เส้นเลือดขอด ภัยเงียบอันตรายกว่าที่คิด

โรคเส้นเลือดขอด เป็นโรคใกล้ตัวแต่หลายคนอาจละเลยเพราะคิดว่าไม่ใช่โรคร้ายแรง หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น แผลที่ขา โรคผิวหนังอักเสบบริเวณขา โรคหลอดเลือดดำโป่งพองแตก ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ จนอาจนำไปสู่การเสียชีวิต

นายแพทย์พฤฒิพงศ์ กาวิรส ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านหลอดเลือด โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า เส้นเลือดขอด (Varicose Veins)คือหลอดเลือดดำบริเวณใกล้ชั้นผิวหนัง ที่ขยายตัวเป็นเส้นเลือดคดเคี้ยวและนูนออกมาคล้ายลักษณะตัวหนอน เนื่องจากมีเลือดมาสะสมมากจนเห็นเป็นเส้นเลือดสีเขียวหรือม่วงเข้ม สามารถเกิดขึ้นได้กับหลายส่วนของร่างกาย เช่น บริเวณหลอดอาหาร มดลูก ช่องคลอด เชิงกราน และช่องทวารหนัก แต่โดยส่วนใหญ่มักเป็นที่ขาหรือเท้า

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเส้นเลือดขอด คือ เพศ กรรมพันธุ อาชีพ กิจวัตรประจำวัน หญิงตั้งครรภ์และโครงสร้างหลอดเลือด ซึ่งอาการที่พบได้ทั่วไปคือ อาการเจ็บหรือรู้สึกหนักขา, เป็นตะคริวช่วงกลางคืน, บวม ตึง แสบร้อน, รู้สึกเจ็บมากขึ้นเมื่อนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน, คันรอบ ๆ เส้นเลือดเส้นใดเส้นหนึ่งหรือหลายเส้น, อาจมีเลือดออกจากเส้นเลือดที่บิดนูน, อาการปวดในเส้นเลือดบริเวณที่ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดง, เส้นเลือดแข็งหรือเปลี่ยนสี มีอาการอักเสบของผิวหนัง หรือบางรายอาจเกิดอาการอักเสบรุนแรงจนเกิดแผลได้

เส้นเลือดขอดที่ขามี 2 ประเภท คือ

เส้นเลือดฝอยขดคล้ายเส้นใยแมงมุม (Spider Veins) เป็นเส้นเลือดขอดที่ขาในระยะเริ่มต้น เกิดจากหลอดเลือดฝอยขดมองเห็นคล้ายใยแมงมุมสีม่วงหรือแดง ทั้งนี้ยังสามารถพบได้ที่ใบหน้า และมีขนาดที่แตกต่างกัน
เส้นเลือดขอดลักษณะคล้ายเส้นเลือดโป่ง (Varicose Veins) เนื่องจากผนังเส้นเลือดเสียความยืดหยุ่น ส่งผลให้เส้นเลือดปูดขึ้นและขดเป็นหยัก มองเห็นเป็นสีเขียวหรือสีเขียวผสมม่วง ขนาดประมาณ 1-3 มิลลิเมตร
นอกจากเรื่องความสวยงามแล้วหากปล่อยทิ้งไว้ไม่มีการป้องกันอาจทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อ โดยสามารถแบ่งระดับความรุนแรงของอาการได้ 6 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 เส้นเลือดมีลักษณะคล้ายใยแมงมุม มักมีขนาดน้อยกว่า 3 มิลลิเมตร

ระยะที่ 2 เส้นเลือดเริ่มปูดเป็นตัวหนอน ขนาดใหญ่มากกว่า 3 มิลลิเมตร และมีอาการปวดเมื่อใช้งานเป็นระยะเวลานาน เช่น นั่ง เดิน หรือ ยืน

ระยะที่ 3 เริ่มมีอาการขาบวม และปวดมากขึ้นถึงแม้จะใช้งานในระยะเวลาสั้น ๆ

ระยะที่ 4 สีผิวที่ขาเริ่มเปลี่ยนเป็นสีดำเข้มขึ้น ซึ่งเป็นภาวะอักเสบของผิวหนัง

ระยะที่ 5 แผลหายจากการรักษา แต่ยังมีลักษณะอื่น ๆ ร่วม เช่น ผิวหนังที่เปลี่ยนสีเป็นสีดำ

