“มาฆบูชา” กับ “อโสโก ภิกขุ” – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

วันนี้…..
พุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ตรงกับวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕
เป็นวัน “มาฆบูชา”
เมื่อวาน หายไปวัน ไม่ได้ไปวาเลนไทน์กับใครที่ไหนบังเอิญเดทกับหมอแต่เช้า ค่ำโน่น ถึงได้กลับ
หมดแรง อาบน้ำ ปะแป้ง ไหว้พระเสร็จ “นอนดีกว่า”
ก่อนนอน ไถเฟซซะหน่อย ได้เห็นภาพที่เกิดปีติ-ศรัทธา จึงนำมาคุยกันในวันดีๆ อย่างนี้

เกี่ยวกับ “อโสโก ภิกขุ” หรือ “กากัน มาลิค” ก็คงรู้แล้วนะ
ท่านมาบวช ๑๕ วัน ระหว่าง ๑๐-๒๔ กุมภา. ที่วัดธาตุทอง และบวชไปเมื่อ ๑๐ กุมภา.

ปรากฏว่าท่านออกบิณฑบาต ฉันอาหารบิณฑบาต เสร็จแล้ว “ยะถา สัพพี” ให้พรด้วยภาษาบาลี แคล่วคล่อง ชัดเจน เหมือนบวชมาซัก ๑๐ พรรษา

ในฐานะผู้ติดตามข่าวสาร พบว่า ข่าว “บางด้าน” เกี่ยวกับตัวท่าน ค่อนข้างสับสน คือไม่ตรงกัน
มาเมื่อวาน ได้อ่านที่ “แพท อิงค์อริสสา” โพสต์ และพินิจตามภาพเปรียบเทียบ ก็น่าจะเป็นไปตามนั้น อ่านดูนะ

“แพท อิงค์อริสสา”
ขณะนี้ยังมีบางท่านและบางสื่อสับสนระหว่างคุณ #ฮิมานชุ #โซนิ กับคุณ #กากัน #มาลิก จึงขออนุญาตชี้แจงให้ทราบว่า
“คุณฮิมานชุ โซนิ” เป็นพระเอกในซีรี่ส์ “พระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลก” ที่เคยฉายทางทีวีในเมืองไทยหลายครั้ง
เขารับบทเป็น “เจ้าชายสิทธัตถะ” และ “พระพุทธเจ้า”

ส่วน “คุณกากัน มาลิก” คือ พระเอกหนังโรงของศรีลังกาเรื่อง “ศรีสิทธัตถะโคตมะ”
เขารับบทเป็น “เจ้าชายสิทธัตถะ”

ภาพยนตร์เรื่องนี้ ลงทุนสร้างโดยมูลนิธิ The Light Of Asia ออกฉายในศรีลังกาเมื่อปี 2013 มีหลายภาษา รวมทั้งภาษาไทยด้วย
แต่ยังไม่ได้มาฉายในประเทศไทย

และที่กำลังบวชอยู่ในเมืองไทยขณะนี้คือ “คุณกากัน มาลิก” ดารานำในบทเจ้าชายสิทธัตถะในหนังศรีลังกาเรื่องศรีสิทธัตถะ โคตมะ
ไม่ใช่ในบทพระพุทธเจ้า (เพราะภาพยนตร์จบลงก่อนที่จะเป็นพระพุทธเจ้า)

จึงขอชี้แจงให้ทราบมา ณ ที่นี้ ขอบพระคุณทุกท่าน
ขอบคุณข้อมูลเพจ “ฆราวาสชั้นเลิศ”
…………………….
อะไรเป็นเหตุให้เดินทางมาขอบวช? ตรงนี้ น่าสนใจ
“กากัน มาลิค” ให้สัมภาษณ์ผ่านเพจ “ชมรมไตรรัตนภูมิ” ถึงวัตถุประสงค์ของการบวช ว่า

เมื่อได้แสดงเป็น “เจ้าชายสิทธัตถะ” ในภาพยนต์เรื่อง “ศรีสิทธัตถะ โคตมะ” ทำให้เริ่มศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา
และฝึกฝนปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิภาวนา ตลอดจนเรียนรู้ข้อปฏิบัติของนักบวชในพระพุทธศาสนา

