“นายกฯ” คิกออฟ “ยุวชนสร้างชาติ” “สุวิทย์” ชูเรียนรู้จริงนอกห้องเรียน ใช้นวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำชุมชน

เมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ ทำเนียบรัฐบาล มีพิธีเปิดตัวแคมเปญ “ยุวชนสร้างชาติ” ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจะมีการนำยุวชนอาสา จำนวน 500 คน จาก 7 มหาวิทยาลัยภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์, เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร, ขอนแก่น,ราชมงคลอีสาน นครราชสีมา,เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น,ราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์, ราชภัฏมหาสารคาม,ราชภัฏศรีสะเกษ และ ศรีปทุม บางเขน นำโดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษาฯ ไปเรียนรู้สร้างประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน ด้วยการทำงานร่วมกับชุมชน ที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 จังหวัดยากจนของประเทศ

ทั้งนี้ โครงการ “ยุวชนอาสา” เป็น 1 ใน 3 ของโครงการ “ยุวชนสร้างชาติ” ส่วนอีกโครงการคือ “บัณฑิตอาสา” และ “กองทุนยุวสตาร์ทอัพ” ที่มีเป้าหมายนำพลังเยาวชนไทยขับเคลื่อนประเทศสู่ศตวรรษที่ 21 ปฎิรูปการเรียนรู้สร้างประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน ใช้นวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำชุมชน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้โอวาทแก่นักศึกษาที่เข้าร่วมในโครงการยุวชนอาสา ว่า โครงการยุวชนสร้างชาติ เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาประเทศและเป็นโครงการสำคัญในการปฎิรูปประเทศไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยการใช้พลังเยาวชนไทยเป็นกุญแจหลักในการขับเคลื่อนประเทศ พร้อมทั้งปฏิรูประบบการเรียนรู้สร้างประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน เปิดโอกาสให้ยุวชนนำความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีไปพัฒนาพื้นที่ชนบท พร้อมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และผู้ประกอบการยุคใหม่อีกด้วย ซึ่งสิ่งที่ประเทศไทยต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วนและจริงจัง คือ ทรัพยากรมนุษย์ที่มีทั้ง “ทักษะทางวิชาการ (Hard Skill)” และ “ทักษะทางอารมณ์และสังคม (Soft Skill)” รวมทั้งมีคุณธรรม จริยธรรม ความรับผิดชอบต่อสังคม และศักยภาพที่จะดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21 ดังนั้น กระทรวง อว.เป็นกระทรวงสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เนื่องจากเป็นการหลอมรวมหน่วยงานวิจัยของประเทศและสถาบันอุดมศึกษามาเพิ่มพลังทวีคูณในการเติมเต็มศักยภาพของคนไทยให้สามารถเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมและความรู้เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืน
“คนรุ่นใหม่จะต้องหาวิธีการใช้กฎหมายให้เป็นประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่แก้กฎหมาย อยากให้ดึงอาชีวศึกษาเข้ามาร่วมในโครงการนี้ด้วย และให้ยุวชนอาสาไปสร้างเครือข่ายและดึงคนรุ่นใหม่มาร่วมโครงการนี้ให้ได้มากที่สุด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ขณะที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษาฯ กล่าวว่า โครงการยุวชนอาสา ได้เริ่มดำเนินการก่อน โดยเลือก จ.กาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดนำร่อง เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ติด 1 ใน 4 จังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ มีสัดส่วนคนยากจนสูงถึง 31.99 % มีนักเรียน นักศึกษาผ่านการคัดเลือก จำนวน 83 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย 83 ตำบล ใน 15 อำเภอ จาก 134 ตำบล ใน 18 อำเภอ ระยะเวลาในการดำเนินโครงงาน 1 ภาคการศึกษา โดยประเด็นการพัฒนา คลอบคลุม 4 ด้านได้แก่

1.พัฒนาศักยภาพที่มุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย

2. ยกระดับคุณภาพและรายได้ด้านการท่องเที่ยว และส่งเสริมการค้า การลงทุน

3. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

4.การพัฒนาทุนมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมที่มีความมั่นคงและสงบสุข

