4ส.10 พระปกเกล้าลั่นเลิกระบบเรียนแพ้คัดออก หยุดขัดแย้งในครอบครัว  

เมื่อเร็วๆนี้ ที่ห้องประชุม Grandstep  C asean อาคาร CW Tower  ถนนรัชดาภิเษก  กรุงเทพฯ นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 10 หรือ (4.ส.10)  สถาบันพระปกเกล้า จัดเวทีสานเสวนาเรื่อง “การจัดการความขัดแย้งในครอบครัวจากระบบการศึกษาไทยสู่สังคมสันติสุข”

โดยมีผู้เข้าร่วมสานเสวนาประกอบด้วย รศ.ดร.สุพักตร์ พิบูลย์ รักษาการประธาน กพพ. สมศ.  นพ.ดุสิต ลิขนะพิชิตกุล ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ผู้ทรงคุณวุฒิกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นายพิภพ ธงชัย มูลนิธิเด็ก  นางฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว  ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ เครือข่ายภาคีเพื่อการศึกษาไทย นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่  นางธิดา พิทักษ์สินสุข สมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานกรรมการบริหารสถาบันรักลูกกรุ๊ป และน.ส.สุภาพิชญ์  ไชยดิษฐ์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และมี รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี   ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ในฐานะผู้แทนนักศึกษาหลักสูตร 4ส.10  ดำเนินรายการเวทีสานเสวนา

รศ. เสาวนีย์ จิตต์หมวด อดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ในฐานะคณะกรรมการบริหารหลักสูตร สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า  กล่าวเปิดงานว่า กิจกรรมดังกล่าวถึงแม้ว่าจะเป็นการดำเนินงานวิชาการของนักศึกษาหลักสูตร 4 ส.10 ซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการจบหลักสูตรการอบรมฯ ก็ตาม แต่ทางสถาบันพระปกเกล้ามีความมุ่งหวังว่าผลลัพธ์จากการศึกษานี้จะส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนผลักดันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นและสั่งสมมายาวนานอย่างต่อเนื่องในสังคมไทยได้ในโอกาสต่อไป

ขณะที่ รศ.นพ.สุริยเดว ในฐานะผู้แทนนักศึกษาหลักสูตร 4ส10  กลุ่มไม้เบญจพฤกษ์ กล่าวถึงภาพร่วมของกิจกรรมครั้งนี้ว่าจากปัญหาระบบการศึกษาไทย “แบบแพ้คัดออก” เป็นระบบการศึกษาที่สร้างความบอบช้ำให้เด็กไทย ซึ่งถือว่าเป็นระบบเดิมพันสูงมาก เพราะมีแต่ผู้ชนะกับผู้แพ้เท่านั้น  ผู้ชนะสั่งสมความเห็นแก่ตัว  ผู้แพ้โดยเฉพาะแพ้ซ้ำๆ ก็จะรู้สึกด้อยค่า  ไร้ประโยชน์ในขณะที่พ่อแม่ ผู้ปกครองก็มักจะคาดหวังในการศึกษาของบุตรหลานไว้สูงเกินความเป็นจริง  โดยไม่คำนึงถึงความต้องการหรือความสามารถของเด็กจนกลายเป็นการสร้างแรงกดดัน ความเครียด ความคาดหวังก่อให้เกิดความขัดแย้งในครอบครัว

ดังนั้นการจัดการเสวนาในครั้งนี้จะมุ่งเป้าไปที่การจัดการประเด็นความขัดแย้งที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นในบ้าน ระหว่าง พ่อ แม่ ลูก หรือแม้แต่ครูในระบบก็ทำร้ายเด็กไปด้วย หรือระบบเอง เราจะหาคำตอบ 2 ประเด็นร่วมสนทนาด้วยกันทีเดียวทั้ง 11 ท่านพร้อมกันไปในรูปแบบสุนทรียสนทนาคือ 1.รูปแบบหรือระบบในการจัดการความขัดแย้งภายในครอบครัวนี้อย่างไรได้บ้าง  และ 2.วิธีการไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งจะทำอย่างไรและควรดำเนินการลงที่ใดที่น่าจะเหมาะสม อีกทั้งนำเสนอต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาสังคมไทยให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขต่อไป

