“เกษตรพอเพียง” กับปตท. -เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

พรุ่งนี้ “๕ ธันวาคม”
วันคล้าย “วันพระบรมราชสมภพ” พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “รัชกาลที่ ๙
เป็น “วันชาติ” และ “วันพ่อแห่งชาติ”
เมื่อวาน “วันอาทิตย์” เจ้าหน้าที่สำนักงานแจ้งว่า มีคนจากเชียงราย นั่งรถทัวร์มารอพบผมที่สำนักตั้งแต่เช้า
ได้แต่ เฮ้อ…ในใจ

เพราะผม “นอนดึก-ตื่นสาย” แต่มาคิดอีกที คนมาหา แสดงว่าเขาตั้งใจ ความตั้งใจ เป็นคลื่น”ประจุพลังบวก” ฉะนั้น ใครมาหา อย่าปฎิเสธ

บ่ายแก่นิดๆ ก็ย้อนกลับมา แนะนำตัวว่า ท่านซาบซึ้งใน “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวงรัชกาลที่ ๙
เกิดจิตอาสา ได้ตั้ง “สถาบันเสาเข็มสังคม” รณรงค์ให้คนไทยที่ “ล้มลุก-คลุกคลาน” ได้ตั้งฐานชีวิตใหม่ ตาม “ศาสตร์พระราชา”
“ยืนบนลำแข้งตัวเอง-พึ่งพาตัวเอง” ในวิถี “เกษตรกรรม”

ท่านเล่าการเดินสายรณรงค์ “เหนือจรดใต้” ตามปณิธานศรัทธา จับความได้ว่า โครงการณ์นั้น..ดี

แต่คนส่วนมาก อยากได้อะไรที่มันเหนื่อยน้อย สบายมาก แต่ได้ผลเร็ว-รวยเร็ว

ไม่ชอบอะไรที่ เหนื่อย อดทน รอคอย มีระเบียบ-วินัย อย่างทำเกษตรพอเพียง ซึ่งได้ผลช้า-รวยช้า แม้จะสุขถาวรก็ตาม
ฟังท่านเล่า รู้สึกได้ว่า….

ท่านผู้นี้ เข้าใจ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของพ่อหลวงค่อนข้าง “ครบวงจร”
“ศรัทธา-ปณิธาน” แรงกล้า ที่จะชักชวนให้คนรวมกลุ่ม แม้ศรัทธา-ปณิธาน ยังเป็นนามธรรมทางจินตนาการก็ตาม

ท่านขอคำแนะนำจากผม ทำเอาผมกระดากตัวเอง เคยใช้ความอยากไปทำไร่แถวแก่งคอย ๗ ไร่ หมดไปเป็นแสนๆ
ผลที่ได้ มีแต่หญ้ากับกระถินป่าโตท่วม ที่ลงทุนประคบ-ประหงม ตายคาผ้าอ้อมเรียบ!

ในเมื่อท่านอุตส่าห์มาปรึกษา ผมก็เลยใช้ประสบการณ์หลายแสนนั้น แนะนำไปตามประสาว่า
ที่สังเกต แต่ละโครงการตามแนวพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ นั้น

พระองค์ทรงศึกษา ทรงค้นคว้า ทฤษฎี-ตำราก่อน นำไปสู่การทดลองสร้างประสบการณ์
“สวนจิตรลดา” นั้น อย่าเข้าใจว่าเป็น “พระราชวัง” นะ

ที่แท้ เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งทดลอง แหล่งเพาะปลูก ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงงานอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป แหล่งวิจัย-ทดลอง

และพระองค์ยังได้เสด็จฯ ไปสำรวจ “ดิน-น้ำ-ภูมิประเทศ-ภูมิอากาศ” เรียกว่า บุกป่า-ฝ่าดง ทรงลุย ห้วย หนอง คลอง เหว ตลอดยอดขุนเขา

เมื่อทรงได้ข้อมูล นำดินตรวจหาแร่ธาตุแล้วว่า เหมาะสมกับพืชชนิดไหน มีหรือขาดแร่ธาตุอะไร

เมื่อปรับสภาพดิน-สภาพน้ำแล้ว พระองค์จะทรงแนะนำให้ชาวบ้านในพื้นที่นั้นๆปลูกพืช
หรือทรงตั้งเป็นนิคมขึ้น วางรูปแบบทั้งงานทั้งสังคมชุมชน ทรงแนะควรปลูกพืชชนิดใด ควรเลี้ยงสัตว์ชนิดใด
กระทั่งทรงกำหนดแนวทางตลาด

บางแห่งถึงขั้นทรงตั้งโรงงานอุตสาหกรรม “เกษตรแปรรูป” ผลิตสินค้าสู่ตลาด

อย่างที่ฝาง ผมเคยไปราวๆปี ๒๕๑๐-๑๑ ผลิตผลชาวดอย-ชาวเขา ก็มีโรงงาน “เกษตรแปรรูป” บรรจุกระป๋องออกตลาดแล้ว

ดังนั้น “ศาสตร์พระราชา” นั้น ไม่ใช่ตรัสเป็นทฤษฎี-เป็นปรัชญา หากแต่ทรง “ค้นคว้า-ทดลอง-วิจัย-พัฒนา”
ว่า “ทำได้จริง-เห็นผลจริง” จากโครงการทดลองเป็น “ต้นแบบ” นั้นก่อนแล้ว จากนั้น พระองค์จึงทรงแนะนำพสกนิกร
อย่างเช่น “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”………

กระทั่ง UN นำไปเผยแพร่-แนะนำต่อสังคมโลก ให้นำไปใช้ ว่าเป็น “ทางรอดของสังคมโลก” ในอนาคต!

