ให้กำลังใจคนรุ่นใหม่-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

เนี่ย……

เวลาขึ้นเวทีปราศรัย ใครๆ เขาก็เตือนแล้วว่า อย่าพูดเอามันจนมากเกินไป อย่าไปตามเสียงยุ จนเลยเถิด

เพราะเมื่อไหร่ที่ลงจากเวที ชีวิตเปลี่ยน

สถานการณ์อาจพลิกจากฝ่ามือเป็นหลังเท้าได้

สำหรับบรรดาแกนนำสามนิ้วคงจะรู้ซึ่งแล้วว่า คำเตือนก่อนหน้านี้ต้องรับฟัง

ถ้าฟังตั้งแต่วันโน้น ก็คงไม่อยู่ในสถานะผู้ต้องหา จำเลย และบางคนไม่ต้องเข้าไปนอนในคุกอย่างเช่นวันนี้

การเป็นนักต่อสู้ต้องประเมินสถานการณ์ให้ออก ไม่ใช่เดินหน้าไปตามแรงเชียร์โดยไม่สนใจผลลัพธ์ที่จะตามมา

ครับ… วานซืน (๙ กุมภาพันธ์) ศาลอาญาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน และ ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ จำเลยในคดี ๑๑๒ ในช่วงบ่าย

ไผ่ ดาวดิน ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากยังมีหมายขังคดีการชุมนุมที่ศาลจังหวัดภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และศาลอาญากรุงเทพใต้

ส่วนไมค์ มีหมายขังอยู่ที่ศาลจังหวัดภูเขียว

เพราะทำผิดในหลายคดี ผลจึงออกมาเป็นเช่นนี้

แต่ไฮไลต์ของเรื่องอยู่ที่คำร้องขอประกันตัว

ไผ่ ดาวดิน ยื่นคำร้องว่า เนื่องจากบิดา-มารดาของนายจตุภัทร์ ประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บ มารดาขาหัก จึงขอปล่อยชั่วคราวเพื่อไปดูบุพการี

ส่วน ไมค์ ยื่นว่า มารดาไม่สามารถแบกภาระในการดูแลธุรกิจขายทุเรียนทอดที่เลี้ยงครอบครัวได้ไหว จึงขอประกันไปช่วยดูแลแบ่งเบาภาระมารดา

จำได้มั้ยครับว่าตอนอยู่บนเวทีปราศรัย คนเยอะๆ ทั้งสองคนพูดอะไรไว้

ต่อให้ต้องตายไปก็ไม่กลัว เพราะประเทศไทยต้องมีประชาธิปไตย ต้องยกเลิกระบบอุปถัมภ์ คนต้องเท่ากัน ต้องมีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

ตอนมีมวลชนส่งเสียงเฮ มันคึกครับ ขนาดอยู่ในคุกก็ไม่กลัวอะไรทั้งนั้น

วันที่ ๒๗ ธันวาคมปีที่แล้ว บรรดาจำเลยคดี ๑๑๒ มี ภาณุพงศ์ จาดนอก, อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ใจดีสู้เสือ ออกถ้อยแถลงร่วมกัน แล้วแจ้งไปยังทนายความ และทนายความนำมาพูดต่ออีกทอด

มีข้อความดังนี้ครับ….

๑.ภายหลังจากที่ผู้บริหารของศาลอาญาได้มีมติไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว (ประกันตัว) พวกเขาในระหว่างการพิจารณาคดีตามคำร้องขอของทนายความเมื่อวันที่ ๒๔ ธ.ค. พวกเขาเห็นว่าเหตุผลของศาลอาญาไม่ชอบด้วยหลักกฎหมาย หลักยุติธรรม และไม่เป็นไปตามกติการะหว่างประเทศที่ไทยได้ให้สัตยาบันรับรองไว้