“จากรายงานการประมวลผลผลิตภัณฑ์ภาคและจังหวัดของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า จ.กาฬสินธุ์ มีผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวอยู่ที่ 51,147 ต่อคนต่อปี และยังมีสัดส่วนคนยากจนอยู่ที่ 31.99 % มากเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ ซึ่งโครงการนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่เยาวชนไทยจะเข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการนำความรู้ความสามารถที่เรียนมาช่วยแก้ปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้เกิดขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม โดยกำหนดเป้าหมายการพัฒนาจังหวัด ภายใต้แนวคิด “มั่งคั่งด้วยเกษตรปลอดภัย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยกำหนดเป้าหมายผลิตภัณฑ์มวลรวมเฉลี่ยต่อคนต่อปีเพิ่มสูงขึ้น 7% และสัดส่วนคนจนลดลง 2.5% ต่อปี” ดร.สุวิทย์ ระบุและว่า

โครงการยุวชนสร้างชาติ ประกอบด้วย 3 โครงการหลัก ได้แก่

1. ยุวชนอาสา: สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3-4 กลุ่มละ 8-10 คนแบบคละศาสตร์ (วิทย์-สังคม) เรียนรู้และพักอาศัยในชุมชนเป็นเวลา 1 ภาคเรียน (4-5 เดือน) และได้รับหน่วยกิตเทียบเท่าการเรียนในชั้นเรียนทั้งภาคเรียน

2. บัณฑิตอาสา: สำหรับบัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 3 ปี กลุ่มละ 8-10 คนแบบคละศาสตร์ (วิทย์-สังคม) ลงพื้นที่พักอาศัยและทำโครงการในชุมชนเป็นระยะเวลา 12 เดือน

และ 3.กองทุนยุวสตาร์ทอัพ : สำหรับนักศึกษาและบัณฑิตจบใหม่ที่มีความสนใจเป็นผู้ประกอบการ และต้องการรวมกลุ่มกันจัดตั้งสตาร์ทอัพ

ทั้งนี้ ภายในงานนักศึกษายังได้นำเสนอผลงานในการร่วมพัฒนาชุมชนต่อนายกรัฐมนตรี จำนวน 5 โครงการ ประกอบด้วย

1. การสร้าง Smart Farmer ไทยด้วย IoT (Internet of Thing) ​: โครงการส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีอบพริกแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยระบบ IoT โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

2. การพัฒนาที่ยั่งยืนสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ : การบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น

3. โครงการสู่ ‘นาบอนโมเดล’ การท่องเที่ยวชุมชนเทคโนโลยี 4.0 โดย มหาวิทยาลัยศรีปทุม

4. จากขยะสู่หนอนสู่โปรตีนเลี้ยงสัตว์คุณภาพสูง : โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากหนอนแมลงวันลาย (ย่อยขยะอินทรีย์) ให้เป็นโปรตีนเลี้ยงสัตว์คุณภาพสูง โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร และ

5. หมู่บ้านต้นแบบผ้าทอพื้นเมืองตามอัตลักษณ์ผู้ไทเพื่อสุขภาพ โดยมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์​

Written By
More from pp
กลุ่มบริษัทภาคเอกชน จับมือ กสศ. เปิดตัวแคมเปญ “มื้อนี้พี่เลี้ยง” รวมพลังความร่วมมือช่วยเหลือเด็กยากจนพิเศษต่อเนื่องจากวิกฤตโควิด
กลุ่มบริษัทภาคเอกชน โดย นายพนมกร จิระเสถียรพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด กลุ่มธุรกิจแกร็บฟู้ด นายฐิติภูมิ วงศ์เกียรติขจร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพัฒนาธุรกิจ บริษัท เกรฮาวด์ คาเฟ่ จำกัด
Read More
0 replies on ““นายกฯ” คิกออฟ “ยุวชนสร้างชาติ” “สุวิทย์” ชูเรียนรู้จริงนอกห้องเรียน ใช้นวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำชุมชน”