ผู้ชายคนหนึ่งชื่อ “ประยุทธ์”

“การบินไทย”…..
ยื่นคำร้องขอทำ “แผนฟื้นฟูกิจการ” ต่อศาลล้มละลายกลางเรียบร้อยแล้ว เมื่อวาน(๒๖ พค.๖๓)

วันนี้ ๒๗ พค.
ศาลฯนัดฟังคำสั่ง!การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามขั้นตอนกฎหมายล้มละลาย มีหลายขั้นตอน ขยุ้มๆ พูด จะสับสนกัน
ฉะนั้น ค่อยๆ ทำความเข้าใจกันไปตามลำดับ

ผมเองใช่ว่าจะรู้ เพียงหยิบฉวยจากท่านผู้รู้มาปะติด-ปะต่อเท่านั้น
ฉะนั้น วันนี้ …….
ที่นัดฟังคำสั่ง เป็นปฐมบทแห่งการสั่ง เพียงว่า ศาลจะ “รับหรือไม่รับ” คำร้องขอไว้พิจารณาหรือไม่ เท่านั้น
คือ ต้องเข้าใจให้ชัด ขั้นตอนนี้ แค่ “คำร้องขอฟื้นฟู”
จะไม่มี “แผนฟื้นฟู” อยู่ในคำร้องนั้น ซึ่งมันต้องไปอีกขั้นตอนหนึ่ง
สรุป วันนี้ ศาลเพียงจะบอกว่า “รับ-ไม่รับ” คำร้อง

สมมุติ ศาลมีคำสั่ง “รับคำร้องขอฟื้นฟู” ไว้พิจารณา อานิสงส์ประเสริฐแรกที่การบินไทยจะได้รับ คือ….
หนี้สิน “การบินไทย” ทั้งหมดสู่โหมด “พักชำระหนี้”
มี-ไม่หนี แต่ไม่จ่าย เพราะกฎหมายคุ้มครอง เจ้าหนี้รายใดจะทวงถาม-ฟ้องร้องก็ไม่ได้

ทั้งการบินไทย จะไปจ่ายหนี้-จ่ายสินให้ใคร ด้วยพิศวาทเสน่หา หรือด้วยเหตุผลกลใด ก็ไม่ได้ด้วย!
เมื่อศาลรับไว้พิจารณาแล้ว ……..
ศาลก็จะประกาศ “คําสั่งรับคําร้องขอ” นั้น ในหนังสือพิมพ์รายวัน ไม่น้อยกว่า ๒ ครั้ง
ลงติดกันก็ไม่ได้ แต่ละครั้ง ต้องให้ห่างกันไม่เกิน ๗ วัน ในแต่ละครั้ง ก็ใช้เวลาครึ่งเดือนแล้ว
ที่ทำเช่นนี้ เพื่ออะไร?

เพื่อส่งสําเนาคําร้องแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายและนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท หรือนายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อเขาจะได้จดแจ้งคําสั่งศาลไว้ในทะเบียน
และให้ส่ง “ก่อนวันไต่สวน” ไม่น้อยกว่า ๗ วัน
แล้วจะไต่สวนตอนไหน?

เท่าที่ปรากฏ เมื่อศาลรับคําร้องขอแล้ว ราวๆ ๑-๒ เดือน ศาลจะนัดไต่สวน ทั้งนี้ เพื่อให้เวลากับบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย ในความหมายว่า ได้รับสำเนาคำร้องกันครบถ้วนแล้ว
ศาลจะนัดไต่สวนประมาณ ๑-๒ เดือน นับแต่วันรับคําร้องขอ

จากนั้น จึงจะไปถึงขั้นตอนศาลจะมีคำสั่งว่าจะให้หรือไม่ให้ฟื้นฟูกิจการ?
สมมุติว่า ศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
ศาลสั่งวันไหน อำนาจหน้าที่บริหารจัดการกิจการและทรัพย์สินการบินไทย คือบอร์ดบริหาร ก็จะสิ้นสุดลงวันนั้น

อำนาจทั้งหมดในการบินไทย………
จะไปอยู่ที่ “คณะผู้ทำแผนฟื้นฟู” เพราะปกติ เมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟู ก็จะมีคำสั่งตั้ง “คณะผู้ทำแผน” ไปด้วย
แต่ถ้ายังไม่ตั้งผู้ทำแผนวันนั้น …….
ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ก็จะตั้งคณะผู้บริหารการบินไทยชั่วคราว

นี่…….
แค่ขั้นตอนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูเท่านั้น ก็ใช้เวลาประมาณ ๒ เดือนแล้ว ยังไม่ถึงขั้นตอน ศาลจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับแผนฟื้นฟูนั้นหรือไม่?

