นักวิจัย มรภ.สวนสุนันทา สร้างวิจัยเชิงสังคมศาสตร์เพื่ออนุรักษ์ “ต้นชะโนด” ส่งเสริม “น้ำบัวแดง” ลดความเหลื่อมล้ำ-สร้างความยั่งยืนแก่ชาวบ้านท้องถิ่น

พื้นที่จังหวัดอุดรธานี มีความเป็นอัตลักษณ์ทั้งวัฒนธรรมประเพณี รวมถึงด้านภูมิศาสตร์ ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยว ทั้งคำชะโนดและทะเลบัวแดงที่มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ โดยจำเป็นต้องอาศัยประชาชนในพื้นถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลพื้นที่ พร้อมยกระดับในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถสร้างรายได้ด้วยตนเอง

ทำให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูสิทธ์ ภูคำชะโนด อาจารย์ประจำแขนงวิชาการจัดการพัฒนาสังคม ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้เริ่มดำเนินการวิจัย การบริหารการพัฒนาอัตลักษณ์ “คำชะโนด” อนุรักษ์ “รุกขนาคา” เมืองอุดรธานีสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนร้านค้าผลิตผลคนรากหญ้า อยู่ดีมี สุขลดความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน โดยการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูสิทธ์  เล่าถึงที่มาของดำเนินงานวิจัยในครั้งนี้ว่า มาจากพื้นที่ของคำชะโนดซึ่งมีความเชื่อเรื่องพญานาคที่ได้รับการสืบทอดมาเป็นเวลานาน มีวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะ ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวมีความศรัทธาต่อเจ้าปู่ศรีสุทโธ เจ้าย่าศรีปทุมมา เข้ากราบสักการะทุกปี

แต่งานวิจัยส่วนใหญ่จะเข้าไม่ถึงประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ไม่มีงานวิจัยในมิติของคุณค่าวัฒนธรรม คติชนต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นงานวิจัยเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ หรือผลกระทบจากการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นบริบทรอบนอกมากกว่า รวมถึงยังไม่มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์กับ “ต้นชะโนด” หรือ “รุกขนาคา” ซึ่งเป็นต้นไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ด้วย จึงได้เริ่มต้นงานวิจัยเพื่ออนุรักษ์ ซึ่งก็เก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2554 และขยายพันธุ์ต้นชะโนด ด้วยการผูกองค์ประกอบกับความเชื่อของประชาชนในพื้นถิ่นเข้าไว้ด้วยกัน

เริ่มต้นจากการทำพิธี นำเมล็ดต้นชะโนดไปเพาะพันธุ์ไว้จากนั้นจึงได้นำกลับมาปลูกในเกาะคำชะโนดอีกครั้ง พร้อมประกอบพิธีบวงสรวง ซึ่งพื้นที่กลับมาปลูกนั้นก็เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อในท้องถิ่น ผู้คนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงได้ ทำให้ไม่ถูกรบกวนจากภายนอก ซึ่งล่าสุดในปี 2563 ได้ร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ นำต้นชะโนดที่ได้รับการเพาะพันธุ์ มาปลุกในเกาะคำชะโนดเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 700 ต้น ทำให้ตั้งแต่เริ่มต้นงานวิจัยจนถึงปัจจุบัน มีต้นชะโนดที่ได้รับการปลูกในพื้นที่เหล่านี้แล้วทั้งสิ้นกว่า 3,028 ต้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูสิทธ์  กล่าวว่า นอกจากการเพาะพันธุ์ต้นชะโนดเพื่อนำมาปลูกแล้ว ยังได้ปรึกษาพูดคุยกับร้านค้าและประชาชนในท้องถิ่น นำของส่วนประกอบของต้นชะโนด มาประดิษฐ์เป็นบายศรีสู่ขวัญรูปพญานาค เพื่อในมาใช้ในพิธีบวงสรวงต่าง ๆ เนื่องจากลักษณะใบมีเกล็ดคล้ายกับพญานาค ผู้คนต่างนำใช้เพื่อมาบูชาสิ่งศักดิ์สิทธ์ในเกาะคำชะโนดและมีความสวยงามอย่างมาก โดยสิ่งที่ต้องการจะต่อยอดคือ อยากจะเพาะพันธุ์ต้นชะโนดให้มากขึ้น เพื่อนำมาปลูกในพื้นที่อื่นนอกเกาะคำชะโนด ให้เป็นหนึ่งในพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์พืชของท้องถิ่นได้ต่อไป

ขณะเดียวกันก็ได้มีงานวิจัยย่อย ลงพื้นที่ “ทะเลบัวแดง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหนองหาน อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่มีความสวยงามแต่ยังมีจุดอ่อน ด้านการรวมกลุ่มของประชาชนในท้องถิ่นเพื่อทำผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น ดังนั้นจึงได้ส่งเสริมให้ประชาชนรวมกันเป็นกลุ่ม เพื่อผลิต “น้ำบัวแดง” ขึ้นมา เพราะเป็นของที่ทำได้ง่ายไม่ซับซ้อน และยังสามารถช่วยลดความกระหายแก่ผู้มาท่องเที่ยวได้อีกด้วย ซึ่งสุดท้ายก็ได้เป็นสินค้าอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เมื่อเดินทางมาถึงทะเลบัวแดงก็จะมีน้ำบัวแดงขาย นอกจากจะเป็นผลิตภัณฑ์แล้วยังเป็นส่วนหนึ่งของการบ่งบอกประวัติศาสตร์ความเป็นมาของท้องถิ่นแห่งนี้ได้อีกด้วย

ทั้งนี้ จากโครงการดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการสร้างรายได้หมุนเวียนภายในชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำลงได้ จากเดิมที่บ้านพักอาศัยของประชาชนเป็นบ้านไม้ แต่กลับมีความเจริญมากขึ้นอย่างเห็นชัด ช่วยลดความเหลื่อมล้ำสร้างความยั่งยืนทางสังคมได้มากกว่าเดิม และสิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ประชาชนทั้งในพื้นที่ของเกาะคำชะโนด และ ทะเลบัวแดงเอง ต่างมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนที่พัฒนาท้องถิ่นและผลิตภัณฑ์ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของอัตลักษณ์ในสิ่งที่มีอยู่ ทั้งต้นชะโนด บายศรีคำชะโนด หรือน้ำบัวแดง

“สุดท้ายสิ่งที่อยากฝากคือ การทำงานวิจัย ไม่ได้มีเพียงแค่วิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความเข้าใจถึงอัตลักษณ์ หรือด้านสังคมศาสตร์ด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลในท้องถิ่นนั้นอย่างรอบด้านและลึกซึ้งที่สุด จนนำมาสู่การพัฒนาท้องถิ่นได้ “ ผศ.ดร.ภูสิทธ์ กล่าว



Written By
More from pp
กระทรวงแรงงาน รวมพลัง เครือข่ายด้านความปลอดภัยในการทำงาน ร่วมจัดงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ เพื่อสร้างวัฒนธรรมไทยเชิงป้องกัน ด้วยค่านิยมร่วม สติรู้ตัว วินัยถูกต้อง เอื้ออาทรใส่ใจ (MDC)
กระทรวงแรงงาน โดย สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) หรือ สสปท.ร่วมกับ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.)...
Read More
0 replies on “นักวิจัย มรภ.สวนสุนันทา สร้างวิจัยเชิงสังคมศาสตร์เพื่ออนุรักษ์ “ต้นชะโนด” ส่งเสริม “น้ำบัวแดง” ลดความเหลื่อมล้ำ-สร้างความยั่งยืนแก่ชาวบ้านท้องถิ่น”