ความเหมือนที่แตกต่างของ “แม่พลอย สี่แผ่นดิน” และ “ล้ง 1919”   

หลายคนคุ้นหูกับวรรณกรรมเรื่อง “สี่แผ่นดิน” บทประพันธ์ชิ้นเอกของ  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งท่านได้เรียงร้อยเรื่องราวลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสยามประเทศ ผ่านตัวละครหลักอย่าง แม่พลอย และตัวละครอื่นๆ ซึ่งแต่ละตัวละคร เสมือนตัวแทนของคนในยุคสมัยนั้น จึงทำให้ “สี่แผ่นดิน” ถูกยกให้เป็นวรรณกรรมแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และถูกตีพิมพ์ สร้างเป็นละครโทรทัศน์ ละครเวที หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งก็ได้รับคำนิยมชมชอบมากมาย

และล่าสุด “สี่แผ่นดิน” ได้กลับมาอีกครั้งในรูปแบบละครเวที แต่ที่ดูแปลกและน่าตื่นเต้นกว่าทุกครั้ง คือ การกลับมาครั้งนี้ในรูปแบบ ละครเวทีกลางแจ้ง ที่มีฉากหลังเป็น แม่น้ำเจ้าพระยา ภายใต้ชื่อ  “สี่แผ่นดิน THE LEGEND MUSICAL @ LHONG 1919” จัดแสดงที่ โครงการ “ล้ง 1919” เพื่อฉลองครบรอบ 100 ปี “ล้ง 1919” ในวันที่ 29 พฤศจิกายน -15 ธันวาคม 2562 เพียง 10 รอบเท่านั้น

การกลับมาครั้งนี้หากใครเป็นแฟน “สี่แผ่นดิน” คงตื่นเต้นไม่น้อย เพราะอีกหนึ่งสิ่งสำคัญของเรื่องนอกจาก “แม่พลอย” ตัวละครหลักแล้ว “สายน้ำ – แม่น้ำ” เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญของเรื่อง เพราะ “ชีวิตของแม่พลอย เปรียบเสมือนสายน้ำ ที่ผันผวนปรวนแปรไปอย่างรวดเร็ว…สายน้ำที่มีขึ้น มีลง มีแห้งขอด บางครั้งไหลเชี่ยว หรือบางทีก็นิ่งสนิท สะท้อนชีวิตแม่พลอยที่ผ่านร้อน ผ่านหนาว มีสุข และมีทุกข์ อันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต”  ในขณะที่ “ล้ง 1919หรือ “ท่าเรือฮวย จุ่ง ล้ง” ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่มีเส้นชีวิตไม่ต่างจากแม่พลอยมากนัก คือ มีช่วงเวลาที่รุ่งเรือง และถูกลบเรือนไปตามกาลเวลา

ก่อนที่จะได้ชมความอลังการของ สี่แผ่นดิน เวอร์ชั่นล่าสุด เรามาทำความรู้จัก เรียนรู้ชีวิตแม่พลอย และ ล้ง 1919 กัน

จุดเริ่มต้นของสายน้ำที่หลั่งไหล

แม่พลอย : บ้านเกิดแม่พลอยตั้งอยู่ที่ “คลองบางหลวง” แม่พลอย เป็นลูกของ “พระยาพิพิธ” และ “แม่แช่ม” (ภรรยารอง) มีพี่ชาย 1 คน คือ “พ่อเพิ่ม” อายุ 10 ขวบ ต้องจากบ้านมาอยู่ในวังเพียงคนเดียว  โดย “แม่แช่ม”ได้ถวายตัว “พลอย”ให้เป็นข้าหลวงของเสด็จ พลอยมีเพื่อนสนิท 1 คน ชื่อว่า “ช้อย” ทั้งพลอยและช้อยอยู่ในวังภายใต้การดูแลของ “คุณสาย”

ล้ง 1919 : “ฮวย จุ่ง ล้ง” หรือ “ท่าเรือกลไฟ” เกิดขึ้นใน สมัยรัชกาลที่ 4 โดย พระยาพิศาล ศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) เป็นผู้สร้าง ฮวย จุ่ง ล้ง เป็นท่าเรือโดยสารบรรทุกสินค้าของชาวจีน ท่าเรือแห่งนี้เสมือนประตูด่านแรกที่ชาวจีนทุกคนต้องมาขึ้นฝั่งเหยียบแผ่นดินสยาม เพื่อค้าขาย หรือ เข้ามาตั้งรกรากในประเทศ

ความสุขเอ่อล้น เหมือนน้ำล้นฝั่ง

แม่พลอย : ถึงคราวออกเรือน “แม่พลอย” ตัดสินใจแต่งงานกับ “คุณเปรม”  และย้ายออกจากวังมาอยู่ที่บ้าน “คลองพ่อยม” คุณเปรมมีลูกติดอยู่ 1 คน ชื่อ “อ้น” ต่อมาทั้งสองมีลูกด้วยกันอีก 3 คน ชื่อว่า “อั้น” “อ๊อด” และ “ประไพ” ทุกคนในครอบครัวรักใคร่กลมเกลียวกัน คุณเปรมก็เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้เลื่อนขั้น

