“อิสราเอล-ปาเลสไตน์” ๒ – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

เข้าเรื่อง ความขัดแย้ง “อิสราเอล-ปาเลสไตน์” ฉบับรวบรัด ภาค ๒-๓ ต่อจากภาค ๑ เมื่อวานได้เลยครับ
……………………………..

HistofunDeluxe

ภาค II กำเนิดรัฐอิสราเอล
• 1897
“ชาวออสเตรีย” เชื้อสายยิวนามว่า “ธีโอดอร์ เฮิร์ตเซิล” (Theodor Herzl) ได้ก่อตั้งขบวนการ “ไซออนิสต์” (Zionist) องค์กรที่มีเป้าหมายสำคัญในการก่อตั้ง “รัฐของชาวยิว” ในดินแดนปาเลสไตน์
—–

• 1917
“ปฏิญญาบัลฟอร์” (Balfour Declaration) อังกฤษ สนับสนุน “ขบวนการไซออนิสต์” ในการก่อตั้ง “รัฐชาวยิว” ในปาเลสไตน์
—–

• 1918
ดินแดนของ “จักรวรรดิออตโตมัน” ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของ “อังกฤษ” และ “ฝรั่งเศส”
โดยดินแดน “ปาเลสไตน์” อยู่ภายใต้ “การปกครองอังกฤษ” ในสถานะ “รัฐอารักขา”
—–

• ทศวรรษที่ 1920
ชาวยิวเริ่มอพยพเข้าไปในดินแดนปาเลสไตน์ ก่อให้เกิดปัญหากระทบกระทั่งกับชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ก่อนหน้านั้น
—–

• ทศวรรษที่ 1930
ปัญหาระหว่างชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์เริ่มลุกลามบานปลายมากยิ่งขึ้น ทางการอังกฤษพยายามเข้ามาไกล่เกลี่ย
และออกนโยบาย “จำกัดจำนวนของชาวยิว” ที่จะอพยพเข้ามาในปาเลสไตน์
—–

• ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (1939-1945)
ชาวยิวที่อาศัยอยู่ในทวีปยุโรปถูก “นาซีเยอรมัน” จับเข้าค่ายกักกันและถูกสังหาร เกิดเหตุการณ์ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว” (Holocaust) ที่ทำให้มีชาวยิวล้มตายมากกว่า 6 ล้านคน
—–

• 1945
หลัง “สงครามโลกครั้งที่ 2” สิ้นสุด ชาวยิวนับล้านคนที่รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ได้เดินทางเข้าไปในปาเลสไตน์ ปัญหาระหว่างชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์เกิดขึ้นอีกครั้ง
—–

• 1947
ทางการอังกฤษไม่สามารถยุติความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายได้ อังกฤษจึงถอนตัวออกจากปาเลสไตน์ และนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อทาง “สหประชาชาติ” เพื่อให้เป็นผู้แก้ไขปัญหา

สุดท้ายสหประชาชาติก็มีมติให้ “แบ่งดินแดน” ของปาเลสไตน์ ออกเป็น 2 ส่วน คือ “ดินแดนของชาวยิว” กับ “ดินแดนของชาวปาเลสไตน์” โดย “กรุงเยรูซาเล็ม” อยู่ภายใต้การดูแลของ “สหประชาชาติ”
—–

• 1948
วันที่ 14 พฤษภาคม ดินแดนของ “ชาวยิว” ในปาเลสไตน์ประกาศ “ก่อตั้งรัฐอิสราเอล” (State of Israel) โดยมี “เดวิด เบนกูเรียน” (David Ben Gurian) เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของอิสราเอล

การก่อตั้ง “ประเทศอิสราเอล”….. ได้สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมากให้กับกลุ่มประเทศอาหรับ ดังนั้น “กลุ่มประเทศอาหรับ” ซึ่งประกอบไปด้วย อียิปต์, ซีเรีย, จอร์แดน, เลบานอน และอิรัก จึงได้ก่อตั้ง “สันนิบาตอาหรับ” (League of Arab) เพื่อต่อต้านอิสราเอล
—–