ที่สุด เกิดเลื่อมใสศรัทธาต่อพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงมีความคิดอยากบวช
เหตุผลมาบวชที่เมืองไทย คือ อินเดีย เป็นดินแดนต้นกำเนิดพระพุทธศาสนา หลายๆ คน มักเข้าใจว่า “ที่อินเดีย คนนับถือศาสนาพุทธเยอะ”

ความจริง”มีชาวพุทธในอินเดียแค่ ๑-๒% เท่านั้น จึงอยากมาบวช เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนอินเดียที่โน่นได้เห็น
และการมาบวชเป็นพระสงฆ์ ก็เพื่อที่จะเรียนรู้ในกฎข้อปฏิบัติพระสงฆ์ในไทยว่า “ปฏิบัติยังไง”

ต้องการที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง ด้วยความเป็นนักแสดง อาจจะสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้คนอินเดียมาทำตามได้

หลังจากนี้ “ผมอยากกลับไปสอนคนอินเดียได้ถูกว่า การเป็นชาวพุทธ ทำอย่างไร เรียนรู้อะไรกันบ้าง”

“แต่ทั้งนี้ ผมไม่ได้ต้องการเปลี่ยนคนอินเดียที่โน่นให้ทุกคนนับถือศาสนาพุทธ แค่อย่างน้อยได้กลับไปสอนธรรมะ นั่นคือสิ่งที่ผมต้องการ

ผมไม่ได้ต้องการคนอินเดียมาเป็นพุทธ
ต้องการสอนธรรมะ นำธรรมะกลับไปสู่ดินแดนที่พระพุทธเจ้าเคยประสูติ”

ส่วนสาเหตุที่เลือกบวชในเมืองไทย คือ….

“ผมเชื่อในเรื่องศาสนาพุทธ เรื่องเวียนว่ายตายเกิด เชื่อว่า ผมน่าจะทำกรรมดีไว้ในประเทศไทย รู้สึกผูกพัน เชื่อมโยง อาจจะเคยเกิดที่ประเทศไทย จึงเชื่อมโยงผมกลับมาที่นี่”

ทั้งนี้ สองสิ่งที่ผมเดินทางมาอุปสมบทในครั้งนี้

หนึ่ง ผมบวชเพื่อเรียนรู้ ศึกษาให้รู้จักตัวเองมากขึ้น
สอง อยากพลิกฟื้นศาสนาพุทธในอินเดีย

และได้เตรียมโครงการร่วมกับมิตรสหายเครือข่ายสหายธรรมในไทยก่อตั้ง “ชมรมไตรรัตนภูมิ” ร่วมกับเพื่อนคนไทย
จัดทำโครงการ “บริจาคพระพุทธรูป ๘๔,๐๐๐ องค์” ให้กับชาวพุทธในอินเดีย
ไม่ว่าจะสักการะตามบ้าน สำนักวิปัสสนา ตามวัด และอยากเชิญชวนทุกคนร่วมกันทำโครงการฯ นี้ให้สำเร็จ
………………………

สาธุ ประเสริฐแท้ ทั้งแนวคิดและการทำ
แล้วเรา “คนไทย” ล่ะ ในฐานะ “พุทธ…ศาสนาหลักของชาติ” ควรต้องรู้ “พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร?”

ฉะนั้น “วันมาฆบูชา” นี้ มาทบทวนกัน จาก “ธรรมสมโภช 80 ปี พุทธทาส ภิกขุ” ดังนี้

1. พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ?
“อริยสัจ 4” คือ
-ทุกข์ คือ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
-สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
-นิโรธ คือ ความดับทุกข์
-มรรค คือ ข้อปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์

2. พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องอะไร?
“ทุกข์กับการดับทุกข์”

3.ภาพรวมของพระพุทธศาสนา มีดังนี้

3.1 ให้มองโลกตามความเป็นจริง (จริงขั้นสมมติ = สมมติสัจจ์,จริงแท้=ปรมัตถสัจจ์) อาทิ ตัวเรามีอยู่ แต่หาใช่ตัวตนที่แท้จริงไม่

3.2 ให้ถือทางสายกลาง ทางตึง (ทรมานกายให้ลำบาก) ก็ดี, ทางหย่อน (ฟุ้งเฟ้อหลงใหล มัวเมา) ก็ดี, มิใช่แนวทางของพระพุทธศาสนา แนวทางพระพุทธศาสนา คือ มรรคมีองค์ 8 ทางสายกลางพอดีๆ

