ตั้งเงื่อนไขล็อกสเป็ก เอื้อประโยชน์บางเจ้า ? “ซิโน-ไทย / วงศ์สยามฯ” เปิด 4 ข้อโต้แย้ง 1 ข้อสงสัย ยื่น กปน. ปมถูกตัดสิทธิ์ประมูลขยายโรงผลิตน้ำประปา

18 มีนาคม 2565-จากกรณีที่ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเข้าร่วมการประมูลโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ มูลค่าราคากลาง 6,526.97 ล้านบาท เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 แต่ถูกตัดสิทธิ์การประมูล เนื่องจาก คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาฯ กปน. ระบุว่า ทั้ง 2 บริษัท ไม่มีคุณสมบัติตามประกาศประกวดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 ซึ่งระบุว่า ผู้เข้าร่วมประมูลต้องมีผลงานก่อสร้างไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน วงเงินไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท

ทั้งนี้ ทั้ง 2 บริษัท ได้ ยื่นหนังสืออุทธรณ์ จ้าง ต่อผู้ว่า กปน. ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่ทำการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว รายละเอียดเบื้องต้น จากทางบริษัท ซิโน-ไทย คือ บริษัท มีผลงานก่อสร้างระบบประปา โครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคเทศนาลนครนครราชสีมา ตามสัญญาจ้างเลขที่ 3/2550 และจากหนังสือรับรองระบุชัดเจนว่า

บริษัทฯ มีงานติดตั้งระบบผลิตประปา ขนาด 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และเมื่อคำนวณมูลค่างานตามสัดส่วน 80% ในกิจการร่วมค้าออกมา ก็พบว่ามีมูลค่ามากกว่า 300 ล้านบาท สอดคล้องกับ TOR ที่กำหนดมา ในประเด็นดังกล่าว กปน. มาให้เหตุผลภายหลังว่า ผลงานการติดตั้งระบบผลิตประปา ขนาด 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ที่ กปน.ได้ตั้งคุณสมบัติไว้นั้น หมายถึงกำลังการผลิตสุทธิ ซึ่งไม่นำตัวเลขปริมาณน้ำสูญเสียเข้ามารวมด้วย

ขณะที่หนังสืออุทธรณ์ของ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ระบุว่า ได้ยื่นผลงานก่อสร้างระบบประปามาตรฐานของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และงานจ้างเหมาก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุราษฎร์ธานี ตามสัญญาเลขที่ กจห. 24/2556 ลงวันที่ 11 เม.ย.2556 เป็นไปตามประกาศประกวดราคาข้อที่ 11 แต่กลับถูก ตัดสิทธิ และคณะกรรมการฯไม่เคยเรียกบริษัทฯให้มาชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม

ล่าสุด 17 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวเปิดเผยว่ารายละเอียดของหนังสืออุทธรณ์ฉบับเต็มจากทั้ง 2 บริษัท ซึ่งมีข้อสงสัยว่า อาจมีความไม่ชอบมาพากล ในการตัดสิทธิ์ บางบริษัท เพื่อเอื้อประโยชน์ ให้กับบางบริษัท สำหรับหนังสืออุทธรณ์ของบริษัท ซิโน-ไทย ให้เหตุผลว่า การตัดสิทธิ์ผู้เข้าร่วมประมูล เรื่องขาดคุณสมบัติ ยังตกหล่นข้อเท็จจริง ที่เป็นสาระสำคัญ ทั้งยังขาดข้อพิจารณา ที่น่าเชื่อถือในการตีความการขาดคุณสมบัติ ถึงขั้นระบุว่า การกำหนดคุณสมบัติ เพิ่มเข้ามาภายหลังนั้น “เพื่อหวังจะตัดสิทธิผู้เข้าประกาดราคาบางราย และเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย”

ข้อโต้แย้ง ของบริษัท ซิโน-ไทย มี 4 ข้อสำคัญ ประกอบไปด้วย

1. ตามประกาศประกาดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 ที่ถูกอ้างถึง และถูกถือเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ไม่ได้มีการกำหนดไว้ถึงเรื่องการ “รวมหรือไม่รวมปริมาณน้ำสูญเสีย” ไว้ด้วยแต่ประการใด