• 1948-1949
“สันนิบาตอาหรับ” ส่งกองทัพบุกโจมตีอิสราเอล เกิดเป็นสงคราม “อาหรับ-อิสราเอล” ครั้งที่ 1 ปรากฏว่าอิสราเอล (ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ) สามารถ “เอาชนะ” กองทัพของสันนิบาตอาหรับได้

แม้ว่าสันนิบาตอาหรับจะเป็นฝ่ายแพ้สงคราม แต่สันนิบาตอาหรับก็สามารถยึดครองดินแดนบางส่วนของอิสราเอลได้
โดย “อียิปต์” เข้ายึดครองดินแดนที่เรียก ‘ฉนวนกาซ่า’ (Gaza Strip)

“จอร์แดน” เข้ายึดครองดินแดน ‘เวสต์แบงก์’ (West Bank)

นอกจากนี้ “กรุงเยรูซาเล็ม” ยังถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ “เยรูซาเล็มตะวันตก” เป็นของ “อิสราเอล” “เยรูซาเล็มตะวันออก” เป็นของจอร์แดน

ผลของสงครามในครั้งนี้ ทำให้ชาวปาเลสไตน์นับแสนคนต้องอพยพออกจากดินแดนปาเลสไตน์ ที่บัดนี้กลายเป็นของอิสราเอล ไปยังดินแดนประเทศอาหรับรอบๆ ข้างแทน
—–

• 1956
เกิดวิกฤตการณ์คลองสุเอซ (Suez Crisis) หรือสงคราม “อาหรับ-อิสราเอล” ครั้งที่ 2 “อังกฤษ” และ “ฝรั่งเศสส” สนับสนุนอิสราเอลทำสงครามกับ “อียิปต์” แต่ชัยชนะในสงครามตกเป็นของอียิปต์
—–

• 1964
“ยัสเซอร์ อัล-อาราฟัต” (Yasser al-Arafat) ผู้นำของชาวปาเลสไตน์ก่อตั้ง “องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์” หรือขบวนการ PLO เพื่อต่อสู้กับอิสราเอล และทวงคืนดินแดนปาเลสไตน์จากชาวยิว
—–

ภาค III ความขัดแย้งจนถึงปัจจุบัน
• ทศวรรษที่ 1960 ถึง 1980
PLO ก่อเหตุวินาศกรรมและก่อการร้ายภายในอิสราเอล
—–

• 1967
สงครามหกวัน (Six Day War) หรือ “สงครามอาหรับ-อิสราเอล” ครั้งที่ 3 อิสราเอลเป็นฝ่ายชนะสงคราม และยึดครองฉนวนกาซ่าและเวสต์แบงก์จากฝ่ายอาหรับได้

นอกจากนี้ อิสราเอลยังยึดครองแหลมไซนาย (Sinai) ซึ่งเป็นดินแดนของอียิปต์ได้อีกด้วย ที่สำคัญ อิสราเอลยังยึดครอง “เยรูซาเล็มตะวันออก” ที่เป็นของจอร์แดนได้ “เยรูซาเล็มทั้งหมด” จึงตกเป็นของอิสราเอล

ก่อนที่ในปี 1980 อิสราเอลจะประกาศให้ “เยรูซาเล็ม” เป็นเมืองหลวงของประเทศ
—–

• 1973
“สงครามยมคิปปูร์” (Yom Kippur War) หรือสงคราม “อาหรับ-อิสราเอล” ครั้งที่ 4 อิสราเอลเป็นฝ่ายชนะสงครามและยึดครองดินแดนบางส่วนของซีเรียและอียิปต์
—–

• 1978
อิสราเอลและอียิปต์ทำข้อตกลงสันติภาพ “แคมป์เดวิด” (Camp David Accord) โดยมีสหรัฐฯ เป็นตัวกลาง
—–

• 1982
อิสราเอลส่งกองทัพเข้าไปในเลบานอน เพื่อกวาดล้างกลุ่ม PLO ที่ซ่อนตัวอยู่ในเลบานอน
ชาวเลบานอนบางส่วนจัดตั้งกลุ่มติดอาวุ ธ”ฮิซบอลเลาะห์” (Hezbollah) เพื่อต่อสู้กับอิสราเอล
—–