แล้วผมก็ให้ความเห็นไปว่า เจตนาตั้ง “สถาบันเสาเข็มสังคม” นั้นดี แต่ทำให้เห็น ๑ ตัวอย่าง ศักดิ์สิทธิ์กว่าเดินสายชักชวนไปทั่วสารทิศ

เมื่อมีที่ดินอยู่แล้ว ๒๐๐ กว่าไร่ ก็ใช้หน่วยงานทางราชการให้เป็นประโยชน์
นำดินไปให้ “เกษตรจังหวัด” เขาช่วยตรวจว่าขาดแร่ธาตุอะไร ควรปลูกอะไร

บอกเขา เราต้องการนำศาสตร์พระราชา มาทำเกษตรตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ชักชวนชาวบ้านเข้าร่วม ให้เป็นโมเดล ขอให้ “เกษตรจังหวัด” เป็นพี่เลี้ยง

เมื่อเกิดเป็น “เศรษฐกิจพอเพียง” ต้นแบบที่เห็นผลแล้ว คนทั่วไปก็จะมาดู เมื่อขจร-ขจายออกไป แต่ละชุมชนก็จะนำไปเป็นแบบอย่างเอง

“พอกิน-พอใช้” กันแล้ว…
“พอกิน” นั้น ก็จะต่อยอดเป็น “พอรวย” อย่างมีเหตุผลด้วยเศรษฐกิจพอเพียงไปตามลำดับเอง
ทุกอย่างต้องมีการ “เริ่มต้น” แม้กระทั่งจะกินข้าว ถ้าไม่เริ่มต้น “อ้าปาก” ก็อย่าหวังท้องจะอิ่ม!

แรกๆ อย่าเน้นปริมาณ มุ่งคุณภาพ แล้วสร้างแบรนด์ ให้ผู้บริโภคเรียกหาด้วยเชื่อถือ
คนมีเงิน “กลัวตาย” ทั้งนั้น พร้อมจ่ายแพงแลกความปลอดภัย ฉะนั้น เรื่องตลาดไม่ยาก

ยิ่งยุค “ออนไลน์” ด้วยแล้ว ใช้คุณภาพที่เชื่อถือ “กำหนดลูกค้า” เป็นตลาดชั้นดีให้เอง

พูดถึงตลาดสินค้าเกษตรพอเพียง ผมแนะให้ ปั๊มน้ำมัน OR ของปตท. “ดีที่สุด”
ผมจับพฤติกรรมสังคมได้ชัดอย่างหนึ่ง โดยวัดจากแต่ละกลุ่มเพื่อนที่เดินทางออกต่างจังหวัด

ขึ้นรถปุ๊บ ไม่คนใด-คนหนึ่ง จะตะโกนบอกคนขับ
“เจอปั๊ม ปตท.แวะด้วยนะ”!

แล้วก็หลับครอกๆ ถึงปั๊มตื่นทั้งรถ สองกิจกรรมที่ร้อยละ ๙๙ ปฎิบัติ ๑.เข้าห้องน้ำ ๒.แวะคาเฟ่ อเมซอน

ปั๊มปตท.ทุกวันนี้ ถนนถึงไหน ปั๊ม OR ถึงนั่น พูดได้เต็มปากว่า ปั๊มปตท.เป็นหน้า-เป็นตา บ่งบอกพัฒนาการที่เข้าถึงในแต่ละถิ่น

ปั้มปตท.ยังแฝง “พลังแฝง” ที่สามารถแปลงและพัฒนาไปสู่ “จุดแข็ง” ทางสังคมและทางการค้าได้อีกหลายขั้น

เท่าที่ผมมองเห็น คือ ปั้ม OR ของปตท นั้น…..
ในความที่สว่างไสวไปทุกชมุชน-ทุกพื้นที่ประเทศที่ถนนเข้าถึง นั่นคือ “ศูนย์กลางประชาคม” ในทางบริการจากภาครัฐถึงประชาชนที่ง่าย-สดวก-รวดเร็ว เกือบตลอด ๒๔ ชั่วโมง

และในความกว้างขวาง สะอาด ทันสมัย มีคลาส นั้น ยังสามารถแบ่งพื้นที่เป็นโซนการค้า “สินค้าชุมชน” เกรด A-B สนองตอบลูกค้าที่แวะเวียนไม่ขาดสายได้ด้วย