นั่นคือ ต่อจากช่วง ๒ เดือนนั้น
สู่ขั้นตอนทำแผนฟื้นฟูเพื่อส่งให้ศาลพิจารณาว่าจะเห็นชอบหรือไม่ ก็ต้องใช้เวลาอีกประมาณ ๓ เดือน!

ดังนั้น ตอนนี้ ใครอย่าเพิ่งหยั่งรู้ยาวไปถึงรายละเอียดในเนื้อหาแผนเลยว่า เป็นอย่างนั้น-อย่างนี้ แล้ววิพากษ์-วิจารณ์
เอาแค่ขั้นตอน “สู่ครรภ์ศาล” ก่อนก็พอ!

ตอนนี้ เห็น ตั้ง ๔ เซียน เข้าไปเป็นบอร์ดการบินไทยบ้าง ตั้ง ๙ ซูเปอร์บอร์ด บ้าง
ก็เข้าใจสับสนปนเป ว่านี่คือ อรหันต์ทองคำ ที่รัฐบาลส่งเข้าไปฟื้นฟูการบินไทย

ก็อยากบอกว่า อย่าเพิ่งทึกทักสรุปอะไร ทั้งหมดนี้ เป็นขั้นตอนปะแป้ง-แต่งหน้า เพื่อเตรียมออกฉากร้องรำตามบทของแต่ละคนเท่านั้น

๔ เซียน ที่ตั้งเข้าไปเป็นบอรด์การบินไทย
-นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรัฐมนตรียุติธรรม
-บุญทักษ์ หวังเจริญ อดีตประธานแบงก์ทหารไทย
-นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตผู้จัดการใหญ่ ปตท.
-นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต ดีดีการบินไทย

ใช่………
ตอนนี้เป็นบอร์ดบริการการบินไทย และพูดล่วงหน้าได้ ว่ามีความน่าจะเป็นสูง ที่จะร่วมอยู่ในคณะผู้ทำแผนจากการแต่งตั้งของศาลในอนาคต

นั่นคือ ก็จะเป็นผู้มีอำนาจบริหารจัดการและกิจการทรัพย์สินการบินไทยในฐานะผู้จัดทำแผนและผู้บริหารแผน
ถ้าโลกนี้ มีต้นไม้ที่ กิ่งเป็นทอง-ใบเป็นหยก จริง ตามนินายปะรำ-ปะรา
ก็ต้องบอกว่า ๔ เซียนนี่แหละ
“กิ่งทอง-ใบหยก” ในโลกเป็นจริง เพื่อการผ่าตัด-ฟื้นฟู ชุบชีวิตใหม่ให้การบินไทยกลับยิ่งใหญ่ลอยฟ้า

ส่วนซูเปอร์บอร์ด ๙ ท่าน นายกฯตั้งเมื่อวาน ที่มีรองนายกฯ วิษณุ เป็นซูเปอร์แมน นัมเบอร์วัน นั้น
แค่ “ท้องนอกมดลูก” น่ะ!
ไม่เกี่ยวกับกระบวนการฟื้นฟูกิจการที่กำลังทำในศาล เรียกกันไปเอง “ซูเปอร์บอร์ด” ในทำนอง นายกฯ ตั้งบอร์ดคุมบอร์ดอะไรทำนองนั้น

ความจริงทางปฏิบัติ ก็แค่” ลูกมือแม่ครัว” คอยดู-คอยประสานกับ ๔ แม่ครัว
ว่าขาดเหลืออะไร ต้องการอะไร ติดขัดตรงไหน งานเดินถึงไหน ซูเปอร์บอร์ดเป็นตัวเชื่อม-ตัวสื่อสาร ระหว่างคณะทำงานกับรัฐบาล คือนายกฯ

คือช่วยเป็น “นกแล” ให้นายกฯ ก็เท่านั้น อย่าจับแพะชนแกะในด้านแบ่งเค้ก-แบ่งโควตาเข้าไปเอี่ยวให้วุ่นวายไป!