3.3 ให้พึ่งตนเอง มิใช่พึ่งเทวดา โชคชะตาราศี หรือ ดวงดาว ฤกษ์ยาม

3.4 ไสยศาสตร์ การบนบานศาลกล่าว อ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การดูฤกษ์ยาม การเจิม ฯลฯ มิใช่พุทธศาสนา

3.5 สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย (อิทัปปัจจยตา) มิใช่เกิดขึ้นเองลอยๆ หรือพรหมลิขิต “การจะดับทุกข์ได้ต้องดับที่เหตุ”

3.6 โอวาทที่เป็นหลัก (โอวาทปาฏิโมกข์) คือ ให้ละชั่ว ทำกุศลให้ถึงพร้อม และทำจิตให้บริสุทธิ์

3.7 สิ่งทั้งหลายอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง,ทุกขัง,อนัตตา แม้พระนิพพาน ก็เป็นอนัตตา หาใช่อัตตาตัวตนไม่

3.8 ให้เชื่อในหลักธรรม คือ ทำดี-ได้ดี, ทำชั่ว-ได้ชั่ว ให้ทำตนอยู่เหนือดี-เหนือชั่วนั่นแหละ จึงจะพบนิพพาน คือ(เหนือกรรม)

3.9 จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือนิพพาน (ได้แก่สภาวะจิตที่สงบเย็น ปราศจากทุกข์)

3.10 สรุปธรรมทั้งปวง รวมลงในเรื่องเดียว คือ“ความไม่ประมาท ”

4. การศึกษาธรรมะ 2 สมัย

4.1 สมัยปัจจุบัน คือ “รู้จัก” กับ “รู้จำ” อาศัยการฟัง อ่านค้นคว้า จึงมีความรู้อยู่ในสมองและในสมุด พูดธรรมะได้คล่องแต่ปฏิบัติไม่ค่อยได้ จึงได้ผลน้อย

4.2 สมัยพุทธกาล คือ “รู้แจ้ง” โดยเมื่อฟังและจำแล้ว ก็จะลงมือปฏิบัติ ทำจริงในขณะนั้นทันที ทำให้เกิดผลเป็นความรู้แจ้งเรื่องชีวิต ดับทุกข์ในขณะนั้นทันที

5. วิธีศึกษาพระพุทธศาสนา

เมื่อแรกพุทธปรินิพานนั้น สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสั่งให้ถือเอาเป็นศาสดาแทนพระองค์ มีเพียง 2 คือ ธรรมและวินัย
หลังจากนั้นมา 300 ปี จึงเกิดมีพระไตรปิฎกขึ้น (สุตตันตปิฎก วินัยปิฎก และอภิธรรมปิฎก ) บัดนี้ล่วงกาลมาถึง 2500 กว่าปี คำสอนเดิม “ขั้นปรมัตถ์” ค่อยๆ หายไป หมดไป

เกิดมีคำสอนใหม่ๆ เป็นพุทธศาสนา “เนื้องอก” จับใส่พระโอษฐ์ ว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอันมาก ดังนั้นในการศึกษาพระพุทธศาสนาพึงอาศัยหลักดังนี้

– ด้านปริยัติ (ความรู้เนื้อหา) ให้อ่าน ฟัง คิด วิจัย ให้เข้าใจ คือ ให้ปฏิบัติได้จริง หากสงสัย ให้อาศัยหลัก “กาลามสูตร” เข้าพิจารณาตัดสิน มิใช่เชื่อไปเสียหมด

– ด้านปฏิบัติ การปฏิบัติทุกอย่างของพระพุทธศาสนา ไม่ว่าการทำทาน รักษาศีล ภาวนา พระพุทธองค์ทรงสอนให้ ทำเพื่อ “ละกิเลส” มิใช่เพื่อเอา หวังได้นั่นได้นี่ อันทำให้ยิ่งเพิ่ม โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งหาใช่พุทธศาสนาไม่

ทุกวันนี้ ไหว้เพื่อเอา-เพื่อขอ ทำบุญเพื่อเอาสวรรค์ นิพพาน หวังผลทั้งชาตินี้-ชาติหน้า ซึ่งจะกลายเป็นพอกกิเลสยาวนาน

– ด้านปฏิเวธ (ผล) ทำเพื่อละ จะพบนิพพาน(จิตบริสุทธิ์ มีความสะอาด สว่าง สงบ)ถ้าทำเพื่อเอา จะพบกิเลสในตนพอกพูนยิ่งขึ้น ๆ ยาวนานและยิ่งมีทุกข์มาก ดังนั้น จงมุ่งปฏิบัติเพื่อห่างไกลทุกข์โดยส่วนเดียว ให้ได้เห็นผลด้วยตนเอง (สันทิฏฐิโก)

6. จะศึกษาพุทธศาสนาได้ที่ไหน?