พวกเขาทั้ง ๔ เชื่อว่าการไม่อนุญาตให้เขาได้รับการประกันตัวไปสู้คดีอย่างเต็มที่นั้น เป็นการปิดโอกาสที่เขาจะสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเขา และเป็นการพิพากษาเสียล่วงหน้าแล้วว่าพวกเขาเป็นผู้กระทำความผิด ด้วยเหตุผลข้างต้น พวกเขาทั้ง ๔ จึงขอประกาศว่า นับจากนี้พวกเขาจะไม่ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว (ประกันตัว) ในระหว่างพิจารณาคดีต่อศาลอาญาอีก และไม่อนุญาตให้ทนายความและบุคคลใดไปดำเนินการดังกล่าวทั้งสิ้น

๒.การตัดสินใจของพวกเขาทั้ง ๔ ไม่ผูกพันบรรดาผู้ต้องขังและนักโทษการเมืองที่ยังถูกจับกุมคุมขัง และไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวคนอื่นแต่อย่างใด

๓.พวกเขาทั้ง ๔ ยังยืนยันที่จะต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง และยังยืนยันที่จะเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศนี้ตามแนวทางที่ได้ร่วมต่อสู้มาโดยตลอด โดยไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าจะถูกคุมขังอยู่หรือไม่ก็ตาม

๔.พวกเขาทั้ง ๔ ขอร่วมกันเรียกร้องให้มวลหมู่มิตรสหายที่ได้ร่วมต่อสู้ด้วยกันตลอดมาจงยืนหยัดในข้อเรียกร้องทั้งสามประการ และต่อสู้ต่อไปตามแนวทางประชาธิปไตยโดยสงบ สันติวิธี ทั้งนี้พวกเขาทั้งสี่ขอยืนยันว่าพวกเขาทั้งสี่ขอเป็นกำลังใจ และจะยืนหยัดต่อสู้กับพี่น้องข้างนอกด้วยกันตลอดไป

แค่เดือนเศษ ไผ่ ดาวดิน กับ ไมค์ ระยอง เปลี่ยนใจยื่นคำร้องขอประกันตัวตามเหตุผลข้างต้น

ก่อนนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว “รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” ได้ประกันตัว ศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมหรือก่อเหตุที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามจำเลยเข้าร่วมชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายที่ในบ้านเมือง ห้ามจำเลยออกนอกเคหสถานตลอดเวลา เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเพื่อการรักษาพยาบาล ไปเรียนและสอบ ไปติดต่อราชการที่ศาลอื่น

ต่อมากลางเดือนมกราคม ศาลให้ รุ้ง ถอดกำไล EM ได้ เพราะยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขศาล

“รุ้ง” ทำตัวดีมาตลอด ก็มีเฉี่ยวให้ผิดเงื่อนไขศาลบ้างเป็นบางที

แต่ช่วงพีกสุดของ “รุ้ง” ปราศรัยชนิดลืมตาย เรื่องเรียนเป็นเรื่องเล็ก เรียนไปก็ไม่มีความหมายถ้าประเทศไทยปกครองโดยเผด็จการ

วันนี้ “รุ้ง” ได้ไปเรียนไปสอบเหมือนเพื่อนๆ แล้ว

ถ้าถอยไปก่อนนั้นคือ เดือนเมษายน ๒๕๖๔ ศาลอาญาปล่อยชั่วคราว ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ หมอลำแบงค์ จำเลยคดี ม.๑๑๒, ๑๑๖

วันนั้นหมอลำแบงค์ยื่นคำร้องขอประกัน ในรูปแบบที่ต่างจากแกนนำสามนิ้วคนอื่น

คำสั่งที่ศาลอ่านในวันนั้นคือ

“…น่าเชื่อว่าจำเลยที่ ๓ (หมอลำแบงค์) จะไม่ไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นได้อีก จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ตีราคาประกัน ๒ แสนบาท

โดยมีเงื่อนไขห้ามมิให้จำเลยที่ ๓ กระทำการในลักษณะเช่นเดียวกับที่จำเลยที่ ๓ ถูกกล่าวหาตามฟ้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ซ้ำอีก หรือไปร่วมกิจกรรมที่อาจทำให้เสื่อมเสียแก่สถาบันฯ…”

วันนั้นหมอลำแบงค์ถูกค่อนแคะว่าทิ้งเพื่อน

ครับ…นั่นคือวิวัฒนาการของแกนนำสามนิ้ว จากดุเดือดเลือดพล่าน มาวันนี้เริ่มทยอยเข้าใจว่าต้องจัดการกับอนาคตของตัวเองอย่างไร

แน่นอนครับโลกวันข้างหน้าต้องเป็นของคนรุ่นใหม่ เป็นโลกที่พวกเขาต้องรับผิดชอบ แต่การเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดนั้น การหักด้ามพร้าด้วยเข่า ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง

การเปลี่ยนแปลงในทุกด้านต้องมีอย่างแน่นอน แต่ต้องมีรอยต่อ ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงชั่วข้ามคืน เพราะถ้าทำแบบนั้นจะเกิดความขัดแย้งไม่จบไม่สิ้น

วันข้างหน้าแกนนำสามนิ้วจะลุกขึ้นมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศในทุกด้าน ก็ต้องปรับท่าทีใหม่ ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาแตกหักทุกกรณีเหมือนที่เคยทำ และส่งผลให้ไปนอนในคุกกันถ้วนหน้า

โลกนี้ไม่มีอะไรจีรัง

การเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นเสมอ

แต่จะเปลี่ยนอย่างไรให้เป็นมติของสังคม บนเหตุผลและข้อเท็จจริง ไม่ใช่เชื่อในชุดข้อมูลเท็จ จนกลายเป็นการโค่นรากเหง้าของตัวเอง

ทำลายทุกสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างมา เพียงเพราะความเชื่อผิดๆ ว่า ทุกสิ่งที่มาจาก “ตะวันตก” นั้นดีกว่า

คนรุ่นใหม่เป็นเจ้าของอนาคต เป็นผู้ที่จะใช้ชีวิตในอนาคต

ฉะนั้นอย่าทำลายอนาคตที่ตัวเองจะไปอยู่อาศัย



Written By
More from pp
‘จับกัง1’ มอบ ผู้ช่วยฯ ลงพื้นที่ขับเคลื่อน ‘ชลบุรีโมเดล’ คัดกรองโควิด-19 เชิงรุกในสถานประกอบการ เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ขับเคลื่อน ‘ชลบุรีโมเดล’ติดตามการตรวจคัดกรองโควิด -19 เชิงรุกในสถานประกอบการ เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน ผู้ประกอบการภาคเอกชน นักท่องเที่ยวและประชาชน
Read More
0 replies on “ให้กำลังใจคนรุ่นใหม่-ผักกาดหอม”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save
'); }); var ratingTotalIndicator = function() { var indicator = document.querySelectorAll('.rating-total-indicator'); if (typeof indicator === 'undefined' || indicator === null) { return; } for ( var i = 0, len = indicator.length; i < len; i++ ) { var circle = indicator[i].querySelector('.progress-ring__circle'); var radius = circle.r.baseVal.value; var circumference = radius * 2 * Math.PI; circle.style.strokeDasharray = `${circumference} ${circumference}`; circle.style.strokeDashoffset = `${circumference}`; function setProgress(percent) { const offset = circumference - percent / 100 * circumference; circle.style.strokeDashoffset = offset; } var dataCircle = indicator[i].getAttribute('data-circle'); setProgress(dataCircle); } }; ratingTotalIndicator(); var slideDock = function() { var slide_dock = document.querySelector('.slide-dock'); if (typeof slide_dock === 'undefined' || slide_dock === null) { return; } function isVisible (elem) { var { top, bottom } = elem.getBoundingClientRect(); var vHeight = (window.innerHeight || document.documentElement.clientHeight); return ( (top > 0 || bottom > 0) && top < vHeight ); } viewport = document.querySelector('#footer'); window.addEventListener('scroll', function() { if ( isVisible(viewport) ) { slide_dock.classList.add('slide-dock-on'); } else { slide_dock.classList.remove('slide-dock-on'); } }, false); var close = document.querySelector('.close-dock'); close.addEventListener('click', function(e) { e.preventDefault(); slide_dock.classList.add('slide-dock-off'); }); }; slideDock();