มนัญญา กำชับรักษาคุณภาพส่งออกทุเรียน ผลไม้ไทย-จีน พบสวมสิทธิ์แจ้งดำเนินคดีทันที

www.plewseengern.com

กรมวิชาการเกษตร ประชุมกระชับแนวปฏิบัติการส่งออกทุเรียนและผักผลไม้ของไทย เพื่อรักษาความเชื่อมั่นต่อประเทศคู่ค้า

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้รับรายงานจาก นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 65 ที่ผ่านมา ได้ประชุมผ่านระบบ Online กับ ผู้แทนผวจ.ชุมพร อัครราชทูต ฝ่ายการเกษตรประจำกรุงปักกิ่ง กงศุลเกษตร นครกวางโจว และนครเซี่ยงไฮ้

พร้อมด้วยนายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง นายสมบัติ ตงเต๊า รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นด่านนำเข้า-ส่งออกทางเรือ ทางบก ทางอากาศทั่วประเทศ ติดตามกระบวนการส่งออกทุเรียน และผลไม้ไทยสู่จีน เพื่อรักษาความเชื่อมั่น คุณภาพมาตรฐาน ตามพิธีสารไทย-จีน ว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ไทยผ่านประเทศที่สามเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน

ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามนโยบายที่ได้ไปว่า ให้ปฏิบัติตามข้อตกลงพิธีสาร และอย่าให้มีการสวมสิทธิ์ทุเรียนไทยส่งออกอย่างเด็ดขาด พบผิดให้ดำเนินคดีตามกฎหมายทันที

นายระพีภัทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีทุเรียนส่งออกไปจีน แล้วกว่า 7 แสนตัน มูลค่ามากกว่า 72,000 ล้านบาท (1 ม.ค.-1 ก.ย. 65) และเพื่อส่งเสริมและรักษาตลาดการส่งออกทุเรียนและผลไม้ไทยที่ดีมีคุณภาพ ไม่มีการปนเปื้อนของแมลงศัตรูพืชและไม่ให้มีผลไม้คุณภาพต่ำไม่ถึงเกณฑ์ตามข้อกำหนดหลุดออกไป

จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชทั้งหมดทุกช่องทาง เข้มงวดการตรวจสอบคุณภาพผลไม้ทั้งระบบ และให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1-8 ร่วมตรวจสอบย้อนกลับกระบวนงาน ตรวจคุณภาพ ถิ่นกำเนิด และการปนเปื้อนแมลงศัตรูพืช ตามพ.ร.บ.กักพืชฯ และพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับให้ผ่านระบบ e-Phyto (E-Phytosanitary Certificate

)รวมถึงให้ทวนสอบแปลงการผลิต GAP และ GMP ที่รับรองโรงคัดบรรจุ และผู้ส่งออก ทั้งนี้ไทยต้องเข้มงวดในทุกมาตรการ ซึ่งต้องอาศัยทุกภาคส่วนในการให้ความร่วมมือเพื่อให้ทุเรียนและผลไม้ไทยมีคุณภาพดีที่สุดของโลก

สำหรับแนวปฏิบัติกำหนดให้

1. สวนทุเรียนและหรือสวนผลไม้ส่งออกต้องได้รับการขึ้นทะเบียน (GAP) และโรงคัดบรรจุหรือล้ง (GMP) จากไทยและศุลกากรจีน และศุลกากรจีนได้ประกาศรับรองเลขทะเบียนพร้อมแล้ว

2. การตรวจสอบทุเรียนส่งออกในโรงคัดบรรจุ เพื่อรับรองสุขอนามัยพืช เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการตาม “คู่มือปฏิบัติการตรวจสอบศัตรูพืชในการส่งออกทุเรียนไปจีน” อย่างเคร่งครัด หากตรวจพบต้องสงสัยให้ตรวจสอบย้อนกลับ และปฏิเสธการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช

3. หากตรวจพบหรือต้องสงสัยว่า ผู้ประกอบการส่งเอกสารแนบหรือหลักฐานอันเป็นเท็จ ให้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อผู้ประกอบการที่แจ้งข้อความเท็จต่อทางราชการ ในการยื่นขอรับใบรับรองสุขอนามัยพืช (พก.๗) เพื่อส่งออกทุเรียนไปจีน เฉพาะรายที่สงสัยว่ากระทำผิดนั้นทันที

4. ชะลอการคัดบรรจุเพื่อส่งออกชั่วคราว ตามพิธีสารไทย-จีน ภายใต้ข้อตกลงการส่งออกผลไม้สด

5. ทุกล้งที่ส่งออกไปยังจีนต้องมีมาตรการ COVID PLUS ตามมาตรการ ZERO COVID ที่ประเทศจีนกำหนด

สำหรับด่านของกวก.มี 48 ด่าน ทางบก 29 ทางเรือ 12 ทางอากาศ 7 ด่าน มีหน้าที่ในการตรวจสินค้าเกษตรส่งออกไปยังประเทศปลายทาง โดยปฏิบัติตามกฎหมายของกวก. 4 ฉบับคือ พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ.2518 พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ. 2518 พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535

ปัจจุบันผลไม้สดที่อนุญาตให้นำเข้าและส่งออกเป็นผลไม้ไทย 22 ชนิด และผลไม้จีน จํานวน 23 ชนิด อาทิ ทุเรียน ลําไย ลิ้นจี่ มังคุด มะม่วง ชมพู่ กล้วย มะพร้าว เป็นต้น



Written By
More from pp
สธ.ลงนามสนับสนุนใช้ “หมอพร้อม” เป็น Digital Health Pass ขึ้นเครื่องบิน
กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานการบินพลเรือนฯ และสมาคมสายการบินประเทศไทย ลงนามความร่วมมือ ใช้แพลตฟอร์ม “หมอพร้อม” เป็น Digital Health Pass อำนวยความสะดวกตรวจสอบเอกสารฉีดวัคซีนก่อนขึ้นเครื่องบิน เป็นการคมนาคมวิถีใหม่...
Read More
0 replies on “มนัญญา กำชับรักษาคุณภาพส่งออกทุเรียน ผลไม้ไทย-จีน พบสวมสิทธิ์แจ้งดำเนินคดีทันที”