นายกฯ ชื่นชม พม. เดินหน้าดูแลผู้พิการตามนโยบาย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ตั้งเป้าปี 65 ปีแห่งการ “ปฏิรูปงานด้านคนพิการ” จัดครอบครัวอุปการะดูแลผู้พิการขาดคนดูแล พบมากขึ้นจากเหตุโควิด

31 มกราคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีถึงการขับเคลื่อนการดูแลกลุ่มคนพิการ ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ของรัฐบาล

โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ตั้งเป้าให้ปี 2565 นี้ เป็นปีแห่งการ “ปฏิรูปงานด้านคนพิการ” ตั้งแต่การค้นหาคนพิการเชิงรุกตามชุมชน นำผู้ตกหล่นมาขึ้นทะเบียนคนพิการ เพื่อรับสิทธิ สวัสดิการ และการคุ้มครองต่าง ๆ ขยายพื้นที่โรงพยาบาลให้สามารถตรวจรับรอง และออกบัตรคนพิการจบในที่เดียวครบทั้ง 77 จังหวัด ภายในเดือนสิงหาคม 2566

จากปัจจุบันที่ทำได้แล้วใน 40 จังหวัด ที่สำคัญ คือ เตรียมแก้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยจะปรับเกณฑ์พิจารณาการออกบัตรคนพิการให้ชัดเจนและง่ายขึ้น ขณะเดียวกันจะปฏิรูปบัตรคนพิการ ให้เป็นบัตรคนพิการดิจิทัลผ่านแอพพลิเคชัน บัตรคนพิการ-PWD ซึ่งสามารถใช้แทนบัตรคนพิการได้เลย ภายในบัตรระบุข้อมูลสิทธิและสวัสดิการที่ได้ เชื่อมโยงข้อมูลกับตลาดงานคนพิการ กู้ยืมเงินออนไลน์ ตลอดจนมีการชี้เป้าหน่วยงานช่วยเหลือคนพิการที่ใกล้ที่สุดผ่านกูเกิ้ลแมป แต่ส่วนคนพิการที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ยังสามารถใช้บัตรคนพิการได้ปกติ

ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวง พม. จะมุ่งฝึกอาชีพใหม่ และอาชีพเก่าที่ยั่งยืนสำหรับผู้พิการ ซึ่งล้วนเป็นอาชีพที่เคลื่อนไหวออกจากที่พักอาศัยน้อย เช่น อาชีพที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี วิเคราะห์และจัดการข้อมูล ขายของออนไลน์ เกษตรกรรม เป็นต้น โดยเป็นความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนอย่างครบวงจร ตั้งแต่สนับสนุนองค์ความรู้ สร้างมูลค่าเพิ่มและคุณค่าให้ผลิตภัณฑ์ เพิ่มช่องทางตลาด ทั้งนี้ เพื่อให้คนพิการสามารถพึ่งพิงตัวเองได้ จากการมีอาชีพและรายได้ และสามารถเป็นที่พึ่งแก่ครอบครัวต่อไป

สำหรับการดูแลผู้พิการที่ขาดคนดูแล เนื่องด้วยผู้ดูแลเสียชีวิต และในช่วงสถานการณ์โควิด-19 พบว่ามีผู้ดูแลผู้พิการเสียชีวิตจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้พิการเดือดร้อนมากขึ้นอีก ทางกระทรวง พม. จึงได้ริเริ่มโครงการจัดหาครอบครัวอุปการะ เพื่อเป็นครอบครัวทดแทนให้คนพิการที่ไม่มีใครดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในชุมชนที่คุ้นเคย ทั้งนี้ จะทดลองทำในคนพิการที่ไม่มีผู้ดูแล หรือเด็กพิการในสถานสงเคราะห์ ที่ไม่สามารถตามหาพ่อแม่เจอแล้ว ประมาณ 100 คน ขณะที่ครอบครัวอุปการะจะได้เงินตอบแทนจากรัฐ เช่น เงินค่าดูแล 3 พันบาทต่อคนต่อเดือน ค่าอุปโภคบริโภคและค่าอุปกรณ์ เป็นต้น และมีการติดตามทุกเดือน

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในการดูแลคนไทยทุกคน โดยหวังสร้างสังคมไทยให้เป็น ‘สังคมแห่งโอกาส’ โดยเฉพาะให้ผู้พิการเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ และการได้รับการพัฒนาศักยภาพในทุก ๆ ด้านไปพร้อมกัน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และมีส่วนร่วมนำการเปลี่ยนแปลงสู่โลกใหม่หลังโควิด-19 อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ประชาชนยังสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมไทยให้น่าอยู่ โดยหากพบเห็นผู้ที่เดือดร้อน มีปัญหา หรือต้องการความช่วยเหลือ สามารถแจ้งไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ หรือโทรแจ้งขอความช่วยเหลือมาได้ที่ สายด่วน พม. โทร 1300.



Written By
More from pp
กลุ่มเหล็กเชียร์รัฐใช้มาตรการทันเกม เข้มสู้สินค้าเหล็กทุ่มตลาด-หนุนใช้สินค้าผลิตในประเทศ  
สงครามการค้าป่วนตลาดเหล็กโลกรุนแรง กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กสนับสนุนภาครัฐเร่งใช้มาตรการทางการค้า ควบคู่ Thai First ป้องกันประเทศไทยเป็นหลุมดำโดนทุ่มสินค้าเหล็กจากต่างชาติ สงครามการค้าโลกที่ยังลุกลามขยายตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกีดกันการค้าสินค้าเหล็กในประเทศต่างๆ  ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงมาก โดยล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังรายงานว่าเศรษฐกิจไทยปี 2562 จะมีอัตราเติบโตชะลอตัวเพียง 2.8% (ปี 2561 GDP เติบโต 4.1%) ส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กของประเทศไทย ปี 2562 มีราว 19.1 ล้านตัน ในขณะที่ผู้ผลิตเหล็กจากต่างประเทศซึ่งเจอปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศของตน...
Read More
0 replies on “นายกฯ ชื่นชม พม. เดินหน้าดูแลผู้พิการตามนโยบาย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ตั้งเป้าปี 65 ปีแห่งการ “ปฏิรูปงานด้านคนพิการ” จัดครอบครัวอุปการะดูแลผู้พิการขาดคนดูแล พบมากขึ้นจากเหตุโควิด”