กรมอนามัย ห่วงสุขภาพประชาชนในช่วงสภาพอากาศร้อน เตือนปชช. หากร่างกายได้รับความร้อนสูงเกินไปและไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ อาจทำให้เกิด 6 อาการ ได้แก่ ผื่นผิวหนัง บวมที่ข้อเท้า ตะคริว เป็นลม เพลียแดด และลมร้อน (Heat Stroke) พร้อมแนะวิธีป้องกันตนเอง    

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงสุขภาพประชาชนในช่วงสภาพอากาศร้อน หากร่างกายได้รับความร้อนสูงเกินไปและไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ อาจทำให้เกิด 6 อาการ ได้แก่ ผื่นผิวหนัง บวมที่ข้อเท้า ตะคริว เป็นลม เพลียแดด และลมร้อน (Heat Stroke) พร้อมแนะวิธีป้องกันตนเอง    แพทย์หญิงพรรณพิมล  วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สภาพอากาศที่ร้อนจัดและอุณหภูมิที่สูงในช่วงหน้าร้อนอาจเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ผู้ทำงานกลางแจ้ง และผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ เพราะหากร่างกายได้รับความร้อนสูงเกินไปและไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ อาจทำให้เกิด 6 อาการตามระดับความรุนแรง ได้แก่

1) ผื่นผิวหนัง เกิดจากร่างกายระบายความร้อนโดยการขับเหงื่อมากจนรูขุมขนอักเสบ ทำให้ระคายเคืองที่ผิวหนังและเป็นตุ่มสีแดงหรือผื่นที่บริเวณหน้า ลำคอ หน้าอกส่วนบน ใต้ราวนม และขาหนีบ แนะนำให้อาบน้ำ สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี และทายาบริเวณที่เป็นผื่น

2) บวมที่ข้อเท้า เกิดจากเส้นเลือดบริเวณผิวหนังขยายตัว ทำให้เกิดอาการ   บวมที่ขา โดยเฉพาะที่ข้อเท้า จึงควรพักผ่อนและนอนยกขาสูง

3) ตะคริว  เกิดจากกล้ามเนื้อหดตัวและเกร็งอย่างเฉียบพลัน โดยเฉพาะบริเวณขา แขน และท้อง ซึ่งพบในผู้ที่ทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างหนัก จนร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ทางเหงื่อเป็นจำนวนมาก แนะนำให้ยืดกล้ามเนื้อบริเวณที่เป็นตะคริว นวดกล้ามเนื้อเบา ๆ ประมาณ 1 – 2 นาที สลับกับการยืดกล้ามเนื้อ และดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของเกลือแร่ เพื่อชดเชยน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป

4) เป็นลม เกิดจากร่างกายไม่สามารถปรับตัวต่ออากาศที่ร้อนขึ้น ทำให้เป็นลมหมดสติได้ วิธีช่วยเหลือคือให้ผู้ป่วยนอนหงายราบกับพื้น ใช้หมอนรองขาและเท้าสูงกว่าลำตัว พัดโบกลมให้ถูกหน้า ลำตัว เพื่อช่วยระบายความร้อนจากร่างกาย ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดหน้า และบีบนวดแขนขา หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 30 นาที ให้ไปพบแพทย์

5) เพลียแดด เกิดจากการสูญเสียน้ำหรือเกลือแร่จำนวนมากไปกับเหงื่อนานหลายชั่วโมง อาการคือ มีเหงื่อออก อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และกระหายน้ำอย่างมาก หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว แต่ยังคงมีสติอยู่ วิธีช่วยเหลือคือให้ผู้ป่วยนอนยกขาสูง ใช้พัดลมเป่า วางถุงใส่น้ำแข็งไว้ตามซอกคอ รักแร้ ข้อพับและขาหนีบ หากผู้ป่วยยังมีอุณหภูมิร่างกายสูงให้นำส่งโรงพยาบาลทันที

6) โรคลมร้อน หรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) เป็นโรคที่รุนแรงมากจนอาจเสียชีวิตได้ เนื่องจากเมื่ออยู่ในอากาศที่ร้อนจัด ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้ตามปกติจนไปทำลายระบบการทำงานของอวัยวะในร่างกายและระบบประสาท ทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิวหนังแดง ร้อน เหงื่อไม่ออก สับสน มึนงง หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลทันทีอาจเสียชีวิตได้

วิธีช่วยเหลือผู้ป่วยคือ พาผู้ป่วยหลบเข้าที่ร่ม หรือในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ ถอดเสื้อผ้าให้เหลือเท่าที่จำเป็น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ใช้พัดลมเป่า วางถุงใส่น้ำแข็ง  ไว้ตามซอกคอ รักแร้ ข้อพับและขาหนีบ และรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

ทั้งนี้ หากพบคนไม่สบายจากความร้อนหรือต้องการความช่วยเหลือ ให้รีบโทรแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือติดต่อสายด่วนช่วยชีวิต 1669” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

Written By
More from pp
ประกันสังคม เผยผู้ประกันตนลงทะเบียนรับสิทธิโครงการ ม33เรารักกัน วันที่สอง ยอดพุ่งกว่า 7 ล้านราย
นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยการลงทะเบียนของผู้ประกันตนมาตรา 33 ผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com
Read More
0 replies on “กรมอนามัย ห่วงสุขภาพประชาชนในช่วงสภาพอากาศร้อน เตือนปชช. หากร่างกายได้รับความร้อนสูงเกินไปและไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ อาจทำให้เกิด 6 อาการ ได้แก่ ผื่นผิวหนัง บวมที่ข้อเท้า ตะคริว เป็นลม เพลียแดด และลมร้อน (Heat Stroke) พร้อมแนะวิธีป้องกันตนเอง    ”