• 1985
กลุ่ม “ฮิซบอลเลาะห์” ขับไล่กองทัพอิสราเอลให้ออกไปจากเลบานอนได้สำเร็จ นับแต่นั้น “ฮิซบอลเลาะห์” จะกลายเป็นกลุ่มการเมืองที่มีอำนาจมากที่สุดในเลบานอน
—–

• 1988
วันที่ 15 พฤศจิกายน “ยัสเซอร์ อัล-อาราฟัต” ประกาศก่อตั้ง “รัฐปาเลสไตน์” (State of Palestine) อาราฟัตประกาศยุติการก่อร้ายของ PLO และจะใช้สันติวิธีเพื่อเจรจากับอิสราเอล

PLO ยังก่อตั้งกลุ่มการเมืองที่เรียกว่า “กลุ่มฟะตะห์” (Fatah) ที่เน้นการต่อสู้แบบสันติวิธี ทำให้มีชาวปาเลสไตน์บางส่วนไม่พอใจและก่อตั้งกลุ่ม “ฮามาส” (Hamas) ที่เน้นใช้ความรุนแรงในการต่อสู้
—–

• 1993
อิสราเอลและปาเลสไตน์ทำ “สนธิสัญญาสันติภาพออสโล” (Oslo Accord) โดยมีสหรัฐฯ เป็นตัวกลาง นอกจากนี้ ยังมีการกำหนด “เส้นเขตแดน” ใหม่

โดย “ฉนวนกาซ่า” และ “เวสต์แบงก์” จะตกเป็นดินแดนของปาเลสไตน์ โดยมีเมือง “รามัลเลาะห์” (Ramallah) ในเวสต์แบงก์เป็น “เมืองหลวงของปาเลสไตน์”
—–

• สถานการณ์ในปัจจุบัน
แม้ว่าอิสราเอลกับปาเลสไตน์จะลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพมาแล้วหลายรอบด้วยกัน แต่ความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายก็ยังคงเกิดขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ใช่เฉพาะความขัดแย้งระหว่างชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์เท่านั้น

เพราะภายในปาเลสไตน์เองก็ได้เกิดความแตกแยกกันเองเช่นกัน

โดยภายในปาเลสไตน์ถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ โดยบริเวณ “ฉนวนกาซ่า” อยู่ภายใต้อำนาจของ “กลุ่มฮามาส”
ส่วนบริเวณ “เวสต์แบงก์” อยู่ภายใต้อำนาจของ “กลุ่มฟะตะห์” ซึ่งเป็นรัฐบาลของปาเลสไตน์

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่กินเวลายาวนานกว่า 70 ปี (จริงๆ อาจเรียกว่าพันปีก็ได้) ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้

สงคราม ความสูญเสีย และความเกลียดชัง ก็ยังคงมีอยู่ในดินแดนแห่งนี้

ณ สถานการณ์ปัจจุบัน….
ความขัดแย้งก็ได้อุบัติขึ้นอีกครั้ง เมื่อ “กลุ่มฮามาส” ในฉนวนกาซา โจมตีอิสราเอล
เช่นเดียวกับทางการอิสราเอลที่ทำการตอบโต้กลุ่มฮามาสเช่นกัน

นับเป็นเหตุความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 50 ปี
หวังเพียงว่า สันติภาพจะนำพาความสงบสุขกลับคืนสู่ดินแดนแห่งนี้ในสักวันหนึ่ง.
………………………………..

ขอบคุณเพจ “Histofun Deluxe” นะครับ

ผมและท่านผู้อ่าน ต่อจากนี้….
น่าจะติดตามเหตุการณ์ในดินแดนปาเลสไตน์แบบ “รู้เรื่อง” มากขึ้น

เปลว สีเงิน
๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๖

Written By
More from plew
บันทึกช่วย “อัยการ-ตำรวจ” จำ
ลองถึงขั้น “นายกฯ” ลงมาสั่งเอง ให้ตำรวจอายัดศพ “นายจารุชาติ มาดทอง” ที่เชียงใหม่ ไปชันสูตรให้ละเอียดอีกครั้ง ว่า “การตายปุบปับ” นั้น……. ตายด้วยมอไซค์ชนกัน...
Read More
0 replies on ““อิสราเอล-ปาเลสไตน์” ๒ – เปลว สีเงิน”