7-ELEVEN ใหญ่ขนาดไหน ยังต้องพึ่งปั๊ม OR ปตท.
แต่ ปั๊ม OR ปตท.ไม่ต้องพึ่ง 7-ELEVEN

นั่นก็ตรงตัวว่า ปั้ม OR ปตท.เป็นเพชรที่ยังเจียระไน “ตัดเหลี่ยมในเหลี่ยม” ให้วูบวาบ-แวววาว สร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกมหาศาล ทางการตลาด

วันก่อน ปตท.แสดงผลงาน “ขับเคลื่อนชุมชนสู่ความยั่งยืน” ด้วยนวัตกรรม ๓ ด้าน คือด้าน
smart Farming, Smart Marketing และ Community-Based Tourism

ผมเลยแนะท่านที่มาจากเชียงรายว่า เกษตรพอเพียงแปลงโมเดลนี้ ไปขอเข้าโครงการกับปตท.ให้เขาเป็นพี่เลี้ยงด้าน Smart Farming และ Smart Marketing น่าจะได้

แถมสินค้าคุณภาพคัดเกรด ปั๊ม OR ปตท.เขายินดีสนับสนุนอยู่แล้ว

ปั๊ม OR ปตท.ทุกวันนี้ เป็น “เส้นเลือด” หรือ “ชีพจร” สังคมประเทศไปแล้ว นักท่องเที่ยวต่างชาติมา ก็ทึ่งและติดใจคอนเซปต์ “ฉิ้งฉ่องเงินล้าน”

ไปต่างประเทศ ถ้านั่งรถหลายๆ ชั่วโมง พ่อคุณเอ๊ย…กว่าจะถึงจุดแวะพักแต่ละแห่ง กระปริบแล้วกระปริบอีก!
พฤติกรรมคนไทย “ฉี่” คู่กับ “ชิม”

ปั๊ม OR ยังขาดตรงนี้ นอกจาก “คาเฟ่ อเมซอน” แล้ว ร้านอาหารคุณภาพ รสชาติใช้ได้ มีเป็นบางแห่งเท่านั้น

ตอนนี้ ปตท.แตกไลน์ธุรกิจจากพลังงาน ไปหลายแขนง ที่เด่น จะทำเงินเป็นกอบเป็นกำได้ทั่วโลก ก็ประเภท Life Science

คือด้านอาหารและยาเพื่อชีวิตที่ยั่งยืนด้วยชีววิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอาหารเสริม เครื่องสำอาง เป็นต้น

รวมทั้งอุตสาหกรรมอาหาร “โปรตีนจากพืช” ที่ตั้งโรงงาน “แพลนท์ แอนด์ บีน (ประเทศไทย) ผลิตแล้วขณะนี้

ตอนนี้ กินสเต๊ก กินไส้กรอก ที่ผลิตจากพืช แต่มีรสชาติและโปรตีนเหมือนเนื้อวัวได้แล้ว

แถมเป็น “มาตรฐานฮาลาล” ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ และพี่น้องชาวอิสลามได้อย่างดี

ปั๊ม OR ปตท.แค่เปิดร้านอาหาร “โปรตีนจากพืช” ก็แทบไม่ต้องส่งไปขายที่ไหนแล้ว

ผมถึงมองว่า ปั๊ม OR ยังมีศักยภาพรองรับธุรกิจทั้งของปตท.ทั้งการบริการจากภาครัฐ ด้านอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในบางแขนง

และทั้งแหล่งเรียนรู้ด้าน “นวัตกรรม” ที่ปตท.เป็นตัวนำอยู่ที่วังจันทร์ วัลเลย์

จะเปรียบ ปตท.เหมือนลำตัว….
ปั๊ม OR เป็นแขน เป็นขา เป็นนิ้วมือ นิ้วเท้า ให้ปตท.ไม่ต่างหนวดปลาหมึก

ฉะนั้น รักษา “สมบัติชาติ” ชิ้นนี้เอาไว้ดีๆ

ท่าน “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รมว.พลังงานและปลัดพลังงาน “นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ”

อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย โดยปล่อยให้ใครเอาหุ้น ปั๊ม OR จำนวน ๗๕% ที่ปตท.ถืออยู่ ไป “เล่นแร่-แปรธาตุ”
ให้ไอ้เสือหรือกลุ่มทุนไหนลากไปเขมือบซะล่ะ!

เปลว สีเงิน
๔ ธันวาคม ๒๕๖๖

Written By
More from plew
ฝันที่ (อาจ) เป็นจริงของไทย
“เสน่ห์” ที่ชวนค้นหา……… และเป็น “ยาต่อชีวิต” มนุษย์ได้ดีที่สุด คืออะไร ท่านทราบมั้ย? ไม่ต้องเดา จะบอกให้ “ความหวัง” ไงล่ะ!
Read More
0 replies on ““เกษตรพอเพียง” กับปตท. -เปลว สีเงิน”