ล้ง 1919 : ยุคทองการค้าเสรี เป็นยุคเฟื่องฟูของ “ท่าเรือฮวย จุ่ง ล้ง” เสมือนศูนย์กลางค้าขายทำธุรกิจที่คึกคักที่สุดระหว่างชาวสยามและชาวจีน ตัวอาคารท่าเรือขนาด 6,800 ตารางเมตร ถูกใช้เป็นร้านค้า โชว์รูม และโกดังสำหรับเก็บสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีน, สิงคโปร์ และฮ่องกง เรียกว่าเป็นแหล่งการค้าสำคัญที่สุดในขณะนั้น

ชีวิตผกผันดั่งน้ำในคลองที่แห้งขอด

แม่พลอย : ต้องเผชิญกับความทุกข์ การพลัดพราก ความสูญเสียจากคนในครอบครัว “อ้น” ติดคุก “คุณเปรม” เสียชีวิตจากการตกม้า “อ๊อด” ลูกชายคนเล็กเสียชีวิตจากไข้มาลาเรีย บ้านโดนระเบิดจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือว่าเป็นจุดต่ำสุดของชีวิตแม่พลอย

ล้ง 1919 : เมื่อท่าเรือแห่งประเทศไทย (ท่าเรือคลองเตย) เข้ามามีบทบาทด้านการค้ากับชาวต่างชาติมากขึ้น ส่งผลให้ “ท่าเรือฮวย จุ่ง ล้ง” ค่อยๆ ลดบทบาทลง หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 “นายตัน ลิบ บ๊วย” ทายาทตระกูลหวั่งหลี ได้เข้ามารับช่วงเป็นเจ้าของต่อจากตระกูลพิศาลบุตร ปรับปรุงท่าเรือแห่งนี้ให้กลายเป็นอาคารสำนักงาน และยังเป็นโกดังเก็บสินค้าการเกษตรของตระกูลหวั่งหลี คนรุ่นหลังจึงเรียกสถานที่ท่าเรือแห่งนี้ว่า “โกดังบ้านหวั่งหลี” ถือเป็นจุดสิ้นสุดของท่าเรือ ฮวย จุ่ง ล้ง

บทสรุปของสายน้ำที่สงบนิ่ง กับ การเริ่มต้นของสายน้ำที่ไหลเชี่ยว

แม่พลอย : การเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลาชีวิตของแม่พลอยที่พบเจอทั้งความสุขและทุกข์จากการสูญเสียนั้น
ไม่ต่างอะไรจากการไหลของสายน้ำหลายสายที่แตกต่างกัน หลังจากที่บ้านโดนระเบิด  แม่พลอยจึงเลือกที่จะกลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่สงบอยู่ที่บ้านเกิดคลองบางหลวง อันเป็นสถานที่เปรียบเหมือนจุดเริ่มต้นของแม่พลอยนั่นเอง

ล้ง 1919 : หลังจากที่ “ท่าเรือฮวย จุ่ง ล้ง” ถูกลดบทบาทลงกลายมาเป็น “โกดังบ้านหวั่งหลี” โกดังเก็บสินค้า
บั้นปลายชีวิตของ “ล้ง 1919” บัดนี้เหมือนการเริ่มต้นครั้งใหม่ของกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว กลายมาเป็น “ล้ง 1919” การกลับมาในรูปแบบไทม์แมชชีน สะท้อนประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าชีวิตของคนไทยเชื้อสายจีน ที่มีอายุมาอย่างยาวนานกว่า 100 ปี ผ่านสถาปัตยกรรมและจิตรกรรม ปัจจุบันเป็นแลนด์มาร์ค แหล่งท่องเที่ยวแนว Heritage ที่โดดเด่นด้วยศิลปะและสถาปัตยกรรมแห่งใหม่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านฝั่งธน ที่นักท่องเที่ยวทุกคนจะต้องมาเชคอิน

“สี่แผ่นดิน THE LEGEND MUSICAL @ LHONG 1919” ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จัดเต็ม แสง สี เสียง สุดอลังการ ฉลองครบรอบ 100 ปี “ล้ง 1919” เปิดการแสดงระหว่างวันที่ 29 พ.ย. ถึง วันที่ 15 ธ.ค. 62  เพียง      10 รอบเท่านั้น!!ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ ที่ ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ โทร. 0-2-262-3456,  โครงการ “ล้ง 1919” โทร.09-1387-1919 และฝ่ายขายเมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ (ในวันจันทร์-วันศุกร์)  โทร.0-2642-2400-5 บัตรราคา 7,000 / 4,000 / 3,000 / 2,500 / 2,000 และ 1,500 บาท ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Facebook: LHONG 1919,  Line Official: @Lhong1919ticket

   

Written By
More from pp
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ใช้โซเซียลมีเดีย แจ้งข่าวมีความเสี่ยงติดโควิด
เนื่องจากเมื่อเย็นวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา (เมื่อวานนี้) ผมได้รับแจ้งจากครอบครัวของเพื่อนลูกสาว (น้องพิพิม) ว่าครอบครัวเขาเพิ่งตรวจพบเชื้อโควิด ซึ่งเมื่อวันที่ 4 – 6 เมษายนที่ผ่านมา
Read More
0 replies on “ความเหมือนที่แตกต่างของ “แม่พลอย สี่แผ่นดิน” และ “ล้ง 1919”   ”