ขณะที่เวทีสานเสวนาฯ เริ่มต้นที่ นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า เด็กสมัยนี้ไม่เหมือนรุ่นตน เด็กรุ่นนี้ต้องใจเย็น ผู้ใหญ่ต้องเปิดใจ อย่างไรก็ตาม ระบบการศึกษาไทยในขณะนี้ ต้องปรับให้ใช้จินตนาการ  เลิกกดดันเด็ก  อย่างระบบวัดผลโอเน็ต ถือว่าเชยมาก  ตนรู้สึกอิจฉาเด็กที่ถูกส่งไปเรียนอินเตอร์ เพราะไม่มีแรงกดดัน แต่สำหรับคนไทยมีระบบวัดผลหลายตัว อย่างโอเน็ตวัดตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และปลาย ถือเป็นการสร้างแรงกดดัน การศึกษาไทยต้องลดโอเน็ต เพราะไม่สร้างจินตนาการ ควรให้อยู่กับครอบครัวมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญให้เด็กเรียนรู้จากความผิดพลาดจะได้เป็นยอดคน ให้เรียนรู้จากที่บ้านก่อนโรงเรียน

ดร.สรวงมณฑ์ กล่าวว่า ปัญหาอยู่ที่ความดีและความเก่ง โดยความดีของพ่อแม่ คือเมื่อลูกเชื่อฟัง ลูกเป็นเด็กดี แต่ถ้าไม่ทำตาม คือเด็กดื้อ ถูกกล่อมแบบอำนาจนิยม ส่วนอำนาจนิยมในระบบการศึกษาก็คือต้องเชื่อฟังคุณครู จึงจะได้เป็นเด็กแถวหน้า ซึ่งปลูกฝังตั้งแต่ครอบครัว  ส่วนความเก่งคือเด็กเรียนเก่งคือเด็กเก่ง  แต่เด็กที่เรียนไม่เก่ง ไม่ใช่ว่าเขาไม่เก่ง  นี่คือกรอบที่บล็อคจนทำให้เราเดินบิดเบี้ยวมาจนถึงทุกวันนี้

ขณะนี้คำว่าเก่งของเรามีมิติเดียวคือต้องเข้าโรงเรียนที่ดี และสอบสารพัดสอบ เก่งออกนอกลู่ไม่ได้ มีเชิงอำนาจนิยมซ้อนแล้วซ้อนเล่า เหมือนระบบพยายามจะออกแบบว่าเด็กต้องใส่เสื้อไซต์นี้ถึงจะเป็นเด็กเก่ง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะเด็กแตกต่างกัน

“พ่อแม่ต้องไม่ใช้อำนาจนิยมต้องเปลี่ยนบทบาทต้องรับฟัง เมื่อลดความเป็นอำนาจนิยมก็จะทำให้ลดความคาดหวังลงได้ ทั้งนี้ เรื่องสัมพันธภาพในครอบครัวก็เป็นโจทย์ใหญ่ เรามีเทคโนโลยีมากมายแต่ทำไมสัมพันธภาพในครอบครัวห่างกันมากขึ้น”  ดร.สรวงมณฑ์ ตั้งคำถาม

ทพ.กฤษดา กล่าวว่า โลกก่อนหน้านี้ การสื่อสารไม่ค่อยมีมาก และคนต้องเรียนหนังสือให้ดี แต่โลกตอนนี้ไม่ได้หมุนแบบนั้นไม่ได้วิ่งเป็นเส้นตรง เมื่อก่อนธุรกิจที่เคยบอกว่าดี ตอนนี้เจ๊ง พ่อแม่หลายคนอาจคิดว่าฉันเกิดในโลกแบบนี้ ลูกก็เป็นแบบนี้ ซึ่งถามว่าผิดหรือไม่ไม่ผิด  แต่ตัวที่ทำร้ายเด็ก คือระบบโรงเรียน ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการ ควรปรับเปลี่ยนระบบให้เด็กเลือกเรียนตามความถนัด

“ผมเลี้ยงลูกเหมือนกันทุกอย่าง ให้เข้าโรงเรียนดีที่สุดในประเทศ แต่ปรากฏว่าลูกคนหนึ่งเมื่อเรียนถึงมัธยมปีที่4 ไม่ยอมเรียนต่อ  ที่เป็นแบบนี้เพราะความคิดเด็กรุ่นนี้ไม่เหมือนรุ่นเรา จนสุดท้ายผมต้องส่งลูกที่ไม่ยอมเรียน ไปเรียนเมืองนอก  ซึ่งมีวิชาเรียนที่หลากหลายและให้เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบ เช่น ดนตรี  จนสุดท้ายลูกก็ประสบความสำเร็จในด้านการเรียน และสามารถออกแบบชีวิตตัวเองได้” ทพ.กฤษดา ระบุ