หาก กปน.จะหยิบยกเรื่องการรวมหรือไม่รวมปริมาณน้ำสูญเสีย มาเป็นข้อจำกัดเพิ่มเติมขึ้นอีก เพื่อตีความคุณสมบัติของผู้เสนอราคา ก็ย่อมเป็นการผิดแผกไปจากเนื้อความแห่งประกาศประกวดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 เพราะถือเป็นการตั้งเงื่อนไขขึ้นมาใหม่ โดยที่ไม่ได้มีการกำหนดนิยามไว้ตั้งแต่แรก เพื่อหวังจะตัดสิทธิผู้เข้าประกาดราคาบางราย และเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

2.การนำ “กำลังการผลิตสุทธิที่ 800,000 ลูกบาศก์เมตร” อันเป็นความต้องการของงานที่จะจัดจ้าง มาตีความ “ผลงาน 100,000 ลูกนาศก์เมตรต่อวัน” ที่บริษัทฯ ใช้ยื่นเป็นคุณสมบัติ ถือเป็นการหลงประเด็น จากการนำสเปคงานที่ต้องการจัดจ้างในอนาคตของตนเอง มาปะปนกับคุณสมบัติทางด้านประสบการณ์ที่ตนเองตั้งเงื่อนไขไว้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งตามประกาศประกาดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 กำหนดไว้แต่เพียงว่า “มีผลงานก่อสร้าง ขนาดไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน”

ประเด็นพิจารณาในที่นี้ จึงต้องดูจากประสบการณ์ที่ผ่านมา โดยไม่นำลักษณะความต้องการของผลงานที่จะจัดจ้างมาปะปนกัน การใช้ความต้องการในอนาคตของตนเองมาตีความผลงานที่บริษัทฯ ใช้ยื่นเป็นคุณสมบัติเช่นนี้ จึงไม่ถูกต้องและไม่ตรงกับเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติเนื้องต้นในเอกสารประกาดราคา เล่ม 3/8 ที่กำหนดเพียงว่า “ขนาดไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน” เช่นกัน

3. หลังจากรับทราบคำกล่าวอ้างของ กปน. ที่อ้างว่ามีหนังสือจากเทศบาลนครนครราชสีมามาชี้แจงเพิ่มเติมในเรื่องนี้ไว้ บริษัทฯ ได้สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าเทศบาลนครนครราชสีมา มีหนังสือแจ้งข้อมูลเรื่องนี้ไว้ 2 ฉบับ ซึ่งทั้งสองฉบับมีเนื้อความไปในทางสนับสนุน ว่า

ผลงานก่อสร้างโครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เทศบาลนครนครราชสีมา ตามสัญญาจ้างเลขที่ 3/2550 ที่ถูกนำมาใช้ยื่นเป็นประสบการณ์มีความสอดคล้องกับประกาศประกวดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 แล้ว

กล่าวคือ หนังสือชี้แจงข้อมูลจากเทศบาลนครนครราชสีมา ที่ นม 52005/418 ลงวันที่ 19 ม.ค.2565 ชี้แจงว่าเป็นปริมาณซึ่ง “มีกำลังการผลิตน้ำที่รวมปริมาณน้ำสูญเสียไว้ด้วยตามข้อกำหนดไว้ในสัญญา” อันหมายความว่า หลังจากผ่านการคิดคำนวณเรื่องน้ำสูญเสียเสร็จแล้ว ปริมาณการผลิตจริงที่ทำได้ ก็ยังเป็น 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันตามหนังสือรับรองผลงานก่อสร้างที่ออกให้

และหนังสือชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมจากเทศนาลนครนครราชสีมา ที่ นม 52005/550 ลงวันที่ 26 ม.ค.2565 ก็ได้แจกแจงเพิ่มเติมว่า “ไม่ปรากฏข้อมูลว่าขนาดกำลังการผลิตน้ำประปา 4,400 ลบ.ม./ชม เป็นขนาดกำลังการผลิตน้ำประปาที่จ่ายออกจวกโรงงานผลิตน้ำประปาหรือกำลังการผลิตน้ำที่รวมปริมาณน้ำสูญเสียไว้ด้วย”