ให้ศึกษาในร่างกายของเราเองนี้ ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มิใช่จะต้องศึกษากับพระ และในวัดวาอารามเท่านั้น
จึงควรศึกษาตนเอง อย่ามัวแต่ศึกษานอกตัว หรือมัวติดอยู่แค่พิธีกรรมหรือได้แต่ทำตามๆ เขาไป จะเสียทีที่ได้มีโอกาสเกิดมาพบพระพุทธศาสนา ได้ลิ้มรสแค่เปลือกกระพี้ มิได้ชิมรสอันเป็นเนื้อใน อันได้แก่ธรรมรสของความเย็นอกเย็นใจ (นิพพาน)

7. เหตุแห่งทุกข์ และ การดับทุกข์

เหตุเกิดจากอุปทาน คือ การเข้าไปยึดถือว่า นี่คือ ตัวตนของเรา นี่ของๆ เรา การดับ โดยละอุปทานเสีย (โดยพยายามปฏิบัติให้ “เห็นอนัตตา”) จะโดยบังคับจิตเป็นสมาธิ (เจโตวิมุตติ) หรือโดยพิจารณาธรรมด้วยปัญญา (ปัญญาวิมุตติ) ก็ได้

8. พุทธพจน์ “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา”

คำว่า “เห็นธรรม” คือ เห็นปฏิจจสมุปบาท คือ วงจรที่ทุกข์เกิด และทุกข์ดับ โดยเริ่มต้นจากอวิชชา จนเกิดทุกข์

9.จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือ นิพพาน (สภาวะจิตที่สงบเย็น) ปราศจากกิเลส เครื่องร้อยรัดทั้งปวง (ชาวบ้านพูดว่า เย็นอก เย็นใจ) หาพบได้ที่ใจตัวเอง

10. สรุป ทุกข์เกิดขึ้นที่จิต พึงรักษาจิตให้เป็นประภัสสรไว้เสมอ ระวังการกระทบ (ผัสสะ) ทางตา หู ฯลฯ ให้ดี มีสติรู้ทันว่า …

เห็นสักว่าเห็น, ได้ยินสักว่าได้ยิน, อย่าให้เวทนา ตัณหา เกิดได้ แล้วท่านจะพบความสงบเย็นตลอดเวลา
ความทุกข์เกิดขึ้นที่จิต เพราะเห็นผิดเมื่อจิตกระทบผัสสะ …
ความทุกข์จะไม่โผล่ ถ้าไม่โง่เมื่อจิตกระทบผัสสะ …
ความทุกข์เกิดไม่ได้ ถ้าเข้าใจเรื่องผัสสะ
……………………….

พูดถึง “นิพพาน” เข้าใจกันว่า ต้องหมดกิเลส เป็นพระอรหันต์เท่านั้น ถึงจะไปนิพพาน ฟังแล้วท้อ ยากแท้ไปถึง
ความจริงนิพพาน “มีหลายระดับ”

“พระอรหันต์” นั่นระดับโลกุตระ คือ “เหนือโลก” ก็ยกไว้

เราที่ยังเวียนว่ายตายเกิด ก็ไปถึงนิพพานได้ คือ ขณะไหน ที่เรามีสติ “ใจสงบ-เย็น”
ขณะนั้น เราเข้าสู่ภาวะนิพพาน “ชั่วขณะ” แล้ว!

ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Himanshu Soni Admirers



Written By
More from plew
ประชาธิปัตย์ “ก่อนศตวรรษ”?
อืมมม….. จะใช้คำว่า “ดิสรัปท์” หรือ “ก้าวใหม่” ก็น่าจะได้ ในหนทางแก้ปัญหา ๓ จังหวัดใต้ ผมคิดอย่างนั้น เมื่อเห็นภาพและข่าว ผบ.ทบ.อินโดนีเซีย...
Read More
0 replies on ““มาฆบูชา” กับ “อโสโก ภิกขุ” – เปลว สีเงิน”