นายพิภพ กล่าวว่า หากจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว ควรสนับสนุนให้มีความเป็นประชาธิปไตยในครอบครัว หลีกเลี่ยงการใช้แนวทางอนุรักษ์นิยม เพราะเป็นการใช้อำนาจ  ทั้งนี้ทางออกคือต้องทำโรงเรียนทางเลือก แต่เสียว่าโรงเรียนลักษณะนี้ราคาแพง เหมาะสำหรับคนชนชั้นกลาง หรือโฮมสคูลก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

นอกจากนี้ต้องทำโรงเรียนให้เหมาะกับเด็ก ไม่ใช่ทำเด็กให้เหมาะกับโรงเรียน ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับโรงเรียนในกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้ง รวมทั้งต้องเปลี่ยนความคิดพ่อแม่ไม่ส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนอนุรักษ์นิยม ซึ่งมีระบบการใช้อำนาจอยู่

นางฐาณิชชา กล่าวว่าพ่อแม่ต้องปรับเปลี่ยนแนวทางเช่น อย่าบังคับเลือกอาชีพให้ลูก เพราะสมัยนี้อาชีพต่างๆไม่เหมือนกับคนยุคก่อน เด็กสามารถเลือกตามความถนัดและหารายได้ รวมทั้งพ่อแม่ต้องเลิกใช้วิธีบ่นเปลี่ยนเป็นรับฟังแทน เพราะปัจจุบันระหว่างพ่อแม่กับลูก มักขาดการสื่อสารซึ่งกันและกัน  จึงอยากเสนอให้มีตัวกลางในการสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจขณะที่การเรียนพิเศษที่หลักๆต้องลดลง

น.ส.สุภาพิชญ์ กล่าวว่า พ่อแม่บางคนคิดว่าการเข้าโรงเรียนที่มีค่าเทอมแพงๆ เพื่อซื้อสังคมให้กับลูกเป็นสิ่งที่ถูก แต่ความจริงไม่ได้ตอบโจทย์ เวลาเกิดความขัดแย้งความรุนแรงทั้งในมุมพ่อแม่ และลูกจะแรงด้วยกันทั้งคู่ อย่างตนในอดีตหากทำอะไรผิด พ่อแม่ไม่ตี แต่จะถูกให้เข้ามุม แล้วเมื่อใจเย็นค่อยมาคุยกับพ่อแม่  จนเกิดความเข้าใจ ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นควรมีพื้นที่ส่วนกลางร่วมกันอาจเป็นหนึ่งวิธีที่ลดความขัดแย้งลงได้

นพ.ดุสิต กล่าวว่า  ความจริงในยุคปู่และยุคคุณพ่อคุณแม่ในอดีต แต่ในวันนี้เมื่อโลกเปลี่ยนไป อาจไม่จริงในยุคของลูก ปัญหาวัยรุ่นจะชัดก็ตอนเลือกคณะ  เลือกอาชีพ แต่ความจริงความขัดแย้งเกิดตั้งแต่เด็ก ระหว่างสิ่งที่อยากทำกับสิ่งที่ต้องทำ  โดยสิ่งที่อยากทำคือตัวแทนเด็ก  และสิ่งที่ต้องทำคือตัวแทนของผู้ใหญ่ ความขัดแย้งไม่ใช่ปัญหา แต่วิธีแก้ไขทุกคนต้องเรียนรู้  ทั้งนี้ การสอนเด็กคิดขั้วเดียวอันตราย และต้องสอนให้คิดทุกมิติ  เปิดใจกว้าง เมื่อทำได้จะคลายความขัดแย้งในตัวเองลง ที่สำคัญพ่อแม่ต้องไม่ใช้อำนาจแต่ต้องแก้ปัญหาด้วยปัญญา

นางสุภาวดี กล่าวปิดท้ายด้วยข้อเสนอว่าขอให้วงเสวนาครั้งนี้ยกเลิกระบบวัดผลโอเน็ตและเลิกสอบเข้ามหาวิทยาลัย รวมทั้งระบบเรียนแบบแพ้แล้วคัดออก เพื่อคลายความกดดันให้ผู้ปกครองและเด็ก และขจัดความขัดแย้งในครอบครัวและระบบการศึกษาไทย

Written By
More from pp
“พรรคประชาธิปัตย์” ร่วมวางพวงมาลาถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9 เนื่องใน “วันนวมินทรมหาราช”
13 ตุลาคม 2566 เวลา 09.00 น. พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมวางพวงมาลาถวายบังคม พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
Read More
0 replies on “4ส.10 พระปกเกล้าลั่นเลิกระบบเรียนแพ้คัดออก หยุดขัดแย้งในครอบครัว  ”