ซึ่งหมายความว่า หากจะวัดกันโดยลงไปดูรายละเอียดถึงหน่วยชั่วโมงตามสัญญา จะสามารถทำได้ถึง 105,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (มาจาก 4,400 x 24) และตามสัญญาก็ไม่ได้บอกด้วยว่ามีปริมาณน้ำสูญเสียแต่อย่างใด

กปน. ซึ่งมิใช่เจ้าของโครงการงานแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคนริโภคเทศบาลนครนครราชสีมา จึงไม่มีอำนาจบิดเบือนข้อความในเอกสารราชการ หรืออนุมานเอาเองว่า โครงการของเทศบาลนครนครราชสีมาที่ถูกใช้ยื่นเป็นคุณสมบัตินี้ มีปริมาณน้ำสูญเสียเกิดขึ้นเท่าใด

และไม่ว่าจะมีปริมาณน้ำสูญเสียเกิดขึ้นหรือไม่ ก็ต้องรับฟังว่า ผลงานก่อสร้างโครงการของเทศบาลนครนครราชสีมา สามารถทำกำลังผลิตได้ 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ตามหนังสือรับรองผลงาน มิฉะนั้น ก็จะเป็นการตีความที่ผิดแผกไปจากเอกสารโดยสิ้นเชิง

4. ที่ กปน. อ้างว่า ในชั้นออกแบบ ถูกออกแนบให้ผลิตน้ำประปาได้ 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง (96,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน) เป็นการรับฟังจากเอกสารที่เก่าเก็บ ล้าสมัย เนื่องจากถูกทำขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2542 และเป็นเอกสารระหว่างผู้ออกแบบกับกรมโยธาธิการ จึงไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างตามโครงการที่บริษัทฯ ใช้ยื่นเป็นคุณสมบัติ

โดยโครงการจากเทศบาลนครนครราชสีมานี้ ได้ถูกนำมาทำสัญญาจัดจ้างในปี พ.ศ.2550 และดำเนินการก่อสร้างเสร็จสิ้นในปี พ.ศ.2559 คิดเป็นระยะเวลาห่างจากขั้นตอนออกแบบถึง 17 ปี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แบบก่อสร้างจะถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้มีปริมาณการผลิตมากขึ้น ซึ่งผู้รับจ้างก็ได้ทำงานอย่างถูกต้องตามสัญญา จนงานมีกำลังการผลิตน้ำประปา 4,400 ลบ.ม./ชม. แล้ว ถึงผ่านการตรวจรับงานแล้วเสร็จมาได้

กปน.จึงต้องรับฟังจากหนังสือรับรองผลงานก่อสร้างของเทศบาลนครนครราชสีมาและเอกสารมาตรฐานการก่อสร้างเล่ม 1/2 โครงการของเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งเป็นเอกสารจากหน่วยงานของรัฐที่ใหม่กว่า และถูกจัดทำขึ้นภายหลังขั้นตอนการออกแบบแล้วเสร็จ โดยเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการและเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงในฐานะผู้ตรวจรับงานก่อสร้างได้จัดทำขึ้นเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ ผู้ออกแบบ (บริษัท โปรเกรส เทคโนโลยี คอนซัลแท็นส์ จำกัด) ในโครงการที่บริษัทฯใช้ยื่นเป็นคุณสมบัติ ก็มีการนำเสนอผลงานอยู่บนเว็บไซต์ http://progress.co.th/html.th.MWTP/references_30WTP.html ของตนเอง โดยระบุว่า “ระบบผลิตบ้านใหม่หนองบอน : ระบบกรองเร็ว ขนาดกำลังผลิต 4,4000 ลบ.ม./ชม.”
แสดงให้เห็นว่า โครงการดังกล่าว.ผ่านการปรับปรุงแก้ไขแบบใหม่ เพื่อให้ผลงานก่อสร้างมีความสามารถในการผลิตน้ำมากขึ้นกว่าแบบในช่วงปี พ.ศ. 2542 แล้ว อันส่งผลให้ผลงานที่สร้างแล้วเสร็จและส่งมอบแก่เทศนาลนครนครราชสีมา สามารถทำการผลิตน้ำประปาได้ถึง 105,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงเช่นนี้แล้ว หากการประปานครหลวง ยังคงดึงดันจะรับฟังว่า ผลงานนี้ผลิตน้ำประปาได้ไม่ถึง 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ก็จะขัดแย้งกับบรรดาเอกสารทั้งปวงที่บริษัทฯ ได้นำเสนอให้ท่านได้พิจารณามา ณ ที่นี้ และเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

