อภัยภูเบศร-เภสัชฯ มหิดล พัฒนาบัวบกสายพันธุ์ศาลายา 1 พบสารสำคัญสูงกว่าพันธุ์ทั่วไปถึง 5 เท่า ดีต่อความจำ พาร์กินสัน ฟื้นฟูปอดหลังป่วยโควิด

16 ธันวาคม 2564- มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ร่วมกับ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ “บัวบกพันธุ์ศาลายา 1 โอกาสสู่พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมการเสวนา และมีผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป ร่วมรับฟังผ่านระบบออนไลน์

รศ.ดร.พิสิฐ เขมาวุฒิ จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ กล่าวว่า บัวบกเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพ ที่ผ่านมามีงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการสมานแผล และเสริมสร้างความจำ แต่เมื่อลองไปทบทวนงานวิจัยในช่วงนี้ก็เห็นศักยภาพของบัวบกที่น่าจะนำมาใช้ในผู้ป่วยหลังเป็นโควิด เพราะจากงานวิจัยในตอนนี้ พบว่า บัวบกมีฤทธิ์ลดการอักเสบ เพิ่มการสร้างหลอดเลือด เสริมภูมิคุ้มกัน ที่น่าจะวิจัยเพื่อช่วยเสริมสมรรถภาพปอดในผู้ป่วยหลังโควิด

ดร.ภก.สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดี และอาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวถึง การทดสอบบัวบกพันธุ์ศาลายา 1 เบื้องต้น พบว่ามีจุดเด่นเหนือกว่าบัวบกทั่วไป และบัวบกแม่พันธุ์นนทบุรี ในหลาย ๆ ด้าน เช่น ปริมาณสารสำคัญสูงกว่าต้นแม่พันธุ์ 1.5-2.5 เท่า ผลผลิตน้ำหนักแห้งต่อพื้นที่เพาะปลูกสูงกว่าต้นแม่พันธุ์ 3 เท่า สารสำคัญกลุ่ม triterpenoids รวมสูงกว่าต้นแม่พันธุ์ 5 เท่า ขนาดใบมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 11 เซนติเมตร และที่ใหญ่สุดมีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 15 เซนติเมตร จะเห็นว่ามีศักยภาพมากในการนำมาพัฒนาต่อในเชิงพาณิชย์

ดร.ภญ. ผกากรอง ขวัญข้าว ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ มีเป้าหมายที่สำคัญคือ การยกระดับสมุนไพรของประเทศไทยให้ใช้ประโยชน์ได้ใน 3 ทาง คือ ใช้เพื่อดูแลสุขภาพโดยประชาชนเอง ใช้เพื่อการให้บริการในระบบสุขภาพ และใช้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางพานิชย์ โดยเบื้องต้นเรามองถึงการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ในตลาดผู้สูงอายุ และจำหน่ายสารสกัดให้ผู้ประกอบการที่สนใจได้ ภายใน 1 ปี ในขณะเดียวกันก็เร่งวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อผู้ป่วยหลังโควิด การมียาที่มีประสิทธิผล สามารถผลิตได้เองในประเทศ

ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า จากการคลุกคลีกับชาวบ้าน และการวิจัยในระบบ พบว่า บัวบกมีผลต่อระบบประสาท เช่น ช่วยเรื่องฟื้นฟูความจำ ช่วยเพิ่มกลไกการทำงานของระบบต่อต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งดีต่อโรคอัลไซเมอร์ รวมถึงมีฤทธิ์ที่ดีต่อโรคพาร์กินสัน ที่พบในผู้สูงอายุ ผิวหนังเหี่ยวย่นมีริ้วรอย บัวบกมีฤทธิ์สมานผิว ลดรอยแผลเป็น เพิ่มระดับสารต้านออกซิเดชั่น ลดกระบวนการอักเสบ กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ล่าสุดมีงานวิจัยในการนำบัวบกมาใช้ในผู้ป่วยหลังโควิด ซึ่งดูมีแนวโน้มที่ดีในการลดผังผืดที่ปอด ซึ่งในขณะนี้มีผู้ป่วยในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมาก และยังไม่มียารักษา

“บัวบก มีประโยชน์มากมาย ครอบคลุมหลายมิติ การศึกษาวิจัยคุณประโยชน์ของบัวบกครั้งนี้ ถือว่ามาถูกทาง เพราะจะเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อเกษตรกร ที่จะช่วยให้ชาวบ้านพึ่งตัวเองได้อย่างยั่งยืน ดีต่ออุตสาหกรรมที่สามารถพัฒนาเป็นสารสกัดที่มีสารสำคัญสูงส่งออกได้ รวมถึงในด้านการปศุสัตว์ ที่จะพัฒนาสู่อาหารสัตว์ต่อไปในอนาคต” ดร.สุภาภรณ์ กล่าว

ดร.ผลบุญ นันทมานพ กรรมการผู้จัดการ บริษัทคริมสัน คอนซัลติ้ง จำกัด เผยว่า ในทางการตลาดมองว่า พืชในบัวบกมีโอกาสทางการตลาด เนื่องจากเป็นพืชที่มีคุณค่าสูง มีประโยชน์ในหลายด้าน และมีมูลค่าสูง จากการวิจัยที่พบว่ามีสารสำคัญสูงกว่าบัวบกพันธุ์ทั่วไปถึง 5 เท่า เป็นพืชที่ปลูกง่ายให้ผลผลิตคุ้มค่าเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่น สามารถสร้างงาน สร้างคุณค่าให้ประชาชน ให้เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน ไม่สร้างผลข้างเคียงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม มีแนวโน้มที่จะสามารถส่งออกได้ เนื่องจากรัฐบาลออก พรบ.สมุนไพร และในอนาคตหากได้รับการคุ้มครองพันธุ์พืช ก็จะสามารถต่อยอดไปสู่ตลาดยาสมุนไพร เครื่องสำอาง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่รัฐบาลได้กำหนดไว้



Written By
More from pp
“ศุภชัย” เรียกร้อง กกต. ดำเนินการกับบุคคลที่กล่าวหาพรรคภูมิใจไทย ทำให้พรรคฯ เสื่อมเสีย
“ศุภชัย” เรียกร้อง กกต. ดำเนินการกับบุคคลที่กล่าวหาพรรคภูมิใจไทย ทำให้พรรคฯ เสื่อมเสีย เพื่อให้การเลือกตั้งสุจริต เที่ยงธรรม ยัน การรับเงินบริจาคของพรรค ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ
Read More
0 replies on “อภัยภูเบศร-เภสัชฯ มหิดล พัฒนาบัวบกสายพันธุ์ศาลายา 1 พบสารสำคัญสูงกว่าพันธุ์ทั่วไปถึง 5 เท่า ดีต่อความจำ พาร์กินสัน ฟื้นฟูปอดหลังป่วยโควิด”