ระยะที่ 6 เกิดแผลที่เป็นลักษณะเฉพาะของแผลบริเวณหลอดเลือดดำ เช่น ขอบแผลแดง

การรักษาเส้นเลือดขอดขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยแพทย์เฉพาะทางจะพิจารณาตามความเหมาะสม โดยแบ่งตามการรักษาได้ดังนี้

การรักษาด้วยยาลดการอักเสบของหลอดเลือดดำ หรือ การใส่ถุงน่องเส้นเลือดขอดเพื่อให้เลือดภายในหลอดเลือดดำไหลกลับคืนสู่หัวใจได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ทั้ง2วิธีนี้จะช่วยบรรเทาอาการเท่านั้น ไม่สามารถรักษาให้หายได้
การฉีดสารเคมี หรือฉีดโฟม เข้าสู่เส้นเลือดดำ (Sclerotherapy) เพื่อให้เส้นเลือดฝ่อและตีบ เหมาะสำหรับการรักษาเส้นเลือดขอดขนาดเล็กๆ 2-3 มิลลิเมตร หรือ เส้นเลือดขอด ที่ยังคงเป็นอยู่หลังจากผ่าตัด

การใช้เลเซอร์ความร้อนหรือคลื่นวิทยุความถี่สูง (Radio Frequency) โดยใช้หลักการรักษาด้วยการใส่สายขนาดเล็กใส่เข้าไปในหลอดเลือดดำแล้วอาศัยพลังงานจากเลเซอร์หรือคลื่นวิทยุความถี่สูงที่ทำให้เส้นเลือดขอดฝ่อไป โดยจะต้องมีการประเมินความพร้อมของร่างกาย งดน้ำและอาหาร 6 – 8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดเล็กประมาณ 30-45นาที แผลมีขนาดเล็กประมาณ 2 มิลลิเมตร หลังจากนั้นแพทย์จะมีการนัดติดตามอาการภายใน1-2สัปดาห์

การใช้กาวประสานเส้นเลือด (VenaSealTM closure ststem; an n-butyl-2-cyanoacrylate(n-BCA) based formula) โดยใช้หลักการรักษาด้วยการใส่สายขนาดเล็กใส่เข้าไปในหลอดเลือดดำแล้วหยอดของเหลวใสที่มีคุณสมบัติเหมือนกาวเข้าไปประสานหลอดเลือดดำทำให้ตีบตันและฝ่อไปเอง โดยเป็นการรักษาที่ทันสมัยที่สุดและสามารถทำการผ่าตัดโดยไม่ต้องดมยาสลบหรือไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหาร 6 – 8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดเล็กประมาณ 30-45นาที แผลมีขนาดเล็กประมาณ 2 มิลลิเมตร(รูเข็ม) หลังจากนั้นแพทย์จะมีการนัดติดตามอาการภายใน1-2สัปดาห์

การผ่าตัด ในผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดขอดขนาดใหญ่ ต้องประเมินความพร้อมของร่างกายก่อนนัดมาผ่าตัด งดน้ำและอาหาร 6 – 8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด ใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง หลังผ่าตัดจะพันขาด้วย Elastic Bandage จากนั้นแนะนำให้ใส่ถุงน่องชนิดพิเศษต่อ และแพทย์จะนัดติดตามอาการ 1 – 2 สัปดาห์

สำหรับการป้องกันเส้นเลือดขอด ควรหลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งเป็นเวลานาน ให้เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้า กางเกง ถุงเท้า หรือถุงน่องที่รัดมากๆ เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวกไม่ใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน, ออกกำลังกายเป็นประจำ ทำให้กล้ามเนื้อขาแข็งแรง การไหลเวียนของเลือดดีขึ้นและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

Written By
More from pp
ทรูไอดี เปิดโรงภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ถึงบ้านก่อนใคร นำโดย Bird of prey,  1917 และ Bloodshot  
เปิดโรงภาพยนตร์ในบ้านกับกล่องทรูไอดี ทีวี ที่นำภาพยนตร์ใหม่เพิ่งออกจากโรงหมาดๆ มาให้ชมก่อนใคร โปรแกรมเด็ดเดือนนี้นำโดย สาวแสบ ฮาร์ลีย์ ควินน์ จาก Bird of prey 
Read More
0 replies on “เส้นเลือดขอด ภัยเงียบอันตรายกว่าที่คิด”