หมายังไม่กัดพร่ำเพรื่อ-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

มันยกร่อง!

“วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จาก “ก้าวไกล” ชูสโลแกน “พร้อมชน” เพื่อคนกรุงเทพฯ

แค่เริ่มต้นก็แข็งกร้าว เลือดสาดกันแล้ว

ทางพรรคก้าวไกล มองว่าปัญหาของกรุงเทพฯ ที่ผู้ว่าฯ ต้องชน มีอย่างน้อย ๓ เรื่อง

………เรื่องแรก ต้องชนกับระบบราชการเก่าแก่ของ กทม.

ให้เหตุผลว่า ถึงแม้ประชาชนจะได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นจังหวัดเดียวในประเทศ แต่หน่วยราชการทั้งหมดกลับไม่ทำงานรับใช้ประชาชน

ในขณะที่ถนน ทางเท้า และบริการพื้นฐานในชีวิตประชาชนต่างจังหวัดได้รับการดูแลโดยเทศบาล ซึ่งมีความใกล้ชิดกับประชาชน

แต่คนกรุงเทพฯ กลับมีสำนักงานเขตที่ห่างไกลกับประชาชน  ประชาชนที่รับบริการของ กทม.ยังพบเจอความล่าช้า ระบบส่วย การทุจริต เป็นเรื่องปกติ ถ้าผู้ว่าฯ กทม.ไม่กล้าชนกับระบบราชการของ กทม. เราเชื่อว่าปัญหาพื้นฐานในกรุงเทพฯ จะไม่สามารถแก้ไขได้

เรื่องที่สอง ต้องชนกับรัฐราชการส่วนกลางที่รวมศูนย์ เพราะถึงแม้คนกรุงเทพฯ จะได้เลือกผู้ว่าฯ แต่การให้บริการสาธารณะขั้นพื้นฐานส่วนใหญ่ ไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของ กทม.

ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการรถเมล์ของ ขสมก. ที่สังกัดกระทรวงคมนาคม, รถไฟฟ้าเป็นของ กทม. เฉพาะสายสีเขียว ส่วนรถไฟฟ้าสายอื่นเป็นของ รฟท.และ รฟม. ที่สังกัดกระทรวงคมนาคม การติดตั้งสายไฟและไฟส่องสว่างอยู่ในเขตอำนาจของการไฟฟ้านครหลวงที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย ตำรวจและการจราจรในกรุงเทพฯ เป็นอำนาจของ  สตช.

ดังนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาในชีวิตพื้นฐานของคนกรุงเทพฯ เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐบาลส่วนกลางเหล่านี้ ที่ผ่านมาเรามีผู้ว่าฯ ที่ประสานงานกับทุกฝ่าย หรือแม้แต่แต่งตั้งมาด้วย ม.๔๔  แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ที่เรายังไม่มีจริงๆ คือผู้ว่าฯ ที่พร้อม  “ชน” กับหน่วยงานเหล่านี้เพื่อแก้ปัญหาของคนกรุงเทพฯ

เรื่องสุดท้าย คือการชนกับกลุ่มทุน ที่สัมพันธ์กับทุกอณูการใช้ชีวิตของกรุงเทพฯ

การให้บริการสาธารณะและการจัดการเมือง สัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับกลุ่มทุน ที่เห็นได้ชัดคือการให้สัมปทานรถไฟฟ้า การก่อสร้างห้างสรรพสินค้าและอาคารสูง ที่หลายครั้งผู้ว่าฯ กทม. “ประสานงาน”,  “ขอความร่วมมือ”, “ไม่สามารถดำเนินการได้”, “ไม่อยู่ในเขตความรับผิดชอบ” ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนเหล่านี้…….

ครับ…สรุปคือพร้อมพุ่งชนทุกทิศ

ไม่ทราบว่า ก่อนประกาศสโลแกนนี้ พรรคก้าวไกลได้เปิด พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.๒๕๒๘ อ่านกันบ้างหรือเปล่า

มาตรา ๔๙ กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเอาไว้ดังต่อไปนี้

 (๑) กำหนดนโยบายและบริหารราชการของกรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามกฎหมาย

 (๒) สั่ง อนุญาต อนุมัติเกี่ยวกับราชการของกรุงเทพมหานคร

 (๓) แต่งตั้งและถอดถอนรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และแต่งตั้งและถอดถอนผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษาหรือคณะที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือเป็นคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติราชการใดๆ

 (๔) บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย

 (๕) วางระเบียบเพื่อให้งานของกรุงเทพมหานครเป็นไปโดยเรียบร้อย

 (๖) รักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร

 (๗) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น

ต้องเข้าใจนะครับตามกฎหมาย กรุงเทพมหานคร ไม่ใช่รัฐอิสระ ที่ผู้ว่าฯ กทม.คิดจะทำอะไรได้ตามใจทั้งหมด ยังต้องยึดโยงกับรัฐบาลกลาง

และในข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะเป็นสหพันธรัฐ มลรัฐ บางเรื่องที่เกินตัวก็ยังต้องพึ่งพารัฐบาลกลาง

ก้าวไกลชนทุกอย่าง ถามหน่อย ไหวหรือ

หากจะชนทุกทิศ ไม่ให้กระทรวงมหาดไทย รัฐบาล มาเกี่ยวข้อง ไม่มีวิธีอื่นนอกจากพรรคก้าวไกลต้องแก้กฎหมายเสียก่อน

แต่สังเกตดูดีๆ นะครับ แคมเปญหาเสียงผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคก้าวไกล ถอดแบบมาจากการเมืองระดับชาติแทบจะไม่มีอะไรผิดเพี้ยน

