อยากได้ ‘ประธานาธิบดี’?-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

เอาปากกามาวง

ถ้าเอาตามที่ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจบริหาร และนิติบัญญัติ โลกคงต้องเขียนตำรารัฐศาสตร์กันใหม่หมด

พยายามอ่านสิ่งที่ “ปิยบุตร” พูดหลายรอบ ว่าหมายถึงอะไรกันแน่

ก็ยังงงในความคิด ของอดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์คนนี้

ลองดูนะครับ…..

“….กลไกต่างๆ ทุกวันนี้ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติง่อยเปลี้ยเสียขาไปเรื่อยๆ

อำนาจในการตรากฎหมายที่เป็นของสภา สุดท้ายถูกฝ่ายบริหารคือ ครม.มาขี่คออยู่เหนือฝ่ายนิติบัญญัติเสียแล้ว

ประเทศไทยปกครองในระบบรัฐสภา ซึ่งแตกต่างจากระบบประธานาธิบดีที่แยกขาดชัดเจนระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ยุ่ง ไม่คาบเกี่ยวกัน

ขณะที่ระบบรัฐสภายังยุ่งย่ามเกี่ยวกันอยู่ เช่น การที่  ครม.มีอำนาจเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภา

นายกรัฐมนตรีมีอำนาจยุบสภาได้

หรือแม้แต่การที่นายกรัฐมนตรีต้องมาจากความเห็นชอบของสภา หรือการที่สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจตรวจสอบฝ่ายบริหาร

นี่คือการแบ่งแยกอำนาจที่ไม่เคร่งครัด ยังมีความสัมพันธ์เกี่ยวดองกันอยู่

แต่สุดท้ายทำไปทำมา กลับกลายเป็นว่าฝ่ายบริหารขึ้นมาอยู่เหนือฝ่ายนิติบัญญัติ

ร่างกฎหมายกี่ฉบับที่ผ่านจะเห็นว่าเป็นร่างที่ ครม.เสนอ ส่วนที่ร่างฎหมายที่ ส.ส.เสนอนั้น เข้าสู่วาระการประชุมสภาได้ยากเย็นมาก เข้ามาแล้วยังโดนกลไกดองดังกล่าว

ผมมีข้อสังเกต ๕ ข้อ ว่าทำไมร่างกฎหมายที่ ส.ส.เสนอถึงคลอดออกมาได้ยากเย็นแสนเข็ญเหลือเกิน ได้แก่

๑.รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ในมาตรา ๗๗ ที่เขียนทำทีดูดีว่าเวลาจะผ่านกฎหมายอะไรต้องไปผ่านการรับฟังความเห็นประชาชนก่อน ซึ่งมาตรานี้อยู่ในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ไม่ได้เป็นบทบังคับ แต่เป็นบทให้คำแนะนำ  ซึ่งมาตรานี้พอใช้มาเรื่อยๆ ปรากฏว่า กฎหมายที่รัฐบาลเสนอส่วนใหญ่ยกร่างโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนั้น ก่อน ครม.เสนอก็มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นโดยกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว แต่สำหรับในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร ตอนที่ผมยังเป็น ส.ส.ได้เสนอร่างกฎหมายไปตั้งแต่วันแรกของการประชุม แต่ที่สุดก็ต้องรอสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดทำระบบช่องทางรับการฟังความคิดเห็นก่อน ไม่อย่างนั้นร่างกฎหมายเข้าสภาไม่ได้

๒.รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ไม่ได้แบ่งปฏิทินการประชุมเป็นสมัยทั่วไปและสมัยนิติบัญญัติเหมือนแต่ก่อน ทำให้ญัตติอื่นๆ ที่เข้ามาทับไปเรื่อยๆ แซงคิวเข้ามา ขณะที่ญัตติเกี่ยวกับการพิจารณากฎหมายตกไปอยู่ลำดับท้ายๆ ไม่ได้พิจารณาเสียที แต่อย่างไรก็ตาม ในปีที่สองเข้าสู่ปีที่สามของสภาชุดนี้ ประธานสภาได้จัดให้ว่าต่อไปใน ๑ วันต่อสัปดาห์ ให้เป็นวันที่เป็นการพิจารณาญัตติเกี่ยวกับกฎหมายอย่างเดียว ทำให้ร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ ที่ ส.ส.เสนอได้รับการพิจารณามากขึ้น

๓.ร่างกฎหมายที่ ครม.เสนอ จะได้รับความสำคัญก่อนร่างที่ ส.ส.เสนอ เพราะถูกแทงเรื่องมาเป็นญัตติด่วน  ทำให้แซงคิวได้อยู่เรื่อยๆ ร่างกฎหมายอะไรที่มีมาก่อนถูกแซงคิวหมด ขณะเดียวกัน ร่าง พ.ร.บ.ที่ ส.ส.เสนอ แทบจะไม่มีโอกาสได้เป็นญัตติด่วน

๔.คำว่า ‘กฎหมายการเงิน’ เป็นนิยามที่กว้างมาก คือร่างกฎหมายอะไรก็ตามที่มีเนื้อหาว่าต้องนำเงินแผ่นดินไปใช้จะเข้าข่ายตรงนี้ ซึ่งว่าไปก็แทบจะกฎหมายทุกฉบับ เมื่อตีความว่าเป็นกฎหมายการเงิน ก็ต้องให้นายกรัฐมนตรีเป็นคนอนุมัติก่อนถึงจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้