บริษัทฯ จำต้องขออุทธรณ์ผลการพิจารณาดังกล่าว ขอท่านโปรดดำเนินการพิจารณาเปลี่ยนแปลงคำสั่งทางปกครองที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว และแจ้งผลการพิจารณากลับมายังบริษัทฯ ด้วย

ขณะที่ หนังสืออุทธรณ์ของทาง บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ชี้แจง 2. ประเด็น คือ 1. บริษัทเป็นผู้เสนอราคาที่มีคุณสมบัติ ตามประกาศประกวดราคาจ้างของ กปน. มีผลงานการก่อสร้างระบบประปามาตรฐานของ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ที่มีขนาดตั้งแต่ 500-5,000 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง

และผลงานจ้างเหมาก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุราษฎร์ธานี ตามสัญญาเลขที่ กจห. 24/2556 ลงวันที่ 11 เม.ย.2556 ซึ่งเป็นผลงานประเภทเดียวกันกับผลงานที่กำหนดไว้ในประกาศประกวดราคาข้อที่ 11 ตามข้อเท็จจริงที่ระบุไว้ในหนังสือรับรอง

โดยทางบริษัทมีข้อสงสัยว่า “ตามระเบียบของกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ข้อ 55(2) กำหนดหลักกฎหมายไว้ว่า ในกระบวนการพิจารณาผลการประกวดราคา คณะกรรมการพิจารณาฯ อาจสอบถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากผู้ยื่นข้อเสนอรายใดก็ได้ ดังนั้น หาก กปน. พิจารณาเอกสารแล้ว เกิดข้อสงสัย ควรต้องเรียกให้บริษัทฯ นำส่งเอกสารชี้แจงเพิ่มเติม

“ในการประกวดราคาครั้งนี้ มีมูลเหตุอันควรสงสัยที่ กปน. ควรจะต้องเรียกเอกสารชี้แจงเพิ่มเติม เนื่องด้วยบริษัทฯ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด การที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังในข้อดังกล่าว เป็นเหตุให้ กปน.เสียประโยชน์จากการที่ไม่ได้ผู้เสอนราคาต่ำสุด และมีคุณสมบัติครบถ้วน”

สำหรับ การประมูลโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ ของ กปน. เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2564 มีเอกสารมายื่นเสนอราคา 5 ราย ผลปรากฏว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เสนอราคาต่ำสุด 6,150 ล้านบาท อันดับ 2 บมจ.ซิโน-ไทยฯ เสนอราคา 6,195.3 ล้านบาท และอันดับ 3 ITA Consortium (บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) และบริษัท อาควาไทย จำกัด) เสนอราคา 6,460 ล้านบาท



Written By
More from pp
“องอาจ” จี้นายกฯ สั่งทุกหน่วยงาน ใช้งบ 4 แสนล้าน พยุงเศรษฐกิจให้คุ้มค่า
20 พ.ค.2563 นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการใช้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท...
Read More
0 replies on “ตั้งเงื่อนไขล็อกสเป็ก เอื้อประโยชน์บางเจ้า ? “ซิโน-ไทย / วงศ์สยามฯ” เปิด 4 ข้อโต้แย้ง 1 ข้อสงสัย ยื่น กปน. ปมถูกตัดสิทธิ์ประมูลขยายโรงผลิตน้ำประปา”