จบปัญหาหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยการสวนและจี้ด้วยคลื่นวิทยุไฟฟ้าหัวใจ  

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเร็ว สามารถรักษาให้หายขาดได้ ไม่ต้องกินยาตลอดชีวิต ด้วยเทคโนโลยีสวนและจี้ไฟฟ้าหัวใจ

นายแพทย์ปริวัตร เพ็งแก้ว อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Arrhythmias) คือภาวะที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติ อาจเต้นเร็วหรือช้าเกินไป

ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้น้อยลง เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว เกิดลิ่มเลือดไปอุดตันสมองหรืออาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยภาวะโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

1. ภาวะโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเร็ว เช่น ภาวะ SVT (Supraventricular Tachycardia) ,Wolf Parkinson White syndrome (WPW) ,Atrial Tachycardia ,Atrial Flutter และ Atrial Fibrillation ซึ่งเกิดจากการมีเส้นทางลัดหรือจุดผิดปกติในทางเดินไฟฟ้าหัวใจห้องบน ส่วนภาวะ VT (Ventricular Tachycardia) ,PVC (Premature Ventricular Contraction) เกิดจากมีเส้นทางเดินหรือจุดผิดปกติในหัวใจห้องล่าง



2. ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดช้า เช่น กลุ่ม Heart Block (AV Block) คือหัวใจห้องบนกับห้องล่างเต้นไม่สัมพันธ์กัน หรือกลุ่ม Sick Sinus syndrome ที่หัวใจห้องบนไม่เต้นหรือเต้นช้ามากผิดปกติ

“ใจสั่น หัวใจเต้นแรง หายใจเหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอก หน้ามืด ตาลาย เป็นลมหมดสติ เป็นอาการเบื้องต้นของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ แต่ผู้ป่วยหลายรายไม่รีบมาพบแพทย์แล้วปล่อยทิ้งไว้จนรบกวนการใช้ชีวิตและการทำงาน หรือปล่อยทิ้งไว้จนมีอาการมากขึ้น เช่น เหนื่อยง่ายจนหัวใจล้มเหลว หมดสติ ลิ่มเลือดไปอุดตันสมองกลายเป็นอัมพาต ไปจนถึงเสียชีวิต” นายแพทย์ปริวัตรกล่าว

สำหรับการวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram : EKG) ตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดพกพา 24 ชั่วโมง (24 hour Holter Monitoring) หรืออาจต้องใช้วิธีการตรวจสรีระไฟฟ้าหัวใจด้วยการสวนหัวใจ (Electrophysiologic study) ซึ่งการจะตรวจด้วยวิธีไหนขึ้นอยู่กับชนิดและความถี่ของอาการที่ผู้ป่วยเป็น


ส่วนการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเร็ว แพทย์อาจพิจารณาให้ยาควบคุมอาการ ซึ่งต้องรับประทานไปตลอดชีวิต แต่ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีรักษาด้วยการสวนและจี้ไฟฟ้าหัวใจ (EP study with Radiofrequency ablation) โดยการจี้ด้วยคลื่นวิทยุไฟฟ้าหัวใจตรงจุดที่มีปัญหา ซึ่งมีโอกาสหายขาดได้ถึงร้อยละ 95 – 98 โดยไม่ต้องรับประทานยาไปตลอดชีวิต

ส่วนผู้ป่วยที่หัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะชนิด VT และ Fibrillation บางกลุ่ม ในรายที่จี้ไฟฟ้าไม่ได้จะให้การรักษาโดยการฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ (AICD) สำหรับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดช้าจะให้การรักษาด้วยการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker) นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมสภาพและหัวใจล้มเหลว ก็สามารถรักษาได้โดยการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิด 3 ห้อง (CRT) ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะควรเข้ามาพบแพทย์ เพื่อประเมินอาการและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป 

อย่างไรก็ตาม แม้ในปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีในการักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ แต่การป้องกันไม่ให้เกิดโรคเป็นวิธีที่ดีที่สุด ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ไม่ทำร้ายสุขภาพ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้



Written By
More from pp
กรมควบคุมโรค แนะประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” ป้องกัน 2 โรคติดต่อทางอาหารและน้ำในช่วงเทศกาลปีใหม่
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” โดยรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วง และโรคอาหารเป็นพิษในช่วงเทศกาลปีใหม่
Read More
0 replies on “จบปัญหาหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยการสวนและจี้ด้วยคลื่นวิทยุไฟฟ้าหัวใจ  ”