การใช้คำว่า “ระบบราชการเก่าแก่” พรรคก้าวไกลซึ่งไม่เคยมีอำนาจรัฐในมือ มองระบบราชการทุกหน่วยงานว่าล้าหลังทั้งหมด

ไม่มีองค์กรไหนพัฒนาเลย

ไม่ต่างจากสิ่งที่ก้าวไกลพยายามทำอยู่คือ ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ปฏิรูปกองทัพ

หรือ “รัฐราชการส่วนกลางที่รวมศูนย์” นี่คือสิ่งที่ได้ยินบ่อยครั้งจากพรรคก้าวไกล แต่ก็มีมูลความจริงอยู่เหมือนกัน การรวมศูนย์ของระบบราชการหากพูดในบริบทอื่นๆ เช่น ระบบการศึกษา งบประมาณรายจ่าย จะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหามากกว่า

แต่ในแง่การบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ที่มีกฎหมายแยกการบริหารอย่างชัดเจน แล้วยังบอกว่าอำนาจไปรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง อาจทำให้ประชาชนไขว้เขวได้

 แม้กระทั่งการบอกว่า “ชนกับกลุ่มทุน” ที่ก้าวไกลเชื่อมาตลอดว่า กลุ่มทุน คือเครือข่ายกลุ่มอนุรักษนิยม และโยงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

นี่คือแนวคิดย่อส่วน

ถามว่า แนวคิดแบบนี้นำไปบริหารกรุงเทพมหานครให้ดีขึ้นได้หรือไม่

คำตอบก็คงไม่ต่างที่ ก้าวไกล บอกว่า ต้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์โดยด่วน ถ้าไม่ได้อนาคตประเทศพัง

นี่ขนาดยังไม่เปิดรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เลย ยังท้ารบไปทั่วแล้ว

ยิ่ง “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” เป็นผู้สมัครพรรคก้าวไกลด้วยแล้ว     สรุปได้เลย ถ้าสอบได้ กทม.พินาศ แต่ละวันจะหมดไปกับการชน การทะเลาะ

มาตรา ๘๙ ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร กำหนดให้กรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการในเขตกรุงเทพมหานคร ๒๗ อย่างครับ

ไม่ว่าจะเป็น

การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน

การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง

การผังเมือง

การวิศวกรรมจราจร

การขนส่ง

การดูแลรักษาที่สาธารณะ

การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัดและจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย

การพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

การสาธารณูปโภค

การสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาล

การจัดการศึกษา ฯลฯ

นี่คืออำนาจหน้าที่ของ กรุงเทพมหานคร ไม่ต้องไปรบกับระบบราชการที่ไหน

ยกเว้นว่า “ก้าวไกล” มีแผนทำงานเกินตัว ผ่านตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. นั่นอาจต้องรบกับหน่วยราชการอื่น

ครับ…อย่าห้าว อย่าคิดแต่จะชน เพราะท่าทีเช่นนี้มันจะสร้างแต่ความขัดแย้ง

ลองสงบสติอารมณ์ แล้วบอกกับประชาชนว่า ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะทำอะไรบ้างตามที่กฎหมายให้อำนาจเอาไว้

อย่าเพิ่งไปไกลถึงขั้นชวนกลุ่มทุน กลุ่มราชการ ทะเลาะ มันไร้สาระ

ขนาดหมาจะกัดกันมันก็ยังมีเหตุผลของมันครับ

ไม่ได้กัดพร่ำเพรื่อ



Written By
More from pp
อ๋อมตัดสินใจไม่ผิด อ๋อมไม่ได้มาเพื่อแพ้ แต่มาเพื่อชนะ ประเทศต้องก้าวไปข้างหน้า
“อ๋อมตัดสินใจไม่ผิด อ๋อมไม่ได้มาเพื่อแพ้ แต่มาเพื่อชนะ ประเทศต้องก้าวไปข้างหน้า อ๋อมมั่นใจในตัวเอง มั่นใจในทีมงาน และมั่นใจในพรรคเพื่อไทย”
Read More
0 replies on “หมายังไม่กัดพร่ำเพรื่อ-ผักกาดหอม”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save
'); }); var ratingTotalIndicator = function() { var indicator = document.querySelectorAll('.rating-total-indicator'); if (typeof indicator === 'undefined' || indicator === null) { return; } for ( var i = 0, len = indicator.length; i < len; i++ ) { var circle = indicator[i].querySelector('.progress-ring__circle'); var radius = circle.r.baseVal.value; var circumference = radius * 2 * Math.PI; circle.style.strokeDasharray = `${circumference} ${circumference}`; circle.style.strokeDashoffset = `${circumference}`; function setProgress(percent) { const offset = circumference - percent / 100 * circumference; circle.style.strokeDashoffset = offset; } var dataCircle = indicator[i].getAttribute('data-circle'); setProgress(dataCircle); } }; ratingTotalIndicator(); var slideDock = function() { var slide_dock = document.querySelector('.slide-dock'); if (typeof slide_dock === 'undefined' || slide_dock === null) { return; } function isVisible (elem) { var { top, bottom } = elem.getBoundingClientRect(); var vHeight = (window.innerHeight || document.documentElement.clientHeight); return ( (top > 0 || bottom > 0) && top < vHeight ); } viewport = document.querySelector('#footer'); window.addEventListener('scroll', function() { if ( isVisible(viewport) ) { slide_dock.classList.add('slide-dock-on'); } else { slide_dock.classList.remove('slide-dock-on'); } }, false); var close = document.querySelector('.close-dock'); close.addEventListener('click', function(e) { e.preventDefault(); slide_dock.classList.add('slide-dock-off'); }); }; slideDock();