กินข้าวเคล้าการเมือง-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

นักการเมืองนัดกินข้าวไม่ใช่เรื่องใหม่

ทุกรัฐบาลล้วนต้องนัดกินข้าวกับพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันทั้งนั้น

เพราะเสถียรภาพของรัฐบาล บ่อยครั้งก็เหมือนกราฟราคาหุ้น มีทั้งขึ้นและลง

การที่ฝ่ายค้านแขวะว่ารัฐบาลประยุทธ์เอาแต่นัดกินข้าว ไม่สนใจแก้ปัญหาประชาชน ก็ดูจะใช้ปัญญาน้อยไปหน่อย

ถ้ามองผลที่ออกมา ประเทศไทยยังอยู่ในระดับมาตรฐานที่ควรจะเป็น

จะให้รัฐบาลประยุทธ์ บริหารประเทศได้ดีเด่นเทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้ว ก็คงจะลำบาก เพราะโดยโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

หรือแม้กระทั่งคุณภาพของคนเรายังไปไม่ถึงขนาดนั้น

เช่นเดียวกันรัฐบาลไม่ได้บริหารแย่เหมือนเช่นรัฐบาลหลายประเทศในแอฟริกา เพราะพื้นฐานเราดีกว่านั้นมาก

เปรียบเทียบให้เห็นภาพ ผลงานด้านการต่างประเทศ

๒๕ เดือน บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” มีใครจดจำได้ว่า มีผลงานอันน่าประทับใจ อะไรบ้าง

“ยิ่งลักษณ์” ใช้เวลาเฉลี่ย เดือนละ ๒ ครั้ง เดินทางไป  ๔๓ ประเทศ จำนวนทั้งสิ้น ๕๕ ครั้ง

ไปเยือนกัมพูชาบ่อยสุดคือ ๗ ครั้ง

รองลงมามี ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และลาว ประเทศละ ๓  ครั้ง

ปี ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นแรกที่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไป ๗ ประเทศรวม ๘ ครั้ง

ปี ๒๕๕๕ ไปเยือน ๒๓ ประเทศ ๒๗ ครั้ง

ปี ๒๕๕๖ ไปเยือน ๒๔ ประเทศ ๒๐ ครั้ง

มีถึง ๑๖ ประเทศที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ย่ำรอย  “ทักษิณ ชินวัตร” บนข้อครหาการทูตผลประโยชน์ทับซ้อน  เพราะในอดีต “ทักษิณ ชินวัตร” ใช้วิธีนี้ ขายของ ให้บริษัทในเครือชินวัตร

มีใครจำได้บ้างว่า ๕๕ ทริป ของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”  สร้างผลงานที่ประชาชนจับต้องได้ และคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้

มาดูการต่างประเทศในรัฐบาลประยุทธ์ เพิ่งจะเกิดไปสดๆ ร้อนๆ กรณีการแสดงท่าทีต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครน

เมื่อวันที่ ๒ มีนาคมที่ผ่านมา ชาติสมาชิกยูเอ็นได้ลงมติสนับสนุนการประณามรัสเซีย ๑๔๑ ชาติ มีไทยรวมอยู่ในนั้น

มี ๕ ชาติที่โหวตคัดค้าน และงดออกเสียง ๓๕ ชาติ

การโหวตของไทยยึดหลักการยูเอ็น เดินทางสายกลาง และมิได้ทำตัวเป็นศัตรูกับรัสเซียอย่างโจ่งแจ้งเช่นที่ สิงคโปร์ เพื่อนบ้านในอาเซียน ถึงขั้นประกาศคว่ำบาตร

ผลที่ตามมา เพจเฟซบุ๊กสถานทูตยูเครน ประจำประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความ Thank you, Thailand!

“โอเล็กซานเดอร์ ไลซัค” อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย แถลงขอบคุณ ที่ไทยเป็น ๑ ใน ๑๔๑ ประเทศ ซึ่งออกเสียงสนับสนุนมติของสมัชชาสหประชาชาติ

ขณะที่ “เยฟกินี โทมิคิน” เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย เปิดแถลงข่าว ขอบคุณไทยเช่นกัน

 “เราขอบคุณที่รัฐบาลไทยมีจุดยืนที่สมดุล เราหารือกับกระทรวงต่างประเทศของไทยอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา  เราดีใจที่ฝั่งไทยพร้อมฟังในสิ่งที่เราพูด แม้ว่าจะมีแรงกดดันสูงมากจากรัฐบาลชาติตะวันตก ประเทศไทยเป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้มายาวนาน เราไม่เคยขัดแย้งทางการเมืองต่อกัน”

ครับ…ไทยไม่เสียหาย

ต่างจาก สิงคโปร์ ที่รัสเซียขึ้นบัญชีไว้เรียบร้อย

และชาวสิงคโปร์ก็ไม่พอใจรัฐบาลที่เล่นใหญ่เกินตัว

ฉะนั้นเรื่องกินข้าวการเมืองก็กินไป งานก็ต้องทำไป และได้ผลอย่างที่เห็น

มาเข้าเรื่องกินข้าวเคล้าการเมือง

จำเป็นหรือไม่ที่ “ลุงตู่” ต้องเรียกพรรคร่วมรัฐบาล พรรคเล็กพรรคน้อยกินข้าว ในเวลานี้่

ในภาวะที่เสถียรภาพรัฐบาลส่อว่ามีปัญหา เรื่องนี้จำเป็นเสมอสำหรับทุกรัฐบาล

แล้วเสถียรภาพรัฐบาลลุงตู่ขณะนี้เป็นอย่างไร?

