นำเข้าหมู “ภัยร้าย” บั่นทอนเกษตรกรเลี้ยงหมูรายย่อยไทย

แทนขวัญ มั่นธรรมะ

เป็นเรื่องปกติที่กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศความสำเร็จผลงานระดับชาติในการแก้ปัญหาหมูแพง-หมูขาดในเวลา 1 เดือน นำราคาหมูหน้าฟาร์มปรับลดจาก 110 บาท/กก. ล่าสุดเหลือ 84-90 บาท ส่งผลให้หมูเนื้อแดงราคาอ่อนตัวลงเหลือ 170-180 บาท/กก. จากที่ราคาพุ่งขึ้นไปที่ 220-250 บาท/กก. ทำให้ราคาไปไม่ถึงระดับสูงสุดที่คาดการณ์ไว้ที่ 300 บาท/กก. ส่งผลให้หมูกระทะปรับลดราคาลงสร้างความพอใจให้กับบรรดาสาวกได้ระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม หมูในสต๊อกห้องเย็นที่ทยอยออกมาสู่โลกภายนอกเริ่มร่อยหรอ เพราะที่เก็บไว้หวังเก็งกำไรโดน ตรวจ จับปรับตามกฎหมายกันจริงจัง ส่งผลให้สมาคมที่เกี่ยวข้องกับหมูออกมาพยากรณ์ว่าเดือนมีนาคม-เมษายน นี้แหละ คนไทยจะพบช่วงวิกฤตหมูแพงอีกระลอกหนึ่ง เพราะเกษตรกรรายย่อย-รายเล็กไม่มั่นใจนำหมูรอบใหม่เข้าเลี้ยง เพราะยังมีความกังวลเรื่องโรคระบาด ASF อยู่มาก ประกอบกับขาดทุนจากช่วงที่ผ่านมา ไม่มีเงินทุนหมุนเวียน

ว่ากันตามข้อเท็จจริง “เกษตรกรเลี้ยงหมู” กว่า 90% ทำอาชีพเดียว เพราะไม่มีเวลามากพอจะไปทำอย่างอื่นได้ เลี้ยงหมูเหมือนเลี้ยงลูก ต้องใส่ใจดูแลไม่ให้เจ็บป่วยเพราะเลี้ยงในโรงเรือนหรือเล้าเดียวกัน หมูเป็นอะไรเพียงหนึ่งตัวอาจหมายถึงความเสียหาย หนักสุดก็คือหมูทั้งหมดที่มีอย่างเช่นเกิดโรคระบาด ASF เงินที่มีคือการขายหมูที่โตเต็มวัย เพื่อมาต่อทุนเลี้ยงหมูรอบใหม่ กำไรที่ได้ก็เลี้ยงครอบครัว หลายรายประสบความสำเร็จสร้างฐานะได้มั่นคงขยายกิจการเพิ่มขึ้นได้ แต่ในรายที่หมูติดโรคร้ายแรงนี่เข้าขั้นหมดตัวทีเดียว

ที่สำคัญปัจจัยเสี่ยงในการเลี้ยงหมู ไม่ใช่มีเพียงโรคระบาดเท่านั้น ปัจจัยการผลิตอื่นโดยเฉพาะอาหารสัตว์คิดเป็นต้นทุนประมาณ 60% ของการเลี้ยงมีราคาสูงขึ้นประมาณ 30% ตามราคาวัตถุดิบในตลาดโลกที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผู้เลี้ยงยังต้องลงทุนเพิ่มสร้างระบบป้องกันโรคซึ่งเป็นอีกหนึ่งต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น 30% เช่นกัน ขณะที่ผลผลิตไม่เป็นไปตามกลไกตลาดเพราะถูกควบคุมราคาหน้าฟาร์มโดยกระทรวงพาณิชย์

ดังนี้ ผู้เลี้ยงหมูรายย่อย-รายเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักสุดจากโรคระบาดครั้ง จึงกังวลกับท่าทีของรัฐบาลโดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่ออกมาแบ่งรับแบ่งสู้ว่าแม้ไม่มีนโยบายนำเข้าหมูเวลานี้ แต่หากผลผลิตขาดแคลนและผู้บริโภคเดือดร้อนก็ต้องมีการนำเข้า เพราะการนำเข้าหมูจากต่างประเทศแม้เป็นการชั่วคราว ก็ส่งผลต่อความมั่นใจด้านราคาที่เกษตรกรจะขายได้ในอนาคต เพราะราคาที่รัฐบาลควบคุมไว้ขณะนี้ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เลี้ยงไปเห็นอนาคตชัดเจนว่า “ขาดทุน” แล้วใครจะเอาอนาคตมาเสี่ยง

รัฐบาลมีดาบในมือหากฟันฉับว่า “นำเข้า” ซึ่งต้องมาจากทางยุโรปแน่นอนเพราะเป็นกลุ่มประเทศที่ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงเช่นเดียวกับประเทศไทย แต่จะมาในรูปแบบของหมูแช่แข็งและเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ที่คนของเขาไม่นิยมหรือไม่กิน ก็อาจจะทำให้ราคาต่ำกว่าราคาที่รัฐบาลไทยกำหนดได้ แล้วผลผลิตของเกษตรกรไทยจะไปแข่งขันกับ “หมูนำเข้า” ด้วยวิธีไหน ที่สำคัญมีกลุ่มผลประโยชน์ที่เห็นช่องทางทำกำไรจากการนำเข้าจ่อคิวอยู่แน่นอน

ปัจจัยดังกล่าวจะเป็นการบั่นทอนโอกาสเกษตรกรรายย่อย-รายเล็ก ไม่ตัดสินใจฟื้นฟูกิจการเพราะเลี้ยงแล้วก็ขายไม่ได้ราคา ติดโรคก็ไม่ได้รับการชดเชย ไม่มีการหลักประกันจากภาครัฐชัดเจน ซึ่งหน้าที่ของรัฐบาลควรส่งเสริมเกษตรกรไทยเป็นผู้ผลิตเพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศแทนพึ่งพาการนำเข้า สร้างห่วงโซ่อาหารที่เข้มแข็งและเพียงพอต่อสำหรับคนไทยได้มีอยู่มีกินอย่างยั่งยืน



Written By
More from pp
“พลเอกประวิตร” นำว่าที่ผู้สมัคร กทม.ขึ้นรถแห่ปราศรัยเขตป้อมปราบฯ พบปะปชช. ปักธงชิงคะแนนเสียง กทม.กวาด 12 ที่นั่ง วอน เลือก พปชร.เข้าสภาฯ ขจัดปัญหา
14 กุมภาพันธ์ 2566 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวพรรค พปชร.ใช้ฤกษ์วันวาเลนไทน์ นำผู้บริหารพรรค นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง...
Read More
0 replies on “นำเข้าหมู “ภัยร้าย” บั่นทอนเกษตรกรเลี้ยงหมูรายย่อยไทย”