มีปัญหาเรื่องกลืนต้องรีบพบแพทย์ ก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อนจนเป็นอันตรายถึงชีวิต

แสบร้อนกลางอก อาหารติดคอบ่อย สังเกตหน่อยเพราะอาจเสี่ยงภาวะกลืนลำบาก หากไม่รีบรักษาอาการอาจรุนแรงขึ้นจนนำไปสู่ภาวะขาดสารอาหารและเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

กลืนลำบาก หรือ Dysphagia เป็นภาวะที่เกิดจากสมอง เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกสมอง พาร์กินสัน ระบบประสาทบกพร่อง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังสามารถเกิดได้กับผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อหายใจเป็นเวลานาน มะเร็งบางชนิด ผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดกล่องเสียง หรือแม้แต่ความชราก็สามารถเกิดภาวะกลืนลำบากได้เช่นกัน

ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหลายด้าน รวมถึงเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจนำไปสู่อันตรายถึงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการขาดโภชนาการ การสำลักน้ำและอาหารจนไปอุดตันหลอดลม ลงปอดและเกิดการติดเชื้อ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด็อกเตอร์นายแพทย์ไพฑูรย์ เบ็ญจพรเลิศ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูเฉพาะทางด้านฟื้นฟูการกลืน โรงพยาบาลเวชธานี ระบุว่า ภาวะกลืนลำบากหมายถึงการกลืนสิ่งต่าง ๆ ได้ยากลำบาก กลืนแล้วเกิดอาการเจ็บหรือสำลัก ไม่ว่าจะเป็นการกลืนน้ำ อาหาร หรือแม้แต่น้ำลาย

“ข้อสังเกตของผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบาก นอกจากจะกลืนไม่ได้หรือกลืนแล้วเจ็บ ก็จะมีอาการคล้ายอาหารติดอยู่ที่ลำคอหรือบริเวณหน้าอก เสียงเปลี่ยนหลังการกลืน น้ำลายไหลมากผิดปกติ แสบร้อนกลางหน้าอก อาหารไหลย้อนมาที่คอ ไอเมื่อกลืนอาหาร สำลักอาหารง่าย หรืออาเจียน ซึ่งอาการเหล่านี้หากปล่อยทิ้งไว้นานหรือไม่ได้รับการรักษาและฟื้นฟูอย่างถูกต้อง อาจทำให้ผู้ป่วยน้ำหนักลด ขาดสารอาหาร และเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายตามมาได้” นายแพทย์ไพฑูรย์กล่าว

เมื่อคนในครอบครัวสังเกตเห็นความผิดปกติของผู้ป่วยหรือตัวผู้ป่วยเองสงสัยว่ามีภาวะกลืนลำบากควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อประเมินความรุนแรง วางแผนการรักษาและการฟื้นฟูที่เหมาะสม โดยแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย ประเมินภาวะโภชนาการ รวมถึงทดสอบการกลืนของผู้ป่วยด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น ภาพถ่ายรังสี (Videofluoroscopic) ส่องกล้องประเมินการกลืน (Fiberendoscopic evaluation) เป็นต้น

เมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วพบว่าผู้ป่วยมีภาวะกลืนลำบาก แพทย์จะพิจารณาโปรแกรมฟื้นฟูการกลืนเฉพาะบุคคล ประกอบด้วย บริหารกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน ปรับท่าการรับประทานที่ปลอดภัย ปรับเนื้อสัมผัสของอาหารและความหนืดของน้ำ และบางรายอาจพิจารณาใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าแบบอ่อน (Vital Stim) ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางและนักกิจกรรมบำบัดเฉพาะทางอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิดต้องสังเกตการรับประทานอาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดหรืออาหารบางประเภทที่ทำให้เกิดปัญหาการกลืนได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มกาเฟอีน รวมถึงงดสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอกหรือทำให้ภาวะกลืนลำบากที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้นได้



Written By
More from pp
กรมศิลปากรเตรียมเปิดแหล่งเรียนรู้ 22 พค.นี้ พร้อมจัดมาตรการป้องโควิดเข้ม
นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) หรือ ศบค. ได้มีมาตรการผ่อนปรนระยะที่ ๒
Read More
0 replies on “มีปัญหาเรื่องกลืนต้องรีบพบแพทย์ ก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อนจนเป็นอันตรายถึงชีวิต”