และ ๕.คำว่า ‘การปฏิรูปประเทศ’ ในหมวด ๑๖ ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งระบุว่า การพิจารณากฎหมายที่ถูกตีความว่าเป็นกฎหมายปฏิรูป ต้องประชุมพิจารณาร่วมกัน  ๒ สภา คือ ส.ส และ ส.ว. ซึ่งใน ๑๖ หัวข้อว่าด้วยกฎหมายที่เข้าข่ายกฎหมายปฏิรูปนั้น สามารถตีความได้กว้างมาก  และการพิจารณาร่วมกันของ ๒ สภานี้ ก็จะทำให้รัฐบาลได้ประโยชน์ในการผ่าน หรือไม่ผ่านกฎหมาย เพราะ ส.ว. นั้นก็มาจากคัดเลือกโดย คสช. ที่กลายร่างมาเป็นรัฐบาลชุดนี้….”

ประเด็นแรกจะด้วยเจตนาหรือไม่ตั้งใจ การยกการปกครองระบอบประธานาธิบดีขึ้นมา ทั้งๆ ที่ข้อใหญ่ใจความอยู่ที่ระบอบรัฐสภา “ปิยบุตร” ต้องการสื่ออะไร

จะแปลความหมายเป็นอื่นได้หรือไม่ เพราะ “ปิยบุตร”  พูดต่อเนื่องจากประเด็น ฝ่ายบริหารขี่คอฝ่ายนิติบัญญัติ

ต้องการให้ไทยปกครองระบอบประธานาธิบดีหรือเปล่า เพราะฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติแยกอำนาจชัดเจน

แต่อย่าลืมซิครับ กฎหมายอเมริกาใช่ว่ามาจากรัฐสภาเท่านั้น ฝ่ายประธานาธิบดีก็เสนอกฎหมายได้เช่นกัน

แล้วใครขี่ใครหรือเปล่า?

ฝ่ายนิติบัญญัติ กับฝ่ายบริหารของ ไทย กับ อังกฤษ  และญี่ปุ่น ล้วนมีอำนาจหน้าที่ใกล้เคียงกันอย่างมาก

บทบาทของนายกรัฐมนตรีก็แทบจะเหมือนกัน

มีสิทธิ์ยุบสภาได้

มาจากการเลือกในสภา

ฉะนั้นไม่แน่ใจว่า ประเด็นที่ “ปิยบุตร” ต้องการสื่อคืออะไรกันแน่

การอ้างว่ากฎหมายที่เสนอโดย ส.ส.นั้นยากเย็น อันนี้เรื่องจริงครับ แต่ต้องเน้นว่า ส.ส.ในรัฐสภาชุดนี้เท่านั้น

ในอดีตการเสนอกฎหมายของ ส.ส.แทบไม่มีปัญหา  เพราะส่วนใหญ่เสนอประกบกับร่างกฎหมายของรัฐบาล   การพิจารณาในสภาจึงรวมกันไป

แต่ยุคนี้ ส.ส.เสนอกฎหมายคาบลูกคาบดอก เช่น

แก้ ม.๑๑๒

ร่างกฎหมายยกเลิกอำนาจศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง

ร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ถามว่ารัฐบาลเอาด้วยหรือเปล่า

ฉะนั้นต้องแยกให้ออก กฎหมายที่เสนอแล้วมีปัญหาแน่ๆ จะสร้างความขัดแย้งในสังคมขึ้นมาทันที รัฐบาลจะเอาด้วยกับพรรคก้าวไกลอย่างนั้นหรือ

ร่างกฎหมายการเงินก็เช่นกัน เป็นหลักสากล รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๓ ก็กำหนดไว้ชัดเจนว่า ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน หมายความถึงร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังต่อไปนี้

 (๑) การตั้งขึ้น ยกเลิก ลด เปลี่ยนแปลง แก้ไข ผ่อน หรือวางระเบียบการบังคับ อันเกี่ยวกับภาษีหรืออากร

 (๒) การจัดสรร รับ รักษา หรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการโอนงบประมาณรายจ่าย ของแผ่นดิน

 (๓) การกู้เงิน การค้ำประกัน การใช้เงินกู้ หรือการดำเนินการที่ผูกพันทรัพย์สินของรัฐ

 (๔) เงินตรา

ต้องให้นายกรัฐมนตรีอนุมัติก่อน เพราะเกี่ยวพันไปถึงการใช้งบประมาณแผ่นดิน

“ปิยบุตร” ตีราคาระบบรัฐสภาไทยว่า…

“กฎหมายจำนวนมากจะผ่านสภาได้ก็ต้องใช้เสียงข้างมากของสภาซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นฝ่ายรัฐบาล กฎหมายจำนวนมากที่มีโอกาสผ่านการพิจารณาของสภาก็มักจะเป็นร่างที่ ครม.เสนอ”

พูดราวกับว่า ไม่ต้องการระบบรัฐสภา ไม่ต้องการเสียงส่วนใหญ่

นี่เป็นเหตุให้ยก ระบอบประธานาธิบดี ขึ้นมาหรือเปล่า?


Written By
More from pp
ครม.เห็นชอบให้วันที่ 5 พ.ค. 66 เป็นวันหยุดราชการเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ
10 มกราคม 2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบการกำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ ประจำปี 2566...
Read More
0 replies on “อยากได้ ‘ประธานาธิบดี’?-ผักกาดหอม”