ก็อย่างที่เห็น พลังประชารัฐ เล็กลง มีพรรคเล็กเพิ่มขึ้น

สถานการณ์เช่นนี้พรรคเล็กเสียงดังขึ้นกว่าเดิม

ที่จริงจำนวน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลขณะนี้ แทบไม่มีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลมากนัก เพราะอยู่ในช่วงสภาปิดสมัยประชุมตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ที่ผ่านมา

ฉะนั้นในแง่เสียงสนับสนุน รัฐบาลยังหายใจสะดวก จนกว่าจะเปิดประชุมสภาอีกทีก็คือ ๒๒ พฤษภาคมโน้น

ยังมีเวลาร่วม ๒ เดือน แต่ทำไม “ลุงตู่” ถึงเช็กเสียงในวันนี้

ปกติการเช็กเสียง ส.ส. จะเกิดระหว่างสมัยประชุมสภา โดยเฉพาะช่วงที่จะมีการโหวตสำคัญ ชี้เป็นชี้ตายรัฐบาล

เช่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ฝ่ายค้านขู่ว่าทันทีที่เปิดสมัยประชุมสภาวันที่ ๒๒  พฤษภาคม จะยื่นซักฟอกทันที

ตามกระบวนการน่าจะกลางเดือนมิถุนายนไปแล้ว ถึงจะมีการอภิปรายเกิดขึ้น จึงเกิดคำถามว่าแล้ววันนี้รัฐบาลมีปัญหาอะไร

หรือว่าการกินข้าวครั้งนี้ไม่ได้เช็กเสียง แต่มีจุดประสงค์อย่างอื่น

“ลุงตู่” อธิบายว่า

 “…นึกแล้วว่าต้องถามคำถามนี้ ผมไม่เห็นว่าจะมีอะไร ก็เป็นการพบปะพูดคุยกันธรรมดา และไม่ได้เป็นการไปพูดเรื่องการเมืองกัน ไปพูดกันว่าเขามีข้อเสนออะไรบ้าง เกี่ยวกับโครงการที่จะดูแลช่วยเหลือประชาชนในฐานะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และในฐานะรัฐบาลก็นั่งฟังและก็รับฟังมา

หลายเรื่องก็อยู่ในแนวทางที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ ก็ถือโอกาสได้เล่าให้พวกเขาได้ฟังว่าตรงนี้ทำแล้ว หรืออะไรที่ติดขัดอยู่ ซึ่งตัวแทนพรรคเล็กก็มีข้อแนะนำซึ่งเป็นประโยชน์ ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลเราก็ให้เกียรติซึ่งกันและกันก็แค่นั้นเอง ไม่ใช่ประเด็นอะไรทั้งสิ้น…”

 “…ไม่ต้องมีสัญญาอะไรหรอก มากินข้าวก็คือมากินข้าว แล้วการมาครั้งนี้ก็คือเรามาเจอกันแบบสุภาพบุรุษเข้าใจหรือไม่ ถ้าเป็นนักการเมืองก็ต้องเป็นนักการเมือง เพราะทุกคนก็คาดหวังให้มีการปฏิรูปทางการเมือง

เพราะฉะนั้นการปฏิรูปทางการเมืองก็ต้องปฏิรูปที่ตัวเราก่อน ใช่หรือไม่ ระบบก็คือระบบ ไปว่ากันตรงโน้น แต่ตัว ส.ส.ทุกคน ก็ต้องมุ่งหวังทำงานเพื่อประชาชน

แต่การทำงานเพื่อประชาชนเมื่อเข้ามาอยู่ในระบบแล้ว หรือเข้ามาเป็นรัฐมนตรีหรือตำแหน่งอะไรก็แล้วแต่  มันติดหรือเจอปัญหา เจอกฎหมาย เยอะแยะ…”

ถ้าเป็นไปตามนี้ อย่างน้อยก็เป็นหลักประกันว่า ทุกพรรคที่ร่วมกินข้าว คือ พรรคร่วมรัฐบาล

ส่วนพรรคที่ไม่ได้รับเชิญ ไม่ใช่พรรคร่วมรัฐบาล

ฉะนั้นนี่อาจเป็นการแสดงเจตนาของ “ลุงตู่” ว่ารัฐบาลประกอบด้วยพรรคอะไรบ้าง

และแน่นอนแล้วว่า ไม่มีพรรคเศรษฐกิจไทย

โดยเฉพาะ “ธรรมนัส พรหมเผ่า” ที่ถูกตัดขาดอย่างเป็นทางการ

ครับ…นี่คือช่วงเวลาของการจัดระเบียบพรรคร่วมรัฐบาล


Written By
More from pp
วสท. แนะนำ “คู่มือจัดการบ้าน…หลังน้ำท่วม” สำหรับประชาชนและวิศวกร
สภาพอากาศแปรปรวนและพายุฝนฟ้าคะนองของประเทศไทย ส่งผลให้มีฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ปัญหาใหญ่หลังน้ำลดคือการฟื้นฟูทำความสะอาดซ่อมแซมบ้านและอาคารให้พร้อมเข้าอยู่อาศัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดย คณะกรรมการคลินิกช่าง และทีมวิศวกรอาสา ศูนย์ตรวจสอบอาคารด้านวิศวกรรมหลังอุทกภัย แนะนำคู่มือพื้นฐาน “จัดการบ้าน…หลังน้ำท่วม” เพื่อให้ความรู้ ขั้นตอน และข้อควรระวังหลังน้ำท่วม เกี่ยวกับการจัดการบ้านเรือนของตนเองอย่างไรให้ปลอดภัย และกลับมาใช้ชีวิตในบ้านได้อย่างมีความสุข...
Read More
0 replies on “กินข้าวเคล้าการเมือง-ผักกาดหอม”