ระเบิดเวลาลูกใหม่-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

วนมาตามฤดูกาล

คิวต่อไป…แก้ไขรัฐธรรมนูญ            

ครับ…ประเทศไทยไม่เคยขาดประเด็นที่จะนำไปสู่การชุมนุม

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือ ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังคงเป็นประเด็นที่สามารถหยิบยกขึ้นมาเพื่อสร้างเงื่อนไขการชุมนุมได้เสมอ

เราจะเห็นว่าหลายครั้งจุดประสงค์มิได้อยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่เป็นการเพิ่มดีกรีทางการเมือง ให้เข้มข้นขึ้น เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

และหากย้อนกลับไปดูสถิติ การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นแทบทุกรัฐบาล

ทั้งรัฐบาลขอแก้ไขเอง

และฝ่ายค้านขอแก้ไข

มีทั้งประสบความสำเร็จ และล้มเหลว

ตลอดระยะเวลา ๘๙ ปีที่ผ่านมา มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จไปทั้งสิ้น ๒๓ ครั้ง

ทุกครั้งมีการเปลี่ยนแปลงกติกาการเมือง เพื่อตอบสนองทางการเมือง ของพรรคการเมืองเป็นหลัก น้อยครั้งที่จะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยตรง

ฉะนั้นประเด็นที่ถูกแก้ไขลำดับต้นๆ คือ วิธีการเลือกตั้ง ส.ส. ที่มาของ ส.ว. สภาเดี่ยวสภาคู่ รวมไปถึงวิธีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ย้อนกลับไปที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรกปี ๒๔๗๕ แก้ไขรวมทั้งหมด ๓ ครั้ง

หนึ่งในนั้นคือวิธีการเลือกตั้ง ส.ส.

รัฐธรรมนูญปี ๒๔๙๐ แก้ไขทั้งหมด ๓ ครั้ง ประเด็นที่แก้ไขมี การเลือกตั้ง ส.ส วิธีร่างรัฐธรรมนูญ และสภาร่างรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญปี ๒๕๑๗ แก้ไขครั้งเดียว คือการรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา

รัฐธรรมนูญปี ๒๕๒๑ แก้ไข ๒ ครั้ง ได้แก่ การแก้ไขการเลือกตั้ง  ส.ส. และการประชุมรัฐสภา

รัฐธรรมนูญปี ๒๕๓๔ แก้ไข ๖ ครั้ง ได้แก่ การแก้ไขการประชุมรัฐสภากับคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ การประชุมรัฐสภา อำนาจวุฒิสภา คุณสมบัตินายกรัฐมนตรี การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เป็นต้น

รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ แก้ไข ๑ ครั้ง คือ การแก้ไขคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  (ป.ป.ช.)

รัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ แก้ไข ๒ ครั้ง เป็นการแก้ไขการเลือกตั้ง  ส.ส. และการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ตามลำดับ

รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ปี ๒๕๕๗ แก้ไข ๔ ครั้ง ได้แก่ การแก้ไขการทำประชามติ ๒ ครั้ง, จำนวนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นต้น

รัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ แก้ไข ๑ ครั้ง มาตรา ๘๓ และมาตรา ๙๑  การเลือกตั้ง ส.ส. กลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต  ๔๐๐ คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ๑๐๐ คน ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง ๒ ใบ และการคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค เหมือนรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐

ยังไม่นับรวมการเสนอขอแก้ไข แต่ไม่สำเร็จอีกนับไม่ถ้วน และแทบทุกครั้งล้วนเกิดความขัดแย้งทางการเมืองตามมา

วันนี้ (๑๖ พฤศจิกายน) มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา ๑ ฉบับ ผู้เสนอเรียกว่า “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

มาจากการเข้าชื่อของประชาชนจำนวน ๑๓๕,๒๔๗ รายชื่อ

สาระสำคัญตามหลักการและเหตุผลที่ภาคประชาชนขอแก้ไขคือ

๑.การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของรัฐสภา ในหมวดที่ ๗ ว่าด้วยเรื่องรัฐสภา

จากเดิมมีสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ให้เหลือเพียงสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว

ให้เหตุผลว่าวุฒิสภาเป็นกลไกสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเพิ่มบทบาทให้สภาผู้แทนราษฎรและ ส.ส.ฝ่ายค้านตรวจสอบควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี

๒.การปรับโครงสร้างของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการเป็นองค์กรที่คำวินิจฉัยมีผลผูกพันทุกองค์กร มีผลต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ เป็นผู้ชี้เป็นชี้ตายทางรัฐธรรมนูญทั้งหมด จนกลายสภาพเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ และมีการใช้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง โดยเสนอให้แก้ไขให้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ๙ คน มีที่มาจากการเสนอชื่อของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ๓ คน  ส.ส.ฝ่ายค้าน ๓ คน และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด  ๓ คน ให้สภาผู้แทนราษฎรเลือก และห้ามศาลรัฐธรรมนูญกระทำการอันมีผลขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

๓.การให้องค์กรอิสระต้องพ้นจากตำแหน่งทันที หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับใช้

๔.การยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๖ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  โดยแก้ไขให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรทั้ง ๓  วาระ ไม่มี ส.ว.เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยวาระ ๑ และ ๓ ใช้เสียงสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ ๒ ใน ๓ ส่วนการแก้ไขวาระ ๒ ใช้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

๕.การยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๕๗-๒๖๑ ที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ

