ป่วยกาย หรือ ป่วยจิต – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ก็แปลกดี…

มีคนถามเรื่อง นักโทษเทวดา ชั้น ๑๔ ที่ติดคุกทิพย์ ตั้งมากมายทั้งในและนอกสภาฯ

แต่ กรมราชทัณฑ์ เลือกที่จะตอบคำถาม “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ตั้งข้อสงสัยเรื่อง “นักโทษชายทักษิณ” ในโซเชียลก็ยังดี ดีกว่าไม่ตอบอะไรเลย

ย้อนกลับไปดูโพสต์ของ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” กันก่อน เป็นโพสต์เมื่อวันที่ ๕ มกราคม

“…รมต.ที่ตอบคำถามได้น่าผิดหวังที่สุดในการอภิปรายงบประมาณ เมื่อวานนี้ คือ ท่านทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม คนกันเองกับผมเอง

ที่บอกว่า คนกันเอง เพราะในช่วงที่เป็น กมธ.งบประมาณ ปี ๖๖ ท่านนั่งเก้าอี้ติดกับผม และช่วยกันทำงานตรวจสอบงบประมาณอย่างเข้มข้น หลายอย่างผมเรียนรู้จากท่าน

เมื่อวานท่านตอบประเด็นคุณทักษิณพักรักษาตัวที่ชั้น ๑๔ ได้ฮือฮามาก

๑.ราชทัณฑ์ไม่ใช่ที่ฆ่าคน คนเจ็บป่วยต้องได้รับการรักษา

๒.ขณะนี้เลย ๑๒๐ วัน การให้อยู่ รพ.ต่อ อธิบดีต้องรายงานมาที่ รมต. ซึ่งยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ เลยยังตอบไม่ได้

๓.การอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมไปไหนไม่ได้ถือว่าเป็นการสูญเสียอิสรภาพแล้ว

ข้อแรก ผมเห็นด้วยและชื่นชมแนวคิดของท่าน

ข้อสอง จะดีกว่านี้ ถ้าท่านบอกว่า ผมเร่งรัดให้รีบดำเนินแล้ว และหากเห็นรายงานว่าไม่เหมาะสม จะสั่งการให้นำคุณทักษิณกลับเรือนจำ และตั้งกรรมการสอบผู้เกี่ยวข้อง

ข้อสาม ตรรกะใช้ไม่ได้ครับ ห้องสี่เหลี่ยมในห้องขัง กับ ห้องสูทคนไข้วีไอพี ชั้น ๑๔ นั้นแตกต่างกันเหวกับฟ้า ขอนักโทษป่วยทุกรายมาอยู่ชั้น ๑๔ ได้ไหม…”

ก็ไม่มีอะไรมาก เพราะยังมีอีกหลายคนตั้งข้อสังเกตเจ็บแสบกว่านี้เยอะ แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในเรื่องที่ผู้คนสงสัย และอยากได้คำตอบ

ใบแถลงข่าวของกรมราชทัณฑ์ ก็ตามนี้ครับ…

ตามที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ตอบคำถามในการอภิปรายงบประมาณเมื่อวานนี้ (๕ ม.ค.) เกี่ยวกับประเด็น นายทักษิณ ชินวัตร ที่พักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลภายนอก และการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง นั้น

กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า ในประเด็นเรื่องการรักษาเกินกว่า ๑๒๐ วัน และยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ นั้น ในการนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ต้องปฏิบัติภายใต้กฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับในการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ ตลอดจนหลักสิทธิมนุษยชน จึงต้องใช้เวลาในการพิจารณาข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ควบคู่กับการคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

สำหรับกรณีการนำผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการ ตามที่กฎหมายกำหนด โดยแม้ว่าผู้ต้องขังจะรักษาตัวภายนอกเรือนจำ แต่ยังต้องปฏิบัติตัวตามกฎ และระเบียบของกรมราชทัณฑ์อย่างเคร่งครัด โดยปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ต้องขังในเรือนจำ หากจะกระทำการอะไรก็ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ไม่มีอภิสิทธิ์แต่อย่างใด ซึ่งการปฏิบัติตัวของผู้ต้องขังที่ออกมารักษาตัวที่โรงพยาบาลภายนอก จึงไม่แตกต่างจากการควบคุมอยู่ภายในเรือนจำ

ครับ….ขณะนี้ “นักโทษชายทักษิณ” ได้ประโยชน์จาก กฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. ๒๕๖๓ ที่ออกตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๖๐

ท้ายกฎกระทรวงฉบับนี้ระบุหมายเหตุว่า…

เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๕๕ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ บัญญัติให้ผู้ต้องขังซึ่งป่วย มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือเป็นโรคติดต่อต้องได้รับการบำบัดรักษาเฉพาะด้านหรือถ้าคงรักษาพยาบาลอยู่ในเรือนจำจะไม่ทุเลาดีขึ้น ให้ส่งตัวผู้ต้องขังดังกล่าวไปยังสถานบำบัดรักษาสำหรับโรคชนิดนั้นโดยเฉพาะ โรงพยาบาล หรือสถานบำบัดรักษาทางสุขภาพจิตนอกเรือนจำต่อไป