“๙ นกแลทองคำ” ก็มี…..
-วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธาน
-อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ อดีตรมว.คลัง
-ประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง
-ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม
-ชยธรรม์ พรหมศร ผอ.สนข.
-วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม
-ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาฯ กฤษฎีกา
-รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาฯ ก.ล.ต.
-นายประภาศ คงเอียด ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เลขานุการคณะนกแล

ทั้ง ๙ นี้ เข้าไปยุ่มย่ามในการบินไทยในเขตแดนอำนาจศาลว่าด้วยกระบวนการ “ทำแผน-บริหารแผน” ไม่ได้!
ในคำขอฟื้นฟูที่การบินไทยยื่นต่อศาลล้มละลายกลางนั้น ก็คงอยากรู้ว่า ในคำขอนั้น มีอะไรบ้าง?

ตรงนี้ไม่ยาก เพราะเป็นไปตามรูปแบบที่ต้องแจกแจงไปในคำร้องขอนั้น
เช่น หนี้สินที่ว่าล้นพ้นการบินไทยจนไม่สามารถชำระได้นั้น มันมีอะไรบ้าง
ใครบ้างเป็นเจ้าหนี้ ต้องบอกรายชื่อด้วย และต้องบอกถึงช่องทางที่จะฟื้นฟูด้วย
รวมถึงรายชื่อ “ผู้ทำแผน” และต้องแจงคุณสมบัติด้วยว่า คนเหล่านั้นเอตะทัคคะอย่างใด ด้านใด จึงเห็นเหมาะสมในการเป็นผู้ทำแผน
ผู้ทำแผน จะเป็นเจ้าหนี้หรือผู้บริหารของลูกหนี้ก็ได้!

นี่ ตรงนี้แหละ ที่ผมบอกว่า ๔ เซียน ที่นายกฯ ส่งเข้าไปเป็นบอร์ดวานซืน น่าจะอยู่ในรายชื่อ “ผู้ทำแผน” ในคำร้องขอฟื้นฟู

เอาหละ……..
คุยนอกรอบนิด ให้เข้าใจตรงกันว่า ขณะนี้ การบินไทยคลังลดหุ้นเหลือต่ำกว่า ๕๑%แล้ว พ้นสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว
นั่นจึงพ้นจากเป็นกิจการอยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคมตามกฎหมาย
ในทางปฏิบัติ คือ รัฐมนตรีคมนาคม ไม่มีอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องทางกำกับดูแล้ว!
ที่อยากให้มองกันคือ งานฟื้นฟูกิจการการบินไทย ที่คืบหน้ารายชั่วโมง-รายวัน และการคัดสรรคน เช่น ๔ เซียน นั้น
ขอบอกว่า “นายกฯล้วนๆ”!

ตอนนี้ นายกฯ บริหารทั้งการเมืองในรัฐบาล การเมืองในพรรครัฐบาล และทั้งการเมือง “เพื่อการบ้าน” ในการบินไทย บนการตัดสินใจ…….
“เพื่อประโยชน์ส่วนรวมชาติ” ด้วยตัวท่านเอง!

ต้องบอกว่า “เหนื่อยทั้งกาย-ทั้งใจ”
ฉะนั้น ไม่มี อะไรที่เรา…ประชาชนจะช่วยท่านได้ดีไปกว่าการ

“ให้กำลังใจ” ท่าน!

LineID:plewseengern.com


Written By
More from plew
รอบ ๒ “ทีมไทย-ทีมตู่” – เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน กฎหมายไม่มีคำว่า “ถ้า” หรือคำว่า “สมมติ” ดังนั้น ทุกคำตัดสินของศาล จะตัดสินบนฐาน ๒ ฐาน คือ...
Read More
0 replies on “ผู้ชายคนหนึ่งชื่อ “ประยุทธ์””