๖.การเพิ่มหมวด เรื่องการลบล้างผลพวงการรัฐประหาร วันที่ ๒๒  พฤษภาคม ๒๕๕๗ โดยให้คำสั่ง คสช.และหัวหน้า คสช.มีผลเป็นโมฆะทั้งหมด รวมถึงการให้ปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ต่อต้านการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ

โดยให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐมีสิทธิ์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ก่อการรัฐประหาร และห้ามศาลรัฐธรรมนูญและศาลทั้งปวงรับรองความสมบูรณ์ของการรัฐประหารหรือความสมบูรณ์กฎหมายแก่ผู้ก่อการรัฐประหาร

ครับ…ในภาพรวม เจตนาเสนอเพื่อไม่ให้ผ่านสภา

ยิ่งไปโฆษณาว่าเป็นฉบับ “ล้ม ล้าง โละ เลิก” ก็ยิ่งสะท้อนเจตนาใช้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มความขัดแย้งทางการเมืองให้มากกว่าเดิม

เป็นการแสร้งเสนอเนื้อหาเชิงอุดมคติ แต่เบื้องหลังคือเจ้าเล่ห์

ความอัปยศของ ๖ ข้อนี้คือ ไม่มีข้อไหนพูดถึงเรื่องคอร์รัปชันเลย

หรือประชาชนที่ร่วมกันเข้าชื่อทั้ง ๑๓๕,๒๔๗ รายชื่อ เห็นการคอร์รัปชันโดยนักการเมืองเป็นเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่คือเรื่องไล่องค์กรอิสระ ไม่ให้มีที่ยืนในรัฐธรรมนูญ

แล้วยัดอำนาจใส่มือนักการเมือง ยัดไส้ ซ่อนเนื้อหาเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาทั้งฉบับ

“ตลกแดก” ครับ!

นี่คงจะเป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรม สานต่อคณะราษฎร

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามหลบเลี่ยงประเด็นเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ แต่เนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องคือประเด็นที่เคยนำไปผูกโยงว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเกี่ยวข้อง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.๒๔๗๕  โครงสร้างไม่ได้ต่างจากรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่มีมามากนัก

แบ่งออกเป็น ๗ หมวด ได้แก่หมวด ๑ พระมหากษัตริย์ หมวด ๒  สิทธิและหน้าที่ของชนชาวสยาม หมวด ๓ สภาผู้แทนราษฎร หมวด ๔  คณะรัฐมนตรี หมวด ๕ ศาล หมวด ๖ หมวดพิเศษเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และหมวด ๗ การใช้รัฐธรรมนูญและบทเฉพาะกาล

สาระสำคัญหลัก อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวสยาม มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ อำนาจอธิปไตยแบ่งเป็นสามส่วน

โดยมีสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ มีคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร และศาลเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ

ก็เหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ โดยคณะอนุกรรมการร่างธรรมนูญการปกครองที่ถูกแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น มีการประนีประนอมระหว่าง คณะราษฎร ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดเวลา ซึ่งรวมถึงการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในสภาผู้แทนราษฎรด้วย

ดังปรากฏในคำแถลงของประธานอนุกรรมการ ต่อสภา ว่า

“…ในการร่างพระธรรมนูญนี้ อนุกรรมการได้ทำการติดต่อกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดเวลา จนถึงอาจจะกล่าวได้ว่า ได้ร่วมมือกันทำ ข้อความตลอดในร่างที่เสนอมานี้ ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย และทรงเห็นชอบ ด้วยทุกประการแล้ว และที่กล่าวได้ว่าทรงเห็นชอบนั้น ไม่ใช่แต่เพียงทรง เห็นชอบด้วย อย่างข้อความที่กราบบังคมทูลขึ้นไป ยิ่งกว่านั้น เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก…”

ในอดีตมีความขัดแย้งสูงมาก แต่การประนีประนอม นำมาซึ่งประเทศเดินหน้าต่อไปได้ แม้จะมีความขัดแย้งกันเองในหมู่ชนชั้นนำคณะราษฎรในภายหลังก็ตาม

ปัจจุบันถ้าตั้งธงว่า “ล้ม ล้าง โละ เลิก” ด้วยทัศนคติแบบเด็กมีปมด้อย

ผลที่ตามมา ขัดแย้งไม่รู้จบ

Written By
More from pp
“เซ็นทรัลพัฒนา” กระตุ้นเศรษฐกิจเปิดเมืองจันท์ จัดโร้ดโชว์ “เทศกาลผลไม้เมืองจันท์สู่เมืองกรุง” ยกขบวนของดีผลไม้พรีเมียมจากจันทบุรีให้คนกรุงฯ ได้ลิ้มลอง ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล 5 สาขา เริ่ม 5 – 11 พ.ค. 65 นี้    
บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัล 35 สาขาทั่วประเทศ จัดงาน “เทศกาลผลไม้เมืองจันท์สู่เมืองกรุง” โร้ดโชว์โปรโมทของดีเมืองจันทบุรี  ยกขบวนผลไม้สดเกรดพรีเมียมส่งตรงจากสวน และสินค้าแปรรูปจากผู้ประกอบการท้องถิ่น  นำร่องโปรโมทจังหวัด ส่งเสริมของดีท้องถิ่น กระจายรายได้สู่เกษตรกรและ SMEs เมืองจันท์ก่อนเปิดศูนย์การค้าเซ็นทรัล จันทบุรี...
Read More
0 replies on “ระเบิดเวลาลูกใหม่-ผักกาดหอม”