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ระยะเวลาการรักษาตัวรวมทั้งผู้มีอำนาจอนุญาต ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการราชทัณฑ์จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

นี่คือกฎหมายตามคำกล่าวอ้างของกรมราชทัณฑ์

กรณีรักษาตัวนอกเรือนจำเกิน ๑๒๐ วัน กฎกระทรวงระบุว่าให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้รัฐมนตรีทราบ

ระบุไว้แค่นั้นครับ

ไม่ได้บอกระยะเวลาว่า จะต้องส่งรายงานให้รัฐมนตรีทราบเมื่อไหร่ ในใบแถลงข่าวของกรมราชทัณฑ์ จึงไม่มีความชัดเจนเรื่องวันเวลา

แต่กลับอ้างด้วยถ้อยความที่ดูดีว่าต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ ตลอดจนหลักสิทธิมนุษยชน เหมือนเป็นการบอกใบ้ว่า จะต้องใช้เวลา

ยิ่งระบุว่าต้องพิจารณาข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ก็ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะเป็นกรอบเวลาที่กว้างมาก

อาจเป็น ๑ เดือน ๒ เดือน หรือไม่ “นักโทษชายทักษิณ” พ้นโทษไปแล้ว ถึงจะส่งรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

เพราะกฎกระทรวงมิได้กำหนดกรอบเวลาอย่างที่ระบุไว้ข้างต้น

ผู้ต้องขังป่วย ในนิยามของพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ คือ ผู้ต้องขังโดยทั่วไปที่มีอาการเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ ตลอดจนผู้ต้องขังที่ติดฝิ่น กัญชาสิ่งเสพติดอื่น ซึ่งมีอาการร้ายแรง หรือหญิงตั้งครรภ์หรือมีลูกอ่อน ซึ่งจัดเป็น ผู้เจ็บป่วยโดยอนุโลมตามกฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความในมาตรา ๕๘ แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ ข้อ ๗๕ ดังนั้น ผู้ต้องขังป่วยจึงประกอบไปด้วย

๑.ผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยทางร่างกาย

๒.ผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยทางจิตใจ

๓.ผู้ต้องขังหญิงมีครรภ์หรือมีลูกอ่อน

๔.ผู้ต้องขังติดยาเสพติดให้โทษ

เป็นที่สงสัยกันมาตลอดว่า “นักโทษชายทักษิณ” ป่วยเป็นโรคอะไร ทำไมต้องใช้เวลารักษาอย่างยาวนานเข้าเดือนที่ ๕ แล้ว

ข้อ ๓ และ ๔ คงไม่ใช่

เหลือ ๑ กับ ๒

ถ้าป่วยทางร่างกาย บรรดาผู้รู้วิเคราะห์กันมาเยอะพอควรแล้วว่า น่าจะป่วยหนัก

สาหัส ปางตาย!

หลังพ้นโทษแล้วก็ยังคงต้องนอนห้องวีไอพีชั้น ๑๔ โรงพยาบาลตำรวจไปอีกเป็นปี

หากทันทีที่พ้นโทษ “นักโทษชายทักษิณ” เดินปร๋อกลับบ้าน ระวังจะมีคนซวยยกเข่ง

ตั้งแต่หมอใหญ่โรงพยาบาลตำรวจยันอธิบดีกรมราชทัณฑ์

แต่ถ้าเจ็บป่วยทางจิตใจ โรคทางจิตเวช ก็ขอให้รับรู้โดยทั่วกันว่า ต้องนอนรักษาตัวในห้องสี่เหลี่ยมไปอีกนาน

ต่อให้นอนรักษาตัวห้องวีไอพีแอร์เย็นฉ่ำ ผู้ป่วยก็ไม่รับรู้ถึงความต่างกับการนอนเบียดเสียดกับนักโทษคนอื่นในคุก

ก็เอาใจช่วยครับ อย่าเจ็บป่วยเยอะ รีบๆ หาย พ้นโทษเมื่อไหร่จะได้กลับบ้านทันที

ส่วนใครที่ช่วยกันปั่น “ไข้ทิพย์” ก็เตรียมตัวเจอแน่ยิ่งกว่าไข้จับสั่น

ไข้สูง หนาวสั่น ขี้แตก ไตวาย อาจตายได้

อาจต้องนอนคุกแทน “นักโทษชายทักษิณ”

Written By
More from pp
พรรณิการ์ ขึ้นรถแห่ พังงา-สุราษฎร์ธานี ขอโอกาสให้หน้าใหม่เข้าไปพัฒนา สู้กันที่นโยบาย
เมื่อบ่ายวันที่ 17 ธันวาคม นางสาวพรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า เดินทางมายัง จ.พังงา เพื่อขึ้นรถแห่ปราศรัยร่วมกับ “นายสุทธิโชค ทองชุมนุม” ผู้สมัครนายก...
Read More
0 replies on “ป่วยกาย หรือ ป่วยจิต – ผักกาดหอม”