็น “โรคประจำถิ่น”

โอมิครอน จะเป็นไวรัสโควิด-๑๙ ตัวสุดท้ายหรือไม่ ในทางการแพทย์ก็ยังไม่ชัดครับ

แต่ผู้เชี่ยวชาญอย่าง หมอแอนโทนี เฟาซี หัวหน้าทีมที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยืนยันว่า แม้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ และผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในสหรัฐฯ จะสูงเป็นประวัติการณ์ แต่สหรัฐฯ กำลังอยู่ในเกณฑ์เปลี่ยนผ่านไปสู่การอยู่ร่วมกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ที่สามารถจัดการและรับมือได้

“เมื่อเราไปถึงจุดนั้นก็จะเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ซึ่งในตอนนี้เราอาจจะอยู่ในเกณฑ์อยู่ร่วมกับไวรัส”

วันนี้ มนุษย์โลกเสียชีวิตเพราะ โควิด-๑๙ กว่า ๕.๕  ล้านคนแล้วครับ

ในข่าวร้ายก็มีข่าวดีอยู่บ้าง อัตราการเสียชีวิตในปัจจุบันอยู่ในช่วงขาลง

แต่โควิด-๑๙ จะทำให้มนุษย์เสียชีวิตไปอีกกี่ล้านคน ยังคงเป็นคำตอบที่ตอบยากมาก

แน่นอนว่า ไม่น่าจะเท่าการระบาดของ กาฬโรค ในช่วงปี พ.ศ.๑๘๘๙-๑๘๙๖ ปลายอาณาจักรสุโขทัย ต้นกรุงศรีอยุธยา

เหตุการณ์ครั้งนั้นถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์โรคระบาดที่ร้ายแรง และโด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

คาดว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งหมดถึง ๗๕-๒๐๐ ล้านคน

มากมายแค่ไหนน่ะหรือ

ก็ ๑ ใน ๓ ของประชากรโลกในขณะนั้นเลยทีเดียว

สาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย เยอร์ซีเนีย เพสติส  (Yersinia Pestis) ซึ่งแพร่ระบาดอยู่ในสัตว์จำพวกหนูในแถบตอนกลางของเอเชีย

จุดเริ่มต้นเชื่อว่ามาจากขบวนคาราวานที่เดินทางมาจากเอเชีย เข้าไปยังท่าเรือที่ซิซิลี ประเทศอิตาลี ประมาณปี พ.ศ.๑๘๙๐ ก่อนที่จะแพร่ต่อไปทั่วทั้งทวีปยุโรป

ว่ากันว่าซากศพของคนที่ตายนั้น ทับถมกันจนสูงเป็นเนิน ทำให้ไม่สามารถเผาทำลายได้อย่างทันท่วงที

เมื่อซากเริ่มเน่าสลายก็ก่อให้เกิดเชื้อโรคกระจายลงทั้งพื้นดิน

ลงสู่แหล่งน้ำ โรคจึงระบาดไม่จบสิ้น

ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-๑๙ ทั่วโลกในขณะนี้เทียบแล้วเท่ากับ สงครามโลกครั้งที่สอง

เป็นสงครามที่กินเวลาตั้งแต่ปี ๒๔๘๒ ถึง ๒๔๘๘  ประเทศส่วนใหญ่ในโลกมีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งรัฐมหาอำนาจทั้งหมด

แบ่งเป็นพันธมิตรทางทหารคู่สงครามสองฝ่าย คือ ฝ่ายสัมพันธมิตรและฝ่ายอักษะ

เป็นสงครามที่กว้างขวางที่สุดในประวัติศาสตร์ มีทหารกว่า ๑๐๐ ล้านนายจากกว่า ๓๐ ประเทศเข้าร่วมโดยตรง

สงครามนี้มีลักษณะเป็น “สงครามเบ็ดเสร็จ” ประเมินกันว่ามีผู้เสียชีวิตระหว่าง ๕๐ ถึง ๘๕ ล้านคน

สงครามโลกครั้งที่สองจึงนับว่าเป็นสงครามขนาดใหญ่ที่สุด ใช้เงินทุนมากที่สุด และมีผู้เสียชีวิตสูงสุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

แต่ถ้าเป็นโรคระบาดด้วยกัน ก็เท่ากับการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ หรือไข้หวัดสเปน ช่วง พ.ศ.๒๔๖๑-๒๔๖๓

เป็นการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ที่มีผู้เสียชีวิตมากผิดปกติ

มีผู้ได้รับผลกระทบ ๕๐๐ ล้านคนทั่วโลก รวมถึงหมู่เกาะแปซิฟิกห่างไกลและอาร์กติก

ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๔๐-๕๐ ล้านคน

สำหรับเหยื่อโควิด-๑๙ สายพันธุ์โอมิครอน ไม่ได้ล้มหายตายจากเป็นใบไม้ร่วงเหมือนในช่วงเดลตาระบาด ฉะนั้นยังเทียบชั้น กาฬโรคในอดีตไม่ได้แน่นอน

แต่ที่ค่อนข้างชัดเจนแล้วในวันนี้คือ โอมิครอนระบาดเร็วทุบสถิติโควิดทุกสายพันธุ์ไปแล้ว

หมอยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปประเด็นให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้ครับ

…โควิด-๑๙ โอมิครอน หลังจากที่มีการระบาดมาแล้ว ๒ เดือน

มีข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับ โอมิครอน เพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว

โอมิครอน ระบาดได้รวดเร็วมาก กระจายไปทั่วโลก พบแล้วมากกว่า ๑๔๐ ประเทศ หรือจะเรียกว่าทั่วโลกก็ได้  แสดงถึงการขยายตัวเพิ่มขึ้นเร็วมากและกำลังจะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลตา

โอมิครอน ติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นที่ผ่านมา

ผู้ติดเชื้อ โอมิครอน มีความรุนแรงของโรคน้อยกว่าสายพันธุ์ที่ผ่านมา อัตราผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยกว่า และภาพรวมอัตราการตายของ โอมิครอน ก็ลดลงกว่าสายพันธุ์ หรือที่มีการระบาดก่อนหน้านี้

การตรวจวินิจฉัย ไม่ว่าจะเป็น RT-PCR หรือการตรวจอย่างรวดเร็วด้วย ATK ไม่ได้เปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพ เพราะ RT-PCR ส่วนมากเราใช้ยีน N และ RdRp ที่มีความคงที่

ส่วน RDT ก็เป็นการตรวจ nucleocapsid ไม่ใช่เป็นการตรวจหา spike protein ซึ่งส่วนของ nucleocapsid มีความเสถียรมากกว่า

โอมิครอน หลบหลีกภูมิต้านทานได้ ภูมิต้านทานที่เกิดจากวัคซีน ไม่ว่าจะเป็น AZ หรือ mRNA ส่วนใหญ่มีเป้าหมายอยู่ที่ spike protein ที่ โอมิครอน มีการเปลี่ยนแปลงมาก

จึงทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนที่ผ่านมาลดลง

ประกอบกับ ระยะฟักตัวของโรคสั้น จึงต้องใช้ระดับภูมิต้านทานที่สูงอยู่ตลอดเวลาในการป้องกันการติดโรค เมื่อภูมิต้านทานลดลงก็ไม่สามารถที่จะป้องกันได้ แต่กระบวนการกำจัด หรือหายจากโรค อาศัยระบบภูมิต้านทานส่วนอื่นด้วย  จึงทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนมีอาการของโรคน้อยลง และจะหายจากโรคได้เร็วกว่า

ทุกครั้งที่มีการระบาดเพิ่มขึ้นจะมีผลต่อสุขภาพร่างกาย  เศรษฐกิจ สังคมและจิตใจ ผลกระทบทางจิตใจ ในบางครั้งมีความสำคัญมากกว่าทางร่างกายเสียอีก

สังคมปัจจุบัน ข้อมูลข่าวสารถึงกันได้อย่างรวดเร็วมาก  มีการสื่อทางสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว ในบางข่าวจะมีความจริงเพียงเล็กน้อยและใส่ความเห็นเป็นจำนวนมาก  ความเห็นจะมีแนวโน้มเอียง หรือมีอคติได้ ข้อมูลที่ได้จากสื่อสังคม จะต้องพิจารณาแยกแยะให้ได้…

ครับ…คงต้องอ้อนวอนกันอีกรอบ

เชื่อหมอ อย่าเชื่อหมา

หมาด่าเรื่องวัคซีน แต่ดันไปฉีดวัคซีนไม่บอกใคร

มันน่าเชื่อถือซะที่ไหนล่ะครับ


Written By
More from pp
ออมสิน ส่งเสริมการออมด้วยเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 2.5 ปี ดอกเบี้ยสูง ยิ่งฝากนานกว่ายิ่งคุ้ม
ธนาคารออมสิน ชวนคนไทยมาออมเงิน ผ่านผลิตภัณฑ์ “เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 2.5 ปี” ที่ให้อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดสูงสุด 5% เพื่อเป็นเงินสำรองเสริมสร้างความมั่นคงของชีวิตในอนาคต ดอกเบี้ยสูง ยิ่งฝากนานยิ่งคุ้ม!!
Read More
0 replies on “เชื่อหมออย่าเชื่อหมา (อีกรอบ